วิธีป้องกัน-ช่วยเหลือ"เด็กก่อความรุนแรง" ตามคำแนะนำ จิตแพทย์

วิธีป้องกัน-ช่วยเหลือ"เด็กก่อความรุนแรง" ตามคำแนะนำ จิตแพทย์

กระเทาะแก่น "เด็กก่อความรุนแรง" สะท้อนโตมาในครอบครัวใช้ความรุนแรง จิตแพทย์แนะสามารถป้องกันและช่วยเหลือได้ พร้อมวิธีการ

  จากกรณีเด็กวัยรุ่น ร่วมมือกับแฟนหนุ่มฆ่าแม่ตัวเอง เพราะกีดกันความรัก
นพ.ยงยุทธ วงค์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เรื่องนี้ ที่แน่ชัดในกรณีนี้คือ พฤติกรรมที่เด็กแสดงออกมา แสดงว่า โตมาบนพื้นฐานความรุนแรงในครอบครัว จึงใช้ความรุนแรงในการแสดงออก เรื่องนี้ ต้องมีการทบทวนในระดับสังคมทั้งระบบว่า มีใครรู้บ้างว่า เด็กมีพฤติกรรมส่อใช้ความรุนแรง ทั้ง คนข้างบ้าน โรงเรียน ครูมีใคร ทราบถึงเรื่องนี้ หรือไม่

"ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเด็กคนนี้ ไม่ได้หมายความว่า จะต้องมีความรุนแรง หรือ เป็นเรื่องไม่ดีตลอดเวลา เป็นเพียงอารมณ์ขณะหนึ่ง อาจเป็นอามรณ์โกรธที่คุมตัวเองไม่ได้ ส่วนที่ระบุว่า ไม่แคร์ไม่เสียใจต่อการกระทำ เป็นเพียงความคิดชั่วขณะ ของการกระทำเท่านั้น"นพ.ยงยุทธกล่าว

นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า วิธีแก้ไข คือ ต้องเอาสิ่งดีงามเข้าไปในตัวเด็ก ต้องมีชีวิตอยู่ที่เพิ่มพูนสิ่งที่ดี จะเห็นว่า ในสถานพินิจ ฯ เช่น บ้านกาญจนาเป็นแหล่งรวมของเด็กที่มีการใช้ความรุนแรงก่อเหตุ ตั้งแต่ ฆ่าเพื่อนขโมยจักรยาน ,ปาหินจนรถเกิดอุบัติเหตุ เพื่อขโมยทรัพย์สิน แต่เด็กเหล่านี้ก็ได้รับการดูแลแก้ไขปรับปรุง เมื่อออกมาก็มีชีวิตใหม่ในสังคม และได้รับการยอมรับ เพราะว่า ความรุนแรงที่เด็กใช้ไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา และการกระทำในขณะนั้นเป็นเพียงการขาดวิจารณญาณ

  การตั้งต้นแก้ไขปัญหานี้ เริ่มได้จากการไม่สนับสนุนและมีส่วนช่วยเหลือไม่ให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวได้ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว โดยคนใน ชุมชน คนข้างบ้าน สามารถรวมสังเกต และแจ้งให้เจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ให้เข้าไปช่วยเหลือ นำเด็กออกมาจากวงจรความรุนแรง เพื่อให้ในครอบครัว เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแก้ไข และนำเด็กออกมา อาจมาอยู่สถานสงเคราะห์หรือที่ปลอดภัย ขณะเดียวกันก็เป็นการบ่มเพาะสร้างและฝึกความเป็นพ่อแม่ด้วย
"หากครอบครัวสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ เด็กก็สามารถกลับมาอยู่กับครอบครัวเช่นเดิม ซึ่งหากมีการใช้กฎหมายนี้เข้ามาแก้ไขปัญหาในครอบครัวก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่เกิดการใช้ความรุนแรง ดีกว่าการที่คนส่วนใหญ่พบเห็นการใช้ความรุนแรง แต่ก็เลือกที่จะนิ่งเฉยและวิพากษ์วิจารณ์แต่ทำให้ความรุนแรงยังคงอยู่ ทั้งนี้บ้านพักฉุกเฉินหรือสถานพินิจฯมีโครงการในการดูแลเด็ก เมื่อผ่านการอบรมดูแล เด็กก็สามารถกลับมาอยู่ในชุมชนได้"นพ.ยงยุทธกล่าว 

วิธีป้องกัน-ช่วยเหลือ\"เด็กก่อความรุนแรง\" ตามคำแนะนำ จิตแพทย์

ความรักกับวัยรุ่น

 ด้าน พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ธรรมชาติของวัยรุ่น คือความรู้สึกทุกประเภททั้งโกรธ โมโห หรือรักจะมีความรุนแรง ขณะเดียวกัน พัฒนาด้านความคิดยังไม่สมบูรณ์เท่ากับผู้ใหญ่ที่จะมองเห็นทางออกที่มากกว่า 1 ทาง หรือข้อดีข้อเสียอย่างครบรอบด้าน จึงทำให้เกิดการตัดสินใจที่ใช้วิธีรุนแรง เพื่อทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ตัวเองต้องการ แต่ก็ไม่ใช่เพียงอิทธิพลของการเป็นวัยรุ่นเพียงอย่างเดียว ยังประกอบปัจจัยอื่นๆ ที่อาจไม่ทราบรายละเอียดทั้งหมด เช่น สิ่งแวดล้อม การเข้าถึงวิธีหรืออาวุธที่ง่าย ยาเสพติด ไปจนถึงการมีบุคคลอื่นเข้ามาร่วมในการวางแผน
สำหรับความรักเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัยและไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่สิ่งสำคัญคือพ่อแม่จะต้องสื่อสารและใช้เวลากับลูกให้มากที่สุด เพื่อให้ลูกมีเวลาสนใจกับเรื่องที่เป็นลบน้อยลง ซึ่งความรักก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นลบ เพียงแต่ว่า หากเด็กใช้เวลาพัฒนาความสามารถของตัวเอง การพัฒนางานอดิเรกที่ช่วยให้เด็กมีความสุข เห็นคุณค่าและรักตัวเขาเองมากที่สุด เพื่อเติมเต็มความรู้สึกในตัวเด็กเอง จะทำให้เด็กไม่ต้องพึ่งพาความรักจากที่อื่นเพื่อเติมเต็มตัวเอง เปลี่ยนจากการกีดกันเด็กไม่ให้มีความรัก เพราะช่วงที่เด็กต้องการการเติมเต็มแล้วโดนกีดกัน ก็จะเกิดความขัดแย้งทั้งพ่อแม่และเด็ก

“สิ่งที่พ่อแม่น่าจะห่วงใยมากกว่า ไม่น่าจะเป็นความรัก แต่เป็นการพึ่งพาความรักจากคนอื่นมากเกินไป สิ่งนี้เราน่าจะชวนพ่อแม่มาดู ฝึกให้ลูกรักตัวเองเป็น อยู่ด้วยตัวเองเป็น โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาความรักจากคนรักของตัวเอง ดังนั้น เด็กที่รักตัวเองเป็น จึงจะรักคนอื่นอย่างมีคุณภาพได้ ความรักจากพ่อแม่ที่มีแก่ลูก จะทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาเป็นสิ่งที่มีค่าของครอบครัว และในเมื่อเขาเป็นสิ่งที่มีค่า เขาจึงต้องรักในสิ่งนี้ นั่นก็คือตัวเขาเอง” พญ.ดุษฎี กล่าว
วิธีป้องกัน-ช่วยเหลือ\"เด็กก่อความรุนแรง\" ตามคำแนะนำ จิตแพทย์
สถิติความรุนแรงในครอบครัว

ข้อมูลจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) รายงนสถานการณ์และแนวโน้มทางสังคม "ความรุนแรงในครอบครัว"

• การกระทำความรุนแรงในครอบครัวเฉลี่ย 5 รายต่อวัน
นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 - กันยายน 2563 มีผู้แจ้งเหตุมายังศูนย์ช่วยเหลือทางสังคม สายด่วน 1300 ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความรุนแรงในครอบครัวเฉลี่ยวันละ 5 ราย
• ในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา พบแนวโน้มความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนหลัง
(พฤศจิกายน ธันวาคม 2563 และมกราคม 2564) มีการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากจำนวน 147 รายในเดือนตุลาคม 2563 เป็น 196 ราย ในเดือนพฤศจิกายน 2563 และเพิ่มสูงถึงระดับ 200 ราย ในเดือนธันวาคม 2563 และมกราคม 2564

• เด็กและสตรีเป็นกลุ่มที่ถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นการทำร้ายร่างกาย รองลงมา ได้แก่การล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การล่วงละเมิดทางเพศในเด็กที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า สองเท่าตัว จาก 7 ราย ในเดือนธันวาคม 2563 เป็น 21 รายในเดือนมกราคม 2564
• บุคคลใกล้ชิดเด็ก โดยเฉพาะพ่อและแม่ เป็นผู้ที่กระทำความรุนแรงด้วยการทำร้ายร่างกายเด็กมากที่สุด ขณะที่การล่วงละเมิตทางเพศเด็กมักจะเป็นบุคคลใกล้ชิดที่เด็กไว้วางใจ ทั้งพ่อแม่ เครือญาติและบุคคลที่อาศัยอยู่ในครอบครัวเดียวกัน
• ความรุนแรงในครอบครัวในช่วงโควิด - 19 การแพร่ระบาดของโควิด - 19 ก่อให้เกิดความเครียดจากภาวะการถูกเลิกจ้าง ว่างงาน และการขาดรายได้ในการเลี้ยงชีพ จึงมีความเสี่ยงที่จะกระทำความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลสายด่วน 1300 ที่พบแนวโน้มความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 3 เดือน (พฤตจิกายน 2563 - มกราคม 2564) ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการแพร่ระบาดของโควิด - 19 รอบใหม่ และคาดการณ์ว่าความรุนแรงในครอบครัวจะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากความตึงเครียดจากภาวะทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีอยู่