"มนุษย์เงินเดือน"แบบไหนที่ "องค์กร" ต้องการ "จ้างงาน" มากที่สุด?

"มนุษย์เงินเดือน"แบบไหนที่ "องค์กร" ต้องการ "จ้างงาน" มากที่สุด?

มนุษย์เงินเดือนต้องรู้! ลักษณะของพนักงานใน 8 รูปแบบที่ถูกมองว่าหายาก แต่องค์กรมีความต้องการสูง และดูมีอนาคตสดใสในตลาดแรงงาน

สถานการณ์ในปีนี้นักวิเคราะห์หลายสำนักต่างคาดการณ์ถึงสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ส่งผลถึงตลาดแรงงาน ในหลายรูปแบบ เช่น การที่หลายธุรกิจก็ไม่กล้าเสี่ยงที่จะจ้างพนักงานจำนวนมากๆในระยะยาว, การ Lay-Off พนักงานในกลุ่มงานที่ไม่สร้างรายได้ ขณะที่ฝั่งแรงงานก็เกิดภาวะ Quiet Quitting ที่ยังรักษางานเอาไว้ หากแต่ไม่ขอทำเกินหน้าที่ เพราะทำไปก็ไม่ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น

แม้สภาวะทั้งหมดจะไม่ค่อยเป็นใจกับมนุษย์เงินเดือนมากนัก แต่ถึงเช่นนั้นก็ต้องยอมรับว่าในทุกๆสถานการณ์ ยังมีมนุษย์เงินเดือนจำนวนไม่น้อยที่ย้ายงานเป็นเวลาเล่น เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก แถมยังมีแนวโน้มจะได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น ทำตัวราวกับไม่สะทกสะท้าน และพร้อมจะย้ายงานตามที่ปรารถนา

กลุ่มคนที่ว่านี้ถ้าไม่คอนเนคชั่นแน่นปึ๊ก ก็ต้องมองได้ว่า พวกเขาคือบุคคลที่มีความสามารถ และความสามารถหรือทักษะแบบไหนซึ่งเป็นที่ต้องการตลาดก็มีการวิเคราะห์ในหลายรูปแบบ ซึ่ง บทความหนึ่งในเว็ปไซต์ CNBC ที่ชื่อ The 8 ‘rarest’ types of employees ซึ่งเขียนโดย Catherine Kaputa ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดแรงงานและการสร้างแบรนด์ก็ได้ยกตัวอย่างไว้น่าสนใจ

เธอ ยกตัวอย่างว่า จุดแข็งของการเป็นพนักงานในตลาดแรงงานก็เปรียบเสมือนการมีแบรนด์ของตัวเอง และสิ่งนั้นก็เป็นรากฐานที่จะสร้างความสนใจให้กับผู้จ้าง และเป็นรากฐานแห่งความสำเร็จกับการทำงานในองค์กร

ขณะที่ลักษณะของพนักงานที่หายากแต่เป็นคนประเภทที่องค์กรส่วนใหญ่มองหานั้น ยกตัวอย่างเป็นประเภท ประกอบไปด้วย

1.ประเภทพนักงานที่เป็น The Innovator หรือการเป็นผู้ริเริ่ม โดยลักษณะของคนประเภทนี้ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นนักประดิษฐ์หรือต้องเป็นบุคลากรสาย Tech แต่เพียงอย่างเดียว แต่การเป็นผู้ริเริ่มหมายถึงการเห็นโอกาสที่จะทำอะไรใหม่ ๆ ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตหรือความเปลี่ยนแปลง โดยที่คนกลุ่มนี้มักจะเป็นคนแรกที่ถามว่า “"จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราลองทำวิธีนี้ด้วยวิธีอื่น" และแสดงออกถึงการทำอะไรใหม่ๆอย่างสร้างสรรค์คนบนรากฐานที่ดี

2. ประเภทพนักงานที่เป็น Leadership หรือการที่มีความเป็นผู้นำ โดยลักษณะเด่นของคนประเภทนี้จะช่วยกระตุ้นให้ทีมบรรลุถึงเป้าหมายได้ พร้อมจะสามารถแก้ปัญหาที่สลับซับซ้อนได้อย่างมีแบบแผน สามารถคิดในภาพใหญ่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับโลกปัจจุบันที่ทุกธุรกิจมีความซับซ้อน และต้องใช้มุมมองในแต่ละแบบเพื่อวิเคราะห์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น

3.ประเภทพนักงานที่มีลักษณะ The Maverick นิยามได้ว่ามีความอิสระ ไม่ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ดราม่ากับอะไรที่ไม่จำเป็น โดยคนลักษณะนี้จะมั่นใจที่จะเดินไปตามเส้นทางของตัวเอง มีการปรับตัวที่หลากหลายตามแต่สถานการณ์ เช่น เขาอาจจะเป็นคนที่แข็งและพร้อมจะพุ่งชน พร้อมจะก้าวร้าวหากต้องบุกตะลุย แต่ขณะเดียวก็เปิดเผย มีชีวิตชีวา ปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ได้

4. ลักษณะของพนักงานแบบ The Engineer ซึ่งไม่ได้จำกัดความว่าต้องเป็นอาชีพวิศวกรเพียงอย่างเดียว แต่ลักษณะของมนุษย์งานแบบนี้คือพวกเขามักใช้เวลาศึกษากับแนวคิดหรือกระบวนการต่างๆที่จะทำให้งานดีขึ้น เป็นคนละเอียดรอบคอบ มีขั้นตอนในการคิด แก้ปัญหา ลงมือทำได้จริง

5. ลักษณะของ Expert หรือการเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ โดยข้อนี้ก็ค่อนข้างชัดเจนว่า พนักงานที่ดีต้องหลงใหลในสิ่งที่ตัวเองทำ ไม่พลาดต่อการค้นคว้าโครงการ การวิจัย การรับรอง การฝึกงาน พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ สามารถเป็นที่พึ่งพาของเพื่อนร่วมงานหรือองค์กรที่สังกัดอยู่ได้

6. The Target Marketer หรือการเป็นนักการตลาดที่เข้าใจกลุ่มเป้าหมายในสิ่งที่ตัวเองทำ ลองคิดดูว่า หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ผลิตผลงานสักชิ้น การมีไอเดียใหม่ หรือการมีบริการที่ทำให้ลูกค้าของคุณพอใจคือสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ นักการตลาดที่รู้กลุ่มเป้าหมายของตัวเองจะทำให้แบรนด์ของเราอยู่ในใจผู้ใช้ สามารถทำให้สินค้ารู้จักผู้ใช้ และสามารถแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้ได้ดีกว่าคู่แข่งในตลาด

7. การเป็น The Elite ซึ่งหมายถึงการพยายามรักษามาตรฐานของงานให้อยู่ในระดับ Top อยู่เสมอ ซึ่งในประเด็นนี้มีตั้งแต่การรักษาระดับความสามารถ รักษาระดับความสัมพันธ์ในสายงาน มีความนับถือตัวเอง ทะเยอทะยานและมุ่งมั่น รู้สึกภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ

8.การเป็น The Cause ซึ่งหมายถึง การรู้สาเหตุ รู้ว่าอะไรจะช่วยผลักดันสิ่งต่างๆให้ดีขึ้นได้ อะไรคือปัญหาที่ต้องรับการแก้ไขที่เร่งด่วนที่สุด และอะไรสำคัญรองลงมา

ถึงตรงนี้อย่าลืมว่า ในโลกแห่งการทำงานทั้งองค์กรและเราต่างเป็นผู้เลือกซึ่งกันและกัน คำถามจึงอยู่ที่ว่าอะไรที่ทำให้เราโดดเด่นจนมีคนอยากร่วมงาน ซึ่งคำตอบแบบที่เราเคยได้ยินมาตลอดคือการเป็นคนเก่ง ซึ่งคำตอบนั้นอาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่องค์กรนึกถึงต่อไป

อ้างอิง : CNBC