‘กองทุนประกันสังคม’ ระเบิดเวลา ‘สหรัฐ’ นับถอยหลังอีก 11 ปี เงินหมด

‘กองทุนประกันสังคม’ ระเบิดเวลา ‘สหรัฐ’ นับถอยหลังอีก 11 ปี เงินหมด

ผู้สูงอายุอเมริกันอาจฝันสลาย เมื่อบั้นปลายชีวิตอาจไม่เป็นดั่งหวัง เพราะ ‘ประกันสังคม’ กำลังนับถอยหลังสู่วัน ‘เงินหมด’ สหรัฐเหลืออีกเพียงแค่ 11 ปี  ขณะที่ไทยก็ยังไม่พ้นขีดอันตราย เพราะเสี่ยงล้มในอีก 30 ปี

ชาวอเมริกันในสหรัฐหลายล้านคนฝากความหวังบั้นปลายชีวิตหลังเกษียณอายุไว้กับเงินบำนาญจาก “กองทุนประกันสังคม” ซึ่งเป็นโครงการความมั่นคงทางสังคมที่สำคัญที่สุดสองโครงการของสหรัฐ แต่หารู้ไม่ว่ากองทุนกำลังนับถอยหลังรอ  “วันเงินหมด” โดยรายงานล่าสุดจากสำนักงานประกันสังคมสหรัฐ (Social Security Administration) หรือ SSA ได้เปิดเผยว่า เงินกองทุนประกันสังคมมีแนวโน้มจะหมดลงในปี 2578 หรืออีก 11 ปีข้างหน้า

แม้ตัวเลข 11 ปีนี้ จะยืดเวลาช้าลงไป 1 ปีจากที่เคยคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้มีแรงงานเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น จนทำให้มีคนเข้าร่วมโครงการประกันสังคมมากขึ้นและมีเงินไหลเวียนเข้าสู่กองทุนเพิ่มขึ้น  แต่ก็ไม่ใช่ข่าวดีที่คนอเมริกันจะวางใจได้เลย เพราะคาดว่าจะทำให้ผู้รับสวัสดิการสังคมจะได้รับเงินเพียง 83% จากสิทธิ์ที่พึงได้รับในปีสุดท้าย และทำให้ชาวอเมริกันหลายล้านคนที่เกษียณอายุหลังปีดังกล่าว อาจได้รับเงินบำนาญไม่เต็มจำนวน หรืออาจไม่ได้รับเลย 

อัตราการเกิดต่ำ สวนทางสังคมสูงวัย

ปัญหาสำคัญของวิกฤติครั้งนี้ เกิดขึ้นเพราะคนใช้สิทธิ์รับเงินประกันสังคมมากกว่าคนจ่ายเงินเข้าสู่กองทุน เนื่องจากโครงสร้างทางสัมคมของสหรัฐที่เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ  สวนทาง “อัตราการเกิด” และประชากรวัยทำงานของสหรัฐที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง 

เหตุการณ์นี้ได้สร้างความกังวลใจให้กับชาวอเมริกันอย่างมาก เนื่องจากเป็นโครงการสวัสดิการที่ให้ความช่วยเหลือทาง “การเงิน” ให้แก่ประชาชนชาวอเมริกันหลายล้านคน 

ลินดา สโตน ผู้เกษียณอายุอาวุโสของ American Academy of Actuaries ได้สะท้อน 2 ประเด็นสำคัญจากวิกฤติประกันสังคมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้คือ 

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ยขณะที่เบบี้บูมเมอร์จำนวนมากกำลังเกษียณอายุ ในขณะที่จำนวนประชากรวัยทำงานมีน้อยลง ส่งผลให้จำนวนผู้รับเงินบำนาญเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผู้จ่ายเงินสมทบ

ดังนั้น ทำให้มีความจำเป็นในการปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงการประกันสังคมเพื่อให้ยั่งยืนในระยะยาว การปฏิรูประบบประกันสังคมจะช่วยลดภาระต่อผู้เสียภาษีรุ่นต่อไป

ชาวอเมริกันกว่าครึ่งพึ่งพาเงิน ‘ประกันสังคม’

ข้อมูล ณ ปี 2566 ระบุว่า สำนักงานประกันสังคมได้จ่ายเงินให้ผู้ประกันตนไป 1.244 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2565 หรือเทียบเท่ากับประมาณ 5.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)  ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของประกันสังคมในการรองรับความมั่นคงทางการเงินของผู้สูงอายุ ผู้พิการ 

รายงานล่าสุดจากสมาคมผู้เกษียณอายุแห่งอเมริกา (AARP) ชี้ให้เห็นถึงภาพที่น่ากังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเงินของชาวอเมริกันที่เข้าสู่วัยเกษียณหรือ "เบบี้ บูมเมอร์" (Baby Boomer) ในการพึ่งพา "เงินประกันสังคม"  พบว่า เกือบ 1 ใน 3 ของเบบี้ บูมเมอร์ไม่มีเงินออมเพียงพอที่จะรองรับค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณนานถึง 10 ปี และเงินประกันสังคมเป็นแหล่งรายได้หลักสำหรับเบบี้ บูมเมอร์เกือบ 50% ในปี 2562 

บิล สวีนีย์ รองประธานอาวุโสฝ่ายกิจการของรัฐของ AARP เปิดเผยว่า ประมาณ 40% ของครอบครัวชาวอเมริกันที่มีผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป พึ่งพาเงินประกันสังคมคิดเป็นอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของรายได้ หมายความว่าครัวเรือนเหล่านี้มีรายได้ไม่เพียงพอที่จะรองรับค่าใช้จ่ายพื้นฐานหากปราศจากเงินประกันสังคม

สิ่งที่ยิ่งน่าตกใจไปกว่านั้น คือประมาณ 20%  ของครอบครัวที่ได้รับเงินประกันสังคม อาจมีเงินประกันสังคมเป็นรายได้หลักเพียงช่องทางเดียว อาจนำไปสู่ความยากจนและความยากลำบากในบั้นปลายชีวิตของพวกเขา

เร่งสหรัฐต่ออายุเงินประกันสังคม

มาร์ติน โอมัลลีย์ กรรมาธิการประกันสังคม เรียกร้องให้รัฐสภาสหรัฐและสภาคองเกรสดำเนินการแก้ไขปัญหาและหาทางเพิ่มสภาพคล่องเพื่อต่ออายุของกองทุนประกันสังคมสหรัฐในอนาคต และกล่าวในแถลงการณ์ว่า “แม้ว่ารายงานการปรับประมาณการฟื้นตัวถือเป็นข่าวดีสำหรับชาวอเมริกันหลายล้านคนที่พึ่งพาสวัสดิการสังคม รวมถึงผู้สูงอายุประมาณ 50% ที่สวัสดิการสังคมช่วยให้พวกเขามีชีวิตรอดต่อไปได้”

“การขจัดปัญหาการขาดดุลนี้ จะช่วยสร้างความสบายใจให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ประกันสังคมกว่า 70 ล้านคน แรงงาน 180 ล้านคนและครอบครัวของพวกเขาที่จ่ายเงินเข้าประกันสังคม รวมถึงคนทั้งประเทศ"

การสำรวจ AARP เผยความว่าชาวอเมริกันที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เกือบ 90%กังวลว่าสวัสดิการประกันสังคมและ Medicare จะถูกตัด และต้องการให้พรรคเดโมแครตและรีพับลิกันร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการเงินของโครงการนี้ด้วยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้จุดชนวนให้เกิดการถกเถียงทางการเมืองเกี่ยวกับอนาคตของโครงการประกันสังคมอีกครั้ง โดยพรรครีพับลิกัน เสนอให้เพิ่มอายุเกษียณ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนงานปัจจุบันหลายล้านคน ด้านอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เสนอให้มีการลดหย่อนประกันสังคมและเมดิแคร์

กองทุนประกันสังคมไทยเสี่ยงล้มในอีก 30 ปี

ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมของไทยมีมูลสูงถึง 2,345,866 ล้านบาท เรียกได้ว่าสูงถึง 13-14% ของ GDP 17.9 ล้านล้านบาท ซึ่งจะถูกแบ่งออกไป 4 หมวดตามสิทธิประโยชน์ได้แก่  กองทุน 2 กรณี (ชราภาพ สงเคราะห์บุตร)  86.06%, กองทุนว่างงาน 6.8%, กองทุน 4 กรณี (เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ตลอดบุตร) และ กองทุนมาตรา 0.91%

ขณะเดียวกัน กองทุนประกันสังคมของ “ไทย” เองก็กำลังมีปัญหาทางการเงิน โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่ากองทุนประกันสังคมไทยมีความเสี่ยงที่จะไม่เพียงพอจ่ายสวัสดิการให้กับผู้ประกันตนในอนาคต “ในอีก 30 ปีข้างหน้า” ซึ่งก็เป็นปัญหาทางโครงสร้างประชากรศาสตร์ที่คล้ายกับสหรัฐ คือ ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย แต่วัยทำงานน้อยลง ผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำนำไปสู่การการบริหารจัดการ “สภาพคล่อง”ของกองทุนมีข้อจำกัด

ด้านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เคยตอบกระทู้ถามของ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในประเด็นนี้ โดยไม่ได้ปฏิเสธว่าถ้าไม่มีการแก้ไข หลังปี 2597 แนวโน้มบัญชีขาดดุล ขาดทุนในทุกๆ ปี แต่วันนี้เรายังมั่นใจว่า กองทุนประกันสังคมยังไม่มีความเสี่ยง พร้อมเสนอแนวทางออกว่า หลังจากปี 2568 เป็นต้นไปจะต้องนำกองทุนประกันสังคมไปหาดอกผลให้ได้ไม่น้อยกว่า 5%

ทั้งนี้ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ. กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว ถึง 4 วิธีการแก้ปัญหาฐานะทางการเงินของกองทุนประกันสังคมคือ 1.ปรับเพดานค่าจ้างเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณจ่ายเงินสมทบ

2.เพิ่มอายุผู้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญจากกองทุนชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปีอย่างค่อยเป็นค่อยไป

3.ศึกษาถึงความจำเป็นต้องเพิ่มอัตราจ่ายเงินสมทบทั้งส่วนของนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาลเพื่อให้รายรับเพียงพอต่อรายจ่าย

4.ลดการแทรกแซงทางการเมือง ลดการใช้นโยบายประชานิยม