สปส.เรียกคืน "เงินเยียวยาประกันสังคมโควิด"

สปส.เรียกคืน "เงินเยียวยาประกันสังคมโควิด"

สำนักงานประกันสังคม เรียกคืน "เงินเยียวยาประกันสังคมโควิด" เผยหลังตรวจสอบเสร็จสิ้นโครงการมีคนสิทธิซับซ้อน 

ในช่วงที่ประเทศไทยมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างหนัก ส่งผลให้ต้องมีการหยุดกิจการ กิจกรรมเกือบทั้งหมอเพื่อชะลอการแพร่ระบาดของโรค รัฐบาลได้มีมาตรการเยียวยาผู้ประกันตน ทั้งประกันสังคมมาตรา 33 ,มาตรา 39 และมาตรา 40 โดยผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 ที่ประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบัน ได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน

ล่าสุดมีผู้ประกันตนได้รับหนังสือจากสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ ให้คืนเงินเยียวยาประกันสังคมโควิดที่ได้รับไป โดยเฉพาะโครงการเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (ผู้ประกันตนมาตรา 40)

นางนิยดา เสนีย์มโนมัย โฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า  สำนักงานประกันสังคมได้เร่งดำเนินการจ่ายเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประกันตน แต่เนื่องจากเงื่อนไขการได้รับสิทธิที่ซับซ้อนดังกล่าว ประกอบกับจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้เพิ่มขึ้นจากจำนวน 3.6 ล้านคน เป็น 9.6 ล้านคน

และในช่วงที่เปิดโอกาสให้ผู้สมัคร ม.40 รายใหม่รับสิทธิเยียวยาได้ จึงจำเป็นต้องใช้ระบบ IT ในการประมวลผลตรวจสอบสิทธิ์ เพื่อโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารให้ผู้ประกันตนได้อย่างรวดเร็วบรรเทาความเดือดร้อนได้ทันการณ์

แต่เนื่องจากงบประมาณที่ใช้ดำเนินการมาจากโครงการเงินกู้ของรัฐบาลดังนั้นเมื่อเสร็จสิ้นโครงการเยียวยา จะต้องตรวจสอบและรายงานผลการดำเนินงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ จากการสอบทานข้อมูลการดำเนินงานโดยละเอียด พบว่าเงื่อนไขการเกิดสิทธิที่ซับซ้อนทำให้มีการจ่ายเงินเกินสิทธิให้กับผู้ประกันตน จึงจำเป็นต้องแจ้งผู้ประกันตนให้ดำเนินการส่งคืนเงินดังกล่าว

หากผู้ประกันตนไม่สามารถส่งคืนเงินได้ในคราวเดียวสามารถดำเนินการขอผ่อนชำระเป็นรายงวดได้ โดยขอให้ติดต่อสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ /จังหวัด/สาขา ที่รับผิดชอบต่อไป

โดยผู้ประกันตนที่จะต้องจ่ายคืนเงินมีจำนวนประมาณ 5,000 คน โดยส่วนมากจะเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ส่วนมาตรา 33 และ 39 มีเพียงเล็กน้อย ซึ่งแต่ละคนจะมีจำนวนเงินที่ต้องคืนต่างกันออกไป โดยทางสำนักงานประกันสังคมจังหวัดได้ส่งหนังสือไปถึงผู้ประกันตนทั้งหมดแล้ว หากผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับหนังสือ ก็หมายความว่าไม่ต้องติดต่อเพื่อขอคืนเงินแต่อย่างใด

“ส่วนว่าความผิดพลาดประกันสังคมควรต้องรับผิดชอบเองนั้น ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เงินดังกล่าวถือว่าเป็นเงินไม่พึงได้รับ ซึ่งหมายถึงกรณีที่มีการจ่ายเงินไปแล้ว ได้รับเงินไปแล้ว แต่มีการตรวจสอบย้อนหลังว่าเป็นเงินไม่พึงได้รับ ก็จะต้องมีการคืนกลับมา อย่างไรก็ตาม ตนขอนำประเด็นนี้เข้าไปหารือร่วมกับฝ่ายกฎหมาย เพื่อความชัดเจนอีกครั้ง”นางนิยดากล่าว