“โรงเรียนเบาหวานวิทยา” ช่วยผู้ป่วย ปรับลดยา หยุดยา งดยาบางตัว ได้เกือบ 50 %

“โรงเรียนเบาหวานวิทยา” ช่วยผู้ป่วย ปรับลดยา หยุดยา งดยาบางตัว ได้เกือบ 50 %

เขตสุขภาพที่ 9 ใช้ “โรงเรียนเบาหวานวิทยา” ช่วยผู้ป่วยเข้าสู่ระยะสงบของโรค ปรับลดยา หยุดยา งดยาบางตัว ได้เกือบ 50 % ประหยัดค่ายาได้กว่า 7.28 ล้านบาท/ปี ปลัดสธ.เตรียมขยายผลเข้าสู่ Service Plan

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ประเทศไทยพบอุบัติการณ์โรคเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 มีผู้ป่วยโรคเบาหวานรายใหม่เพิ่มขึ้น 2.5 แสนคน ผู้ป่วยสะสม 3.5 ล้านคนมีค่ายารักษาเฉลี่ย 28,000  บาท/คน/ปี ซึ่งเป็นภาระด้านงบประมาณที่สูงมาก ทั้งนี้ การจัดบริการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานของเขตสุขภาพที่ 9 โดยจัดตั้งโรงเรียนเบาหวานวิทยา

มุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน และเปิดคลินิกโรคเบาหวานระยะสงบ (DM Remission) ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และรพ.สต. ทุกแห่ง พบว่าประสบผลสำเร็จอย่างดี ผู้ป่วยเบาหวานเข้าสู่ระยะโรคสงบ ปรับลดยา หยุดยา งดยาบางตัว ได้เกือบ50%

 

และยังช่วยลดภาระค่ายาได้ถึง 7,280,000 บาท/ ปี จึงมีแนวคิดที่จะขยายผลโรงเรียนเบาหวานวิทยาเข้าสู่ Service Plan ของกระทรวงสาธารณสุข มีตัวชี้วัดผลการจัดระบบบริการที่เป็นมาตรฐาน เพื่อให้ทุกหน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุขได้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน

ด้าน นพ.ภูวเดช สุระโคตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 9 มีการจัดตั้งโรงเรียนเบาหวานวิทยา ในจังหวัดนครราชสีมา ครบทุกตำบล ส่วนจังหวัดชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ จัดตั้งอำเภอละ 1 แห่ง รวม 162 แห่ง มีผู้ผ่านอบรมครู ก ครู ข 1,019 คน มีนักเรียนจบหลักสูตรแล้ว 3,050 คน เป็นกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน 2,592 คน

ใช้หลักแนวคิดกระบวนทัศน์ใหม่ ประกอบด้วยกระบวนการเรียนรู้ 5 ฐาน ได้แก่

1.การเรียนรู้ตนเอง/รับรู้ตนเอง การตรวจสุขภาพตนเองและการแปลผล (BODY Composition)

2.การรับประทานอาหารในชีวิตประจำวัน คำนวณคาร์โบไฮเดรท และวางแผนการกินต่อวัน

3.การออกแบบการปรับเปลี่ยนสุขภาพตนเอง โดยใช้หลักของอาหารพร่องแป้ง (Low Carb Diet) หรือการอดอาหารเป็นช่วงๆ (IF)

4.การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่เหมาะสม

และ 5.การเลือกเป้าหมายที่ชอบและเหมาะสมกับตัวเอง โดยให้สัญญาใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ผลการดำเนินงานพบว่า ผู้ป่วยหายหรือเข้าสู่ระยะโรคเบาหวานสงบ 260 คน ( 10.3 %) ปรับลดยา 719 คน ( 27.73 %) หยุดยา 217 คน (8.37 %) งดยาบางตัว 48 คน (1.85 %)