HPV DNA ทางเลือกใหม่ ตรวจ "มะเร็งปากมดลูก" ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง ฟรี

HPV DNA ทางเลือกใหม่ ตรวจ "มะเร็งปากมดลูก" ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง ฟรี

แม้อุบัติการณ์เกิด "มะเร็งปากมดลูก" ในประเทศไทยจะลดลง แต่ผู้ป่วยที่พบยังคงอยู่ในระยะ 3-4 เหตุผลคือ การที่หญิงไทยยังไม่กล้าเข้ารับการตรวจคัดกรอง ปัจจุบัน จึงมีการตรวจคัดกรอง HPV DNA ทางเลือกใหม่ ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง แม่นยำ 90-95% หญิงไทยทุกสิทธิ ฟรี

“มะเร็งปากมดลูก” เป็นมะเร็งที่พบมากในเพศหญิงที่พบได้ในสตรีตั้งแต่วัยสาวถึงวัยชรา และพบมากเป็น อันดับ 2 ของมะเร็งในสตรีไทย รองจาก มะเร็งเต้านม มีข้อมูลจาก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ว่า มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่ป้องกันได้ถึงร้อยละ 80 หากได้รับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ

 

แต่ที่ผ่านมากลับพบว่ามีผู้หญิงจำนวนมากมีความกังวลในการเข้ารับการตรวจคัดกรองหาเชื้อเอชพีวี ซึ่งเป็นสาเหตุหลักมะเร็งปากมดลูกด้วยหลากหลายเหตุผล ซึ่งหนึ่งในนั้นคืออายแพทย์ กลัวการขึ้นขาหยั่ง กลัวเจ็บ เป็นต้น ทำให้ไม่เข้ารับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ ไปจนถึงไม่เข้ารับการตรวจเลย ผู้หญิงหลายคนไปพบสูตินรีแพทย์เมื่อมีอาการแล้วซึ่งอาจจะทำให้รักษาไม่ทันการณ์

 

ปัจจุบัน จึงมีนวัตกรรมในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเพื่อหาเชื้อ ไวรัสเอชพีวี โดยให้ผู้หญิงสามารถเลือกเก็บตัวอย่างได้ด้วยตนเอง ซึ่งถือเป็นการเพิ่มทางเลือกในการเข้าถึงการตรวจคัดกรองฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ฟรี หญิงไทยทุกสิทธิ สามารถคัดกรอง ป้องกันโรคได้ มีความไวในการค้นหาเซลล์ผิดปกติได้กว่า 90-95% มากกว่าวิธีแบบเดิม คือ แปปสเปียร์ ซึ่งมีความไวในการค้นหาเซลล์ผิดปกติราว 50-55%

 

HPV DNA ทางเลือกใหม่ ตรวจ \"มะเร็งปากมดลูก\" ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง ฟรี

โรคมะเร็ง เกิดได้อย่างไร 

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 65 “นายแพทย์ปิยวัฒน์ เลาวหุตานนท์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี กล่าวในงาน เสวนาทางออนไลน์ในหัวข้อ “ผู้หญิงต้องรู้ ! ทางเลือกใหม่ ตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง” จัดโดย บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยอธิบายว่า มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่เกิดในตำแหน่งปากมดลูก โดยส่วนใหญ่การเกิดมะเร็ง เกิดจากมีการสร้างเซลล์มากขึ้นกว่าปกติ แพร่กระจายไปยังอวัยวะหลายจุด

 

“โดยธรรมชาติคนเรามียีน 2 แบบ คือ ยีนที่กระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่ และ ยีนป้องกันไม่ให้มีการสร้างเกินความจำเป็น สาเหตุของมะเร็งปากมดลูกหลักๆ มาจากเชื้อ ไวรัสเอชพีวี 99.9% และ 0.1% เกิดจากพันธุกรรม ไวรัสเอชพีวีเข้าไปในเซลล์ ทำให้ยีนที่ควบคุมการหยุดการสร้างไม่ทำงาน ทำให้มีการสร้างเซลล์แบบไม่จำกัด จนกลายเป็นมะเร็งตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย”

 

เชื้อเอชพีวี เสี่ยงมะเร็งปากมดลูกมีกว่า 14 สายพันธุ์

สาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูกมาจากเชื้อเอชพีวี โดยสายพันธุ์ก่อมะเร็ง 100 กว่าสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่ก่อความเสี่ยงสูงให้เกิดมะเร็งปากมดลูกมีราว 14 สายพันธุ์โดยสายหลัก คือ สายพันธุ์ 16 และสายพันธุ์ 18 พบว่า เป็นอัตราส่วนกว่า 70% ของทั้งหมด โดยการตรวจหามะเร็งปากมดลูก มีวิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี โดยการเก็บสิ่งส่งตรวจในช่องคลอด

 

ในหญิงวัย 40-50 ปี แต่เดิมจะเจอในระยะท้าย การวินิจฉัย คือ กลิ่นมาตามตัวลักษณะเฉพาะของมะเร็งปากมดลูก แต่เมื่อ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้บรรจุสิทธิในการคัดกรองมะเร็งเมื่อ 18 ปีก่อน ทำให้อุบัติการณ์ลดลง และ การป่วยระยะท้ายลดลงเล็กน้อย

หญิงไทย กลัวการคัดกรองมะเร็ง 

ถึงแม้อุบัติการณ์มะเร็งปากมดลูกรายใหม่ลดลง แต่เมื่อเจอผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกมักจะเจอระยะ 3-4 ซึ่งเป็นระยะที่กระจายสูง สาเหตุเกิตจาก ที่ผ่านมา ไทยมีการทำวิจัย พบว่า ส่วนใหญ่เกิดจากความอาย กลัว ที่จะมาตรวจภายใน อย่างที่ทราบกันว่า ผู้หญิงต้องขึ้นขาหยั่ง ใส่เครื่องมือเข้าไป ทำให้กลัวเจ็บ ทำให้ที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่กังวล แต่ไม่ยอมไปตรวจ

 

อีกทั้ง ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การระบาดของโควิด-19 ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ ที่ทำหน้าที่คัดกรอง ป้องกัน ถูกเปลี่ยนบทบาทชั่วคราว ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทำให้การเข้าถึงการคัดกรองลดลง ตัวเลข 2-3 ปีที่ผ่านมา การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจำนวนลดลง ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกหากเจอก็เจอระยะท้าย ใกล้เคียงกับ 10-20 ปีที่ผ่านมา

 

การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มีกี่วิธี

นายแพทย์ปิยวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 

1. ) การตรวจลักษณะของเซลล์ หรือที่เราเรียกว่า “แปปสเมียร์” 

2.) การตรวจในระดับอนู โดยปัจจุบันที่ใช้ คือ HPV DNA test และการตรวจสารในระหว่างเซลล์ในการคาดการณ์การเกิดเซลล์ที่ผิดปกติ 

 

"อย่างไรก็ตาม ทั้งสองวิธีสามารถตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน ง่ายๆ คือ วิธีแปปสเมียร์ ต้องรอให้เซลล์ผิดปกติก่อนถึงจะตรวจเจอ แต่การตรวจด้วยวิธี HPV หากตรวจพบจะสามารถบอกความเสี่ยง เพื่อหาวิธีป้องกันและรักษาแต่เนิ่นๆ ได้"

 

อัตราการพบความผิดปกติ

  • แปปสเมียร์ มีความไวในการพบเซลล์ผิดปกติราว 50-55%
  • HPV มีความไวในการค้นหาเซลล์ผิดปกติสูงถึง 90-95% ไวกว่าแปปสเมียร์แบบดั่งเดิม

 

การเก็บตัวอย่าง HPV DNA test ทำอย่างไร

ทั้งนี้ การตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี “HPV DNA test” สามารถเก็บได้สองวิธี คือ

1.) ขึ้นขาหยั่ง เหมือนการตรวจแปปสเมียร์แบบดั่งเดิม โดยให้แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์เป็นคนเก็บ 

2.) การเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง โดยมีกล่อง หลอด และไม้เก็บตัวอย่าง ใส่เข้าไปในช่องคลอดและเก็บเซลล์ ไม่เจ็บ เป็นวิธีใหม่ที่สามารถเก็บได้ด้วยตัวเอง ในส่วนของความไวในการค้นหาเซลล์ผิดปกติ ใกล้เคียงกับการตรวจด้วยการขึ้นขาหยั่ง เป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการค้นหาเซลล์ผิดปกติ เป็นตัวเลือกในการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้

 

“โดยปกติ สามารถเก็บตัวอย่างได้ทั้งที่หน่วยบริการและที่บ้านได้ แต่เนื่องจากตัวเทสเป็นตัวใหม่สำหรับประชาชนทั่วไป เบื้องต้น แนะนำให้มาเก็บที่หน่วยบริการ เพราะหลังจากเก็บตัวอย่างเสร็จ จะต้องเอาไม้พันสำลี ไปค้นหาการติดเชื้อเอชพีวี ได้อย่างแม่นยำ แต่ในอนาคตหากมีการเปลี่ยนรูปแบบในการเก็บได้ดียิ่งขึ้น ก็จะสามารถเก็บที่บ้านได้และนำมาส่งที่หน่วยบริการในวันรุ่งขึ้นได้”

 

ทั้งนี้ สปสช. ได้ออกแนวทางในการคัดกรอง และแนวทางปฏิบัติ ร่วมกับ ราชวิทยาลัยสูติศาสตร์นารีเวชวิทยาและสมาคมมะเร็งนารีเวชวิทยา ในกรณีหากผู้หญิงท่านหนึ่งมาตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี

  • กรณีตรวจเป็นผลลบ สามารถเว้นการตรวจคัดกรองอีก 5 ปีข้างหน้า
  • กรณีผลตรวจพบเชื้อไวรัสเอชพีวี โดยเฉพาะสายพันธุ์ก่อมะเร็งความเสี่ยงสูง คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 ขั้นตอน ถัดไปคือวินิจฉัย ส่องกล้องปากมดลูก
  • กรณีตรวจพบเชื้อเอชพีวี แต่ไม่ใช่สายพันธุ์ 16 และ 18 จะมีการตรวจด้วยเซลล์เพิ่มเติม หากผลเซลล์ผิดปกติ จึงจะไปทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจที่ปากมดลูก หากไม่เจอเซลล์ผิดปกติจะนัดตรวจอีก 1 ปี

 

WHO ตั้งเป้าลดอุบัติการณ์ 4 คนต่อแสนประชากร

“ดร.ศุลีพร แสงกระจ่าง” รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ อธิบายว่า ในอดีต มะเร็งปากมดลูก พบมากอันดับหนึ่งในหญิงไทย แต่ด้วยความร่วมมือทุกภาคส่วน มีการแนะนำ ป้องกันโรค หลังจากนั้น 18 ปี ที่ผ่านมา มีการร่วมมือกับ สปสช. ในโครงการคัดกรองมะเร็งปาดมดลูกทั่วประเทศ แต่วิธีเดิม คือ การตรวจทางเซลล์วิทยา หรือ “แปปสเมียร์” ทำให้มะเร็งปากมดลูกลดลง ปัจจุบันเป็นมะเร็งที่พบมาก อันดับ 5

 

อย่างไรก็ตาม อุบัติการณ์ปัจจุบันพบหญิงไทยป่วยมะเร็งปากมดลูก 11.1 คน ต่อแสนประชากร องค์การอนามัยโลก อยากให้ทุกประเทศลดอุบัติการณ์ให้เหลือ 4 คนต่อแสนประชากร การตรวจคัดกรองยังต้องทำอย่างเข้มข้นและการฉีดวัคซีนในเด็กนักเรียน

 

ขณะเดียวกัน ความเข้าใจของคนไทย ยังเชื่อว่ามะเร็งเป็นแล้วต้องเสียชีวิต เป็นแผลในใจ หลายคนจะไม่กล้าบอกว่าตัวเองเป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะเป็นโรคเวรกรรม รักษาไม่หาย และเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ความจริงเรามีบริการตรวจคัดกรอง และการดูแลรักษา สปสช. ดูแลให้ บางคนอาจจะยังไม่ทราบข้อมูลทั้งหมด

 

ปี 2566 เล็งขยายห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ

ดร.ศุลีพร กล่าวต่อไปว่า การตรวจ HPV DNA Test ณ ปัจจุบัน มีทั้งหมด 71 จังหวัด และห้องปฏิบัติการ 100 กว่าแห่ง และในปีหน้าจะขยายทั้งประเทศ ดังนั้น วิธีการตรวจจะมีการเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์ หรือปัจจุบันมีการเก็บด้วยตัวเอง โดยเฉพาะสตรีที่ไม่เคยตรวจคัดกรองมาก่อน สามารถรับชุดตรวจ ไปเก็บเองในห้องน้ำและส่งเลย หรือนำกลับไปบ้าน แต่ต้องกลับมาส่งที่ รพ. เพราะเข้าใจว่าบางคนไม่เคยขึ้นขาหยั่ง และมีอุปกรณ์ ที่อาจจะกลัว ดังนั้น จะมีการขยายเพิ่มขึ้นในเรื่องของการเก็บด้วยตัวเอง

 

ข้อแนะนำในการเก็บตัวอย่าง

ทั้งนี้ ขอแนะนำในการเก็บตัวอย่าง อันดับแรกจะต้องสังเกตตัวเอง หากมีอาการดังต่อไปนี้ ไม่ควรเก็บตัวอย่าง ได้แก่

  • มีอาการปวดท้องน้อย
  • ปวดท้องขณะมีเพศสัมพันธ์
  • มีตกขาวผิดปกติ
  • ควรเก็บหลังมีประจำเดือน 7 วันขึ้นไป (ไม่เก็บสิ่งส่งตรวจขณะมีประจำเดือน)

 

โดยการเก็บสิ่งส่งตรวจ ควรทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่า เมื่อเก็บตัวอย่าง ไม้ไม่ควรปนเปื้อนก่อนใส่ในน้ำยา และส่งไปยังหน่วยบริการภายใน 1 – 2 วัน

 

คัดกรองฟรี ทุกสิทธิการรักษา

“ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ” รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำหรับคนไทยแต่ละสิทธิจะมีหน่วยงานดูแล ได้แก่ สิทธิข้าราชการ 6 ล้านคน จะมีกรมบัญชีกลางดูแล สิทธิประกันสังคม 10 ล้านคน สำนักงานประกันสังคมดูแล และคนไทยอีกกว่า 48 ล้านคน จะมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถ้วนหน้า ครอบคลุมตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รวมถึงการรักษา

 

"โรคมะเร็ง คนเข้าใจว่าเป็นแล้วเสียชีวิต แต่นั่นเป็นระยะท้าย หากตรวจคัดกรอง เจอระยะต้น รักษาแล้ว โอกาสหายขาดสูง ดังนั้น การคัดกรอง สปสช. ได้บรรจุเข้าไปในสิทธิประโยชน์ เรื่องของการคัดกรองส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ดังน้น คนไทยไม่ว่าจะสิทธิอะไรก็แล้วแต่ ทั้งบัตรทอง ข้าราชการ ประกันสังคม เข้าสู่การคัดกรองได้ แค่เป็นคนไทย หากเจอไม่ว่าจะระยะใด เข้าสู่การรักษาได้ตามสิทธิ โดยรัฐออกค่าใช้จ่ายให้ ไม่ต้องกังวล"

 

เช็กสิทธิคัดกรองได้ในแอป เป๋าตัง

ทั้งนี้ การคัดกรองในระบบหลักประกันสุขภาพ การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มีหลายวิธี จะใช้วิธีไหนไป รพ. ได้เลย นอกจากเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค หากเราไม่ป่วย เราอาจจะไม่อยากไป รพ. ปัจจุบันก็พยายามหาหลายวิธี ตอนนี้ สปสช จับมือ ธนาคารกรุงไทย ใช้แอปฯ “เป๋าตัง” ตอนนี้มีผู้ใช้ 40 ล้านคน

 

ขั้นตอนการค้นหา

  • ในแอปฯ เป๋าตัง เมื่อเข้าเมนู “เป๋าตังสุขภาพ” จะมีรายละเอียดปรากฏ
  • จากนั้น จะมีบริการสร้างเสริมสุขภาพ และรายละเอียดให้เลือกบริการต่างๆ บริการ "ตรวจคัดกรอง" จะอยู่ด้านขวาล่าง
  • โดยสิทธิจะขึ้นอยู่กับแต่ละคน และอายุในกลุ่มที่ตรงกับสิทธิ
  • มีเงื่อนไขการใช้สิทธิ ข้อมูลหน่วยบริการ คลินิก ที่สามารถรับบริการได้
  • มีหน่วยบริการใกล้ๆ วัดในรัศมี 50 กิโลเมตร ว่าหน่วยไหนพร้อมบริการ สามารถนัดหมาย รพ. และไปรับบริการได้เลย

 

"เป็นบริการที่ สปสช. จับมือกรุงไทย เพื่ออำนวยความสะดวก ปีที่ผ่านมา ให้บริการใน กทม. ครบ 100% และในปี 2566 จะให้บริการในต่างจังหวัดครอบคลุมทั่วประเทศ"

 

ที่ผ่านมา สปสช. ได้ลงพื้นที่การให้บริการประชาชน โดยจับมือกับ รพ.สต. ทุกแห่งมีการรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และ ให้ความรู้ผู้นำชุมชน อสม. เพื่อพูดคุยกับสตรีกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เข้าใจการตรวจคัดกรอง และเข้าถึงบริการมากขึ้น ที่สำคัญ ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายเพราะอยู่ในสิทธิประโยชน์ไม่ว่าจะสิทธิใด

 

มะเร็งรักษาทุกที่ 

การเข้าถึงประชาชน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ข้อสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้สตรีกลุ่มเป้าหมายมาใช้บริการ มีเรื่องของการตรวจได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง ทำให้ม่านบางๆ ที่กั้นระหว่างการเข้าอกเข้าใจบางอย่างลดลง ทำให้เข้าถึงมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดอยู่ในสิทธิประโยชน์ เลือกใช้ได้เลย

 

การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีความเอาจริงในเรื่องนี้มาก สมัยก่อนนอกจากมะเร็งปากมดลูก ที่มีลักษณะเด่น คือ หากคัดกรอง รักษาเร็ว โอกาสหายขาดมีเยอะมาก ที่สำคัญ ขณะนี้ มีมะเร็งรักษาทุกที่ ไม่ว่ามะเร็งชนิดใดก็ตาม โดยแบ่งเป็นเขต แต่ละโรงพยายาบาลจะมีผู้ประสานงาน และหาหน่วยบริการที่มีความพร้อม และพาผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็ว ประชาชนอุ่นใจได้ว่าหากตรวจพบเป็นมะเร็ง จะเข้ารับการรักษาได้เร็วขึ้น แต่สิ่งสำคัญ จะทำอย่างไรให้รู้ได้อย่างไรว่า ขณะนี้ เราเข้าสู่การมะเร็ง นี่คือหัวใจสำคัญ” ทพ.อรรถพร กล่าว