กรณี ป.6 อนาจารป.5 "แพทย์" ชี้ต้องดูแลใกล้ชิด พร้อมแนะวิธีสังเกตสัญญาณบ่งชี้

กรณี ป.6 อนาจารป.5 "แพทย์" ชี้ต้องดูแลใกล้ชิด พร้อมแนะวิธีสังเกตสัญญาณบ่งชี้

"พญ.ดุษฎี" ผอ.กองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต ชี้ กรณี ป.6 อนาจาร ป.5 เรียกกลุ่มอาการพฤติกรรมเกเร เกิดจากปัจจัยภายในครอบครัวและสังคมสิ่งแวดล้อม แนะ เฝ้าสังเกต คนไหนมีพฤติกรรม "ดื้อ ต่อต้าน ละเมิดสิทธิ์" เป็นสัญญาณบ่งชี้เด็กมีปัญหา

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.65 พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณี เด็กชายชั้น ป.6 ทำอนาจารเด็กหญิง ป.5 ว่า พฤติกรรมที่เกิดขึ้น เรียกว่า กลุ่มอาการพฤติกรรมเกเร มีพฤติกรรมที่ทำผิดกฎกติกาของสังคม ซึ่งเกิดจากปัจจัยตัวเด็ก ครอบครัว หรือสังคมแวดล้อม กรณีตัวเด็ก ในทางการแพทย์ มีโรคบางอย่างที่อาจทำให้เด็กขาดการยับยั้งชั่งใจและตัดสินใจไม่ดี เช่น กลุ่มโรคพฤติกรรมเกเร กลุ่มโรคสมาธิสั้น เป็นต้น

ส่วนปัจจัยครอบครัว พบได้หลากหลายสาเหตุ เช่น กรณีครอบครัวขาดความอบอุ่น มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ใช้ความรุนแรงในเด็ก หรือ พ่อแม่มีความเจ็บป่วยเรื้อรังที่ทำให้ใช้เวลาดูแลเด็กลดน้อยลง หรือมีปัญหาที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดบางอย่าง สิ่งเหล่านี้ จะทำให้เด็กคุ้นชินกับความรุนแรงหรือการละเมิดสิทธิ์ผู้อื่นได้

ในส่วนของสังคม พบว่า บ่อยครั้งเด็กที่เคยเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดหรือความรุนแรง เมื่อเติบโตขึ้นกลายเป็นผู้กระทำผิดเอง หรือการเคยพบเห็นพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมในสิ่งแวดล้อมที่เด็กอาศัยอยู่หรือในสื่อ เด็กก็เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อเด็กยังไม่มีวิจารณญานในการเลือกรับสื่อ

วิธีการป้องกัน

อันดับแรก ที่ตัวเด็ก ผู้ดูแลเด็กควรช่วยกันสังเกตว่า เด็กคนไหนที่มีลักษณะ ดื้อ ต่อต้าน ละเมิดสิทธิ์ ทำผิดกฎ 3 อย่างนี้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าตัวเด็กเองอาจจะมีปัญหาพฤติกรรมเกเร โดยพฤติกรรม "ดื้อต่อต้าน" จะทำให้เด็กต่อต้านผู้ใหญ่ โกรธ โมโหง่าย

ส่วนการละเมิดสิทธิ์ คือ การที่เด็กพูดหรือทำในสิ่งที่ไม่ได้รับอนุญาตจากบุคคลอื่น เช่น การหยิบของคนอื่นโดยไม่ขอ หรือไปแตะตัวจับตัวคนอื่น โดยที่คนอื่นไม่ได้อนุญาต หรือการกลั่นแกล้งคนอื่นมาก่อน

สุดท้าย คือการกระทำผิดกฎ เช่น เคยทำผิดกฎกติกาบางอย่าง ที่สังคมโดยรอบกำหนดเอาไว้มาก่อน เมื่อเจอเด็กที่ดื้อต่อต้านละเมิดสิทธิ์ทำผิดกฎ ก็มีโอกาสสูงที่เด็กจะกลายเป็นกลุ่มที่มีปัญหาพฤติกรรมเกเร เด็กกลุ่มนี้ ควรได้รับการประเมินและดูแลช่วยเหลือตั้งแต่เนิ่นๆ

สำหรับครอบครัว ต้องเร่งสร้างครอบครัวเข้มแข็ง  ซึ่งประกอบด้วย การให้ความรักความอบอุ่นกับเด็กอย่างเพียงพอ คู่ไปกับการสร้างวินัยด้วยเทคนิคเชิงบวก ไม่ใช้ความรุนแรงในการลงโทษเด็ก เช่น ไม่ลงโทษเด็กโดยการตีแรงๆ ซึ่งอาจทำให้เด็กเกิดการต่อต้านหรือภาวะซึมเศร้า และทำให้เด็กเกิดการเลียนแบบการใช้ความรุนแรง แต่ใช้วิธีการเชิงบวก เช่น  ให้รางวัลเมื่อเขาทำดี และลงโทษด้วยการตัดสิทธิ์ หักคะแนน ในเวลาที่เด็กทำไม่เหมาะสมแทน ในส่วนของสังคมต้องช่วยกัน ในเรื่องของสื่อลามกอนาจาร เพื่อไม่ให้เด็กได้เกิดการสัมผัส

นอกจากนี้ภาพรวมเหตุการณ์ล่วงละเมิดเด็กนั้น ส่วนใหญ่เกิดมากกว่าที่พบในรายงาน และเกิดได้ทุกแห่งทั่วประเทศ แต่อาจไม่เป็นข่าว เนื่องจากเด็กอาจไม่กล้าที่จะเข้าแจ้งความหรือร้องเรียน เนื่องจากอาย กลัว ถูกข่มขู่ ไม่กล้าเผชิญหน้า ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ไม่ใช่เกิดแค่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นได้ในทั่วโลก โดยผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าก็คือผู้ใหญ่ แต่กรณีเด็กกับเด็กเองจะไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญคือการดูแลทั้งเหยื่อและผู้กระทำ

พญ.ดุษฎี กล่าวถึงการเยียวยาเหยื่อหลังเกิดเหตุ ว่า  อันดับแรกคือดูแลเด็กให้อยู่ในที่ที่ปลอดภัยทางร่างกาย เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำซ้ำ และเด็กจะต้องปลอดภัยทางจิตใจด้วย ไม่ควรให้เด็กเล่าเหตุการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะจะทำให้สภาพจิตใจเด็กแย่ลง แต่ควรเยียวยาบาดแผลทางใจให้เด็กสามารถก้าวผ่านความเจ็บปวดเสียใจไปได้ สามารถเดินหน้าใช้ชีวิตต่อไปได้ ส่วนของผู้กระทำต้องดูที่ปัจจัยว่าเกิดจากอะไร และใช้การทำครอบครัวบำบัดร่วมด้วย เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้การควบคุมพฤติกรรมตัวเองอย่างเหมาะสม