'สภาพแวดล้อมปลอดภัย-ดีต่อสุขภาพ' สิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับแรงงานทุกคน

'สภาพแวดล้อมปลอดภัย-ดีต่อสุขภาพ' สิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับแรงงานทุกคน

ทุกปีของวันที่ 28 เมษายน ถือเป็น 'วันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล' ซึ่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เริ่มให้มีการกําหนดวันความปลอดภัยฯ เมื่อปี 2545 เพื่อการรณรงค์ส่งเสริมแนวคิดในการสร้างและก่อให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างยั่งยืน

Keypoint:

  • วันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล รณรงค์เพื่อสร้างความยั่งยืนในการทำงาน พร้อมทั้งระลึกถึงแรงงานผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนานาชาติ
  • การมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับแรงงาน
  • เมื่อแรงงานรู้สึกปลอดภัยและมีสุขภาพดีในที่ทำงาน แรงงานมีแนวโน้มจะสร้างผลิตภาพและประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น

แนวคิดดังกล่าว เพื่อเป็นวันที่มีการระลึกถึงแรงงาน ซึ่งบรรดาแรงงานในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาได้ริเริ่มขึ้นเมื่อปี2532 เพื่อรําลึกถึงคนงานที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ โดยกําหนดให้เป็นวันที่ 28 เมษายนของทุกปีสหพันธ์สหภาพแรงงานเสรีนานาชาติ และสมาพันธ์สหภาพแรงงานโลก ได้ขยายผลของกิจกรรมนี้ในระดับโลก

โดยได้เน้นการรณรงค์เพื่อความยั่งยืนในการทํางาน เป็นวันระลึกถึงแรงงานผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนานาชาติ (International Commemoration Day for Dead and Injured Workers) ได้กลายเป็นวันสําคัญในประเทศต่างๆ มากกว่า 100 ประเทศ จึงนับว่าวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล

ทั้งนี้ เพื่อการฉลองวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล ชิโฮโกะ อาซาดะ มิยากาวะ ผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ชี้ให้เห็นว่าการมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับแรงงานเป็นเรื่องสำคัญ และมีสิ่งใดบ้างที่เราสามารถทำให้สิทธิดังกล่าวเกิดขึ้นจริงได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

แนวโน้มจ้างงานในไทยปี 66 พุ่ง เช็ก 3 สายงานที่ตลาดแรงงานต้องการ

ปี 66 ปีทองตลาดผู้สมัครงาน แนะผู้ประกอบการปรับตัวก่อนขาดบุคลากร

'HR' ยุคใหม่ เร่งเฟ้นหา คนทักษะไอที ตอบโจทย์องค์กร

"มนุษย์เงินเดือน"แบบไหนที่ "องค์กร" ต้องการ "จ้างงาน" มากที่สุด?

 

อุบัติเหตุ-ความสูญเสียเกิดขึ้นต่อแรงงานทุกวัน

เป็นเวลาสิบปีแล้วที่เกิดเหตุโศกนาฎกรรม อาคารรานา พลาซ่า (Rana Plaza) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงธากา ประเทศบังกลาเทศถล่ม ในวันนั้นมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,132 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าและผู้บาดเจ็บกว่า 2,500 คน

โศกนาฎกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจทั่วโลกและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ในขณะที่หายนะเช่น Rana Plaza เป็นข่าวใหญ่ อุบัติเหตุและการเสียชีวิตยังคงเกิดขึ้นในที่ทำงานทั่วทุกประเทศทุกวัน

อันที่จริงแล้ว ในทุกๆปี มีผู้หญิงและผู้ชายราว 2.9 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตจากอุบัติเหตุหรือโรคจากการทำงานซึ่งหมายความว่า จะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 8,000 คนต่อวัน

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้นมีมูลค่ามหาศาล ทั้งในแง่ของความโศกเศร้าและความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นต่อบุคคล ตลอดจนความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้ดำเนินการครั้งสำคัญเมื่อมีการพิจารณาให้การมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐานภายใต้ปฏิญญาว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน

 

ทำไม?เรื่องสภาพแวดล้อมในที่ทำงานจึงสำคัญ

เรื่องนี้สำคัญก็เพราะว่าในวันนี้ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยไม่ใช่เรื่องที่เป็นตัวเลือกอีกต่อไปแล้ว ประเทศสมาชิกของ ไอแอลโอ ทั้งหมด 186 ประเทศมีพันธกรณีที่ต้องเคารพ ส่งเสริม และบรรลุการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและที่ดีต่อสุขภาพในฐานะหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน โดยไม่คำนึงว่าประเทศสมาชิกจะให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและอาชีวอนามัยหรือไม่

ประการแรกและสำคัญที่สุด ไอแอลโอ ตระหนักว่าแรงงานทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากอันตรายและความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บ เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตในที่ทำงาน

โดยการกำหนดให้ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (OSH) เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไอแอลโอ กำลังสร้างความเข้าใจกับรัฐบาลและนายจ้างถึงหน้าที่และความรับผิดชอบในการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพสำหรับแรงงานทุกคน

จากการวิเคราะห์ต้นทุนและประโยชน์ที่จัดทำขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยสำนักงานเลขาธิการอาเซียนว่าด้วยความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานในภาคการก่อสร้างพบว่าการคุ้มครองสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงานไม่ใช่เพียงแค่ความจำเป็นทางคุณธรรม แต่เป็นเรื่องของการดำเนินธุรกิจที่ดีด้วยเช่นกัน

เมื่อแรงงานรู้สึกปลอดภัยและมีสุขภาพดีในที่ทำงาน แรงงานมีแนวโน้มจะสร้างผลิตภาพและประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อแรงงาน นายจ้าง ตลอดจนเศรษฐกิจในวงกว้าง ในทางกลับกัน เมื่อแรงงานได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยเนื่องจากอันตรายจากการทำงาน อาจส่งผลเสียอย่างมากต่อผลิตภาพแรงงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

"การกำหนดให้ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคมและความเท่าเทียม สิ่งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะต่อแรงงานในชุมชนชายขอบซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่ออันตรายจากการทำงานที่สูงกว่า เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความยากจน การเลือกปฏิบัติ และการขาดการเข้าถึงการศึกษา การอบรม และการบริการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน"

นอกจากนี้ยังมีความสำคัญในแง่ของการทำให้เกิดการปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานซึ่งจะนำไปสู่สภาพการทำงานที่ดีขึ้นและผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีขึ้นสำหรับแรงงานตามลำดับ

ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ความก้าวหน้าในการดำเนินการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยเกิดขึ้นในหลายด้าน มีการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานหลายฉบับ ในขณะเดียวกันมีนโยบาย กฎหมาย และโครงการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยระดับชาติเกิดขึ้นใหม่ทั่วทั้งภูมิภาค มีการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อรับรองว่าว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เช่น มีความพยายามเข้าถึงแรงงานที่ทำงานด้านสุขาภิบาลและการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ (recycle) ในภูมิภาคเอเชียใต้ รวมถึงวิสาหกิจขนาดเล็กที่สุดและแรงงานนอกระบบในกลุ่มประเทศอาเซียน นอกจากนี้ มีการยกระดับศักยภาพของพนักงานตรวจแรงงานที่เป็นด่านหน้าในการดำเนินงานในการรับรองว่าสถานที่ทำงานมีความปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมที่สำคัญซึ่งต้องได้รับการชื่นชมและสนับสนุน อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานเกิดขึ้นจริงในชีวิตการทำงานประจำวันสำหรับแรงงานทุกคน จึงต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานเรื่องอื่นๆ ของไอแอลโอ ซึ่งได้แก่ เสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วมกัน การขจัดแรงงานบังคับและแรงงานเด็ก ตลอดจนการยุติการเลือกปฏิบัติในโลกของการทำงาน

สร้างการส่วนร่วม-วัฒนธรรมเชิงป้องกันในที่ทำงาน

การมีส่วนร่วมของทั้งนายจ้างและลูกจ้างผ่านการเจรจาทางสังคมและความร่วมมือในสถานที่ทำงานเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อสร้างวัฒนธรรมเชิงป้องกันด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่ดีในการทำงาน

เสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วมกันช่วยให้แรงงานจัดตั้งและเจรจาต่อรองเพื่อสภาพการทำงานที่ดีขึ้น รวมถึงความปลอดภัยและสุขภาพ หากไม่มีสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานต่างๆ เหล่านี้ แรงงานอาจไม่สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้กับตนเองได้ และอาจเสี่ยงต่อการถูกแสวงหาประโยชน์และการปฏิบัติมิชอบ

สหภาพแรงงาน มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ในการเป็นกระบอกเสียงให้กับแรงงาน ตลอดจนจัดฝึกอบรมแรงงานในเรื่องความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานเบื้องต้น

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานในสถานประกอบการ เช่น คณะกรรมการฯ ที่จัดตั้งขึ้นในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในอินโดนีเซีย รวมถึงภาคอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในบังคลาเทศ เปิดโอกาสให้แรงงานและนายจ้างสามารถร่วมกันจัดการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยและสุขภาพโดยเท่าเทียมกัน

การใช้แรงงานบังคับและการใช้แรงงานเด็ก ตลอดจนการเลือกปฏิบัติในเรื่องเพศ อายุ สถานะของแรงงานข้ามชาติ การจ้างงาน และการประกอบอาชีพล้วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับความปลอดภัยและสุขภาพในสถานที่ทำงาน เว้นแต่ปัญหาเหล่านี้จะได้รับการจัดการแก้ไขไปพร้อมกัน ผู้ชาย ผู้หญิง ผู้สูงอายุ เยาวชน และผู้ที่มีความเปราะบาง ก็ยังคงเผชิญกับสภาพการทำงานที่อันตราย ซึ่งอุบัติเหตุเป็นเรื่องที่พบได้โดยทั่วไปและการคุ้มครองทางสังคมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก

สภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและที่ดีต่อสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับแรงงานทุกคน รัฐบาล นายจ้าง สหภาพแรงงาน ตลอดจนบริษัทต่างๆ ในทุกระดับของห่วงโซ่อุปทานต้องทำงานร่วมกันเพื่อทำให้สิทธิแรงงานดังกล่าวเกิดขึ้นจริง

"เราทุกคนสามารถสร้างให้สิทธิแรงงานดังกล่าวเกิดขึ้นได้ผ่านความมุ่งมั่นร่วมกัน ความพยายามร่วมกัน และใช้วิธีการดำเนินการแบบองค์รวม ซึ่งเป็นแนวทางที่ตระหนักและส่งเสริมสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานและช่วยสร้างความยุติธรรมทางสังคมและงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน"