ถกเข้ม APEC Health Week คุม “มะเร็งปากมดลูก” หลังหยุดชะงักจากโควิด

ถกเข้ม APEC Health Week คุม “มะเร็งปากมดลูก” หลังหยุดชะงักจากโควิด

ประชุม APEC Health Week หารือเชิงนโยบาย กำจัดไวรัส HPV และ "มะเร็งปากมดลูก” เผยผู้ป่วย 38% และผู้เสียชีวิต 35% อยู่ในเขตเศรษฐกิจ APEC ระดมสมองวางแนวทางดำเนินงานป้องกัน คัดกรอง รักษา หลังหยุดชะงักในช่วงโควิด ไทยเร่งหาวัคซีนเอชพีวี ฉีดย้อนหลังนักเรียนหญิง ป.5 หลังหยุดไป 2 ปี

วันนี้ (22 สิงหาคม 2565) ที่โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การประชุม APEC Health Week วันแรกในช่วงบ่าย มีการประชุมหารือเชิงนโยบายเรื่องการกำจัดไวรัส HPV และมะเร็งปากมดลูก สาเหตุที่มีการนำเรื่องนี้ขึ้นมาหารือในการประชุม APEC Health Week เนื่องจากโรคมะเร็งปากมดลูก เป็นหนึ่งใน โรคมะเร็ง ที่พบได้บ่อยในสตรีทั่วโลก แต่ละปีจะมีผู้ป่วยใหม่ราว 6 แสนราย และมีผู้เสียชีวิตราว 3.4 แสนราย

ซึ่งจำนวนนี้พบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ในเขตเศรษฐกิจ APEC ถึงร้อยละ 38 และพบผู้เสียชีวิตร้อยละ 35 โดยการประชุมในวันนี้เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานการสร้างขีดความสามารถ และการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อขจัดปัญหาอุปสรรคในการป้องกัน คัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก การดูแลรักษาผู้ป่วย

ทั้งในระยะที่รักษาได้หรือในระยะท้ายที่ดีที่สุด รวมถึง รับฟังปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน และแนวทางแก้ไขปัญหา 

 

ซึ่งจะช่วยให้สมาชิกเขตเศรษฐกิจสามารถดำเนินงานได้ตามแผนงานแรกของเอเปคในการส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนสำหรับผู้หญิงผ่านการป้องกัน และควบคุมโรคมะเร็งปากมดลูก (The First APEC Roadmap to Promote Sustainable Economic Advanced for Women through Cervical Cancer Prevention and Control) ซึ่งจัดทำขึ้นในช่วงปี 2014-2017 และตามนโยบายของ องค์การอนามัยโลก ในการกำจัดโรค มะเร็งปากมด ลูกภายในปี 2030

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยมีแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ พ.ศ. 2561-2565 ซึ่งในเรื่องของมะเร็งปากมดลูกครอบคลุมตั้งแต่การป้องกัน การคัดกรอง และการรักษาโรค โดยปัจจุบันบรรจุอยู่ในแผนการดำเนินงานของเขตสุขภาพทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งในเรื่องของการป้องกันเราบรรจุการฉีดวัคซีนป้องกัน มะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีนเอชพีวี เข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ และบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทั้งวัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์และ 4 สายพันธุ์ เพื่อฉีดให้แก่นักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละปี มีประมาณ 4 แสนคน เป็นการฉีดก่อนการมีเพศสัมพันธ์ โดยเริ่มฉีดมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามีความคุ้มทุน และมีประสิทธิผลป้องกันโรคสูง และยาวนาน

 

ส่วนการคัดกรองมีแนวทางการตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2565 กระทรวงสาธารณสุข จัดโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง (HPV Self Sampling) หลังเก็บตัวอย่างใส่ลงในหลอดน้ำยาตามขั้นตอนที่กำหนดแล้วสามารถส่งไปยังโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการเพื่อดำเนินการตรวจ และรายงานผลตรวจต่อไป ทำให้ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล

 

เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์เก็บตัวอย่าง ซึ่งผู้หญิงจำนวนมากมีความเขินอาย กลัวการใส่เครื่องมือทางช่องคลอด หรือไม่อยากเสียเวลางาน ทำให้ไม่ไปตรวจ จึงเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดการตรวจคัดกรองมากขึ้น ส่วนการรักษาแพทย์จะพิจารณาตามระยะ โดยมีการรักษาทั้งการผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด การฉายรังสีรักษา ซึ่งสามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิประโยชน์

 

 

“ภายในที่ประชุมมีการหารือถึงเรื่องการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกที่หยุดไปในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 และเตรียมความพร้อมให้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องหากเกิดโรคระบาดแบบนี้อีก ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โรคโควิด-19 มีผลต่อการผลิต และจัดหาวัคซีนเอชพีวีป้องกันมะเร็งปากมดลูก ทำให้ไม่สามารถจัดหาเข้าฉีดเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ของไทยได้ รวมกว่า 8 แสนคน"

"แต่ในปีนี้เราสามารถจัดหาวัคซีนเอชพีวีเข้ามาฉีดนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ได้แล้วประมาณ 4 แสนคน และอยู่ระหว่างการจัดหาเพื่อดำเนินการฉีดวัคซีนย้อนหลังสำหรับ 2 ปีที่ผ่านมาอีก” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์