รัฐจัดงบรับสังคมสูงวัย เพิ่มสิทธิประกันสังคม จ้างงานผู้สูงอายุ

รัฐจัดงบรับสังคมสูงวัย เพิ่มสิทธิประกันสังคม จ้างงานผู้สูงอายุ

ภาครัฐเตรียมงบประมาณปี 66 รองรับผู้สูงอายุ 438 กว่าล้านบาท ผู้ประกันตนม.33 เดือนก.พ.66 มี 11.66 ล้านคน ว่างงาน 1.8 แสนคน เลิกจ้าง 3.1 หมื่นคน นักวิชาการ เผยกำลังเข้าสู่สึนามิสูงวัย รัฐอุดหนุนเบี้ยยังชีพ ดูแลผู้สูงอายุไม่เท่าเทียม

Keypoint:

  • ไทยกำลังเข้าสู่คลื่นสึนามิสูงอายุ สัดส่วนวัยแรงงาน:ผู้สูงอายุ:เด็ก อยู่ที่ 4:1:1  อนาคตวัยแรงงานจะแบกภาระมากขึ้น 
  • ผู้สูงอายุในไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาวะพึ่งพิง มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก เบี้ยยังชีพจากนโยบายต่าง ๆ เมื่อเฉลี่ยต่อหัวต่างกันมาก ไม่มีความเท่าเทียม
  • ประกันสังคมปรับปรุงนโยบาย เพิ่มสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม สวัสดิการแก่แรงงานขยายช่วยดูแลสูงวัย พร้อมจ้างงานผู้สูงอายุมากขึ้น

ประเทศไทยเข้าสู่ 'สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์' (complete aged society) โดยมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี กว่า 12.9 ล้านคน หรือ 20% จากประชากรทั้งหมด โดยการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ได้สร้างผลกระทบในระดับบุคคล

โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยแรงงานที่มีภาระดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศมีสัดส่วนของวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุต่อเด็ก อยู่ที่ 4: 1: 1 และคาดว่าในปี 2579 จะปรับลงไปอยู่ที่ 2:1:1

ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่มีสภาวะขาดเงินออม มีเงินไม่เพียงพอสำหรับการเกษียณ และใช้จ่ายในช่วงบั้นปลายชีวิต เป็นข้อจำกัดของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนั้นเมื่อสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น เด็กเกิดใหม่น้อยลง และวัยทำงานเท่าเดิม หรือลดลง ส่งผลให้ค่าแรงสูงขึ้น หรือขาดแคลนแรงงานทำให้ต้องพึ่งเครื่องมือเครื่องจักร หรือนำเทคโนโลยี หรืออาจต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เช็กสิ่งที่ควรทำ - หลีกเลี่ยงในช่วงหน้าร้อน เรื่องที่ทุกคนควรรู้

หน้าร้อนระวัง ‘ฮีทสโตรก' ยาไทยคลายร้อนผู้สูงอายุ

ส่องนโยบายสูงวัย '10พรรคการเมือง' ชูสวัสดิการ ดันความมั่นคงวัยเกษียณ

ไอเดีย'ของขวัญ-ของฝาก'ดีต่อใจให้ผู้สูงอายุ ญาติผู้ใหญ่ในช่วงสงกรานต์

 

การจ้างงาน-เลิกจ้างงานต้นปี 66

สำนักงานสถิติแห่งชาติ และกองวิจัยและพัฒนา สำนักงานประกันสังคม เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน ก.พ.2566 ระบุว่า

  • การจ้างงาน ผู้ประกันตนม. 33 มีจำนวน 11.66 ล้านคน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.27 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา
  • การว่างงานในระบบประกันสังคม มีจำนวน 189,287 คน คน ลดลงร้อยละ -16.79 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา
  • การเลิกจ้างในระบบประกันสังคม มีจำนวน 31,441 คน ลดลงร้อยละ -33.67 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยอัตราการเลิกจ้างของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างของระบบประกันสังคมอยู่ที่ร้อยละ 0.27

รัฐจัดงบรับสังคมสูงวัย เพิ่มสิทธิประกันสังคม จ้างงานผู้สูงอายุ

สัญญาณเตือนภัยด้านแรงงาน มีค่าเท่ากับ 0.08 และอยู่ในเกณฑ์ปกติโดยการว่างงานเดือน มี.ค. และ เม.ย. 2566 คาดการณ์ว่าจะลดลง 30,047 คน (-9.83%) และ 25,239 คน (-11.14%) จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ และการเลิกจ้างเดือน มี.ค. และ เม.ย. 2566 คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 12,962 คน (22.47%) และเพิ่มขึ้น 29,479 คน (90.23%) จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

 

เตรียมงบรองรับสังคมสูงวัย 438กว่าล้านบาท

ด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นและวัยแรงงานลดลง  ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนได้มีการตั้งรับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรสูงอายุ ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการจัดสวัสดิการสังคมให้กับผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างที่พึงได้รับ

โดยสิ่งที่ภาครัฐได้เตรียมรองรับโดยการสร้างสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม ส่งเสริมการแผนการเงิน และสุขภาพหลังเกษียณ สร้างความมั่นคงทางรายได้ไม่ให้เหลื่อมล้ำ เพื่อสร้างสังคมสูงวัยที่เป็นธรรม และเท่าเทียม จัดสวัสดิการถ้วนหน้า และส่งเสริมอาชีพ

พร้อมทั้งจัดทำเป็นแผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ปีงบประมาณ 2566 จำนวน 438.4192 ล้านบาท(ข้อมูล ณ วันที่ 6 ต.ค.2565) ซึ่งจัดสรรให้แก่กระทรวงกระทรวงแรงงาน จำนวน 1.9872 ล้านบาท ในส่วนของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งมีโครงการส่งเสริมสวัสดิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเกษียณอย่างมีคุณภาพของประชากรวัยแรงงาน อายุ 25- 59 ปี

นอกจากนั้น สำนักงานประกันสังคม อัพเดทจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม เดือนมกราคม 2566 รวมทั้งหมด 24,386,011 คน แบ่งเป็น มาตรา 33 ลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการที่มีนายจ้าง จำนวน 11,618,874 คน ผู้ประกันตนมาตรา 39 เคยเป็นผู้ประกันตน มาตรา33 ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 12 เดือน ลาออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 1,876,354 คน และผู้ประกันตนมาตรา 40 ผู้ประกอบอาชีพอิสระ จำนวน10,890,783 คน

สึนามิผู้สูงอายุ ดูแลไม่เท่าเทียม

ดร.ณปภัช สัจนวกุล อาจารย์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยในการก้าวสู่สังคมสูงวัยจะรุนแรงและรวดเร็วมากเมื่อเทียบกับชาติตะวันตกที่ใช้เวลากว่า100 ปีในการเปลี่ยนผ่าน เพราะบ้านเราใช้เวลาเพียง 17 ปีเท่านั้น (ปี 2548 – 2565) สาเหตุเพราะคนไทยมีอัตราการเกิดน้อย คุมกำเนิดได้ดี และอายุคนยืนยาวขึ้น

“คลื่นสึนามิประชากรที่เป็นคลื่นลูกใหญ่ในขณะนี้ เป็นกลุ่มประชากรที่เกิดในช่วง 2506 – 2526 ซึ่งเป็นช่วงปีที่มีอัตราการเกิดมากกว่า 1ล้านคนต่อปี จึงจะส่งผลให้ใน 20 กว่าปีข้างหน้า ผู้สูงอายุจะเพิ่มจาก 12 ล้านคน เป็น 21 ล้านคน และผู้สูงอายุปลาย 80 ปีขึ้นไป จะเพิ่มจาก 1.4 ล้านคน เป็น 3.4 ล้านคน” ดร.ณปภัช กล่าว

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุในไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาวะพึ่งพิง โดยเฉพาะความมั่นคงทางรายได้ที่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก เนื่องจากงบประมาณเบี้ยยังชีพจากนโยบายต่าง ๆ เมื่อเฉลี่ยต่อหัวแล้วต่างกันมาก

อาทิ ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพ 9.6 ล้านคน ใช้งบประมาณไป 8 หมื่นล้านบาท ผู้สูงอายุที่ได้รับบำเหน็จ 8 แสนกว่าคน ใช้งบประมาณไปมากถึง 3 แสนล้านบาท และกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ 5.9 แสนคน ใช้งบประมาณเพียง 2 หมื่นกว่าล้านบาทเท่านั้น อีกทั้งยังมีผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในระบบของภาครัฐเกินกว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุทั้งหมด

“สูงวัยที่เป็นธรรมและเท่าเทียม เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องอยู่ในอุดมการณ์ของการออกแบบนโยบายที่รัฐควรจะทำ วันนี้มีการพูดถึงเเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุ ต้องพยายามทำให้เบี้ยยังชีพความมั่นคงทางรายได้ให้เป็นสิทธิแทนการสงเคราะห์ ต้องทบทวนว่าให้แล้วดีต่อประชาชนอย่างไร”ดร.ณปภัช กล่าว

ปรับปรุงประกันสังคมรองรับสูงวัย

ด้านกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่าแนวทางของประกันสังคมในการช่วยเหลือผู้ประกันตน ลูกจ้างและนายจ้าง ในปี 2566 นั้น มี 3 ประเด็นหลักใหญ่ๆ คือ

1.เพิ่มสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม เพื่อให้ผู้ประกันตนได้มีหลักประกันทางสังคมและได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น และผู้ประกันตนสูงอายุได้รับโอกาสในการทำงานที่เหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน โดยการปรับปรุง พ.ร.บ. ประกันสังคม ฉบับที่ … พ.ศ. … เพื่อขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตนเพื่อรองรับผู้สูงอายุ แก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ

รวมทั้งจะเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์อื่น ๆ อาทิ ปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์การหยุดงาน เพื่อการคลอดบุตร จากเดิมจ่าย 90 วัน เป็น 98 วัน เงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีทุพพลภาพ จากเดิมจ่าย ร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 70 กรณีสงเคราะห์บุตรให้ได้รับการคุ้มครองต่อไปอีก 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน และ ปรับปรุงเงื่อนไขในการสมัคร และกำหนดให้เงินเพิ่มของผู้ประกันตนมาตรา 39 เป็นต้น

2. ยกระดับการบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก โดยปรับปรุงรายการสุขภาพ ได้แก่ ขยายช่วงอายุ เพิ่มความถี่ในการตรวจ เพิ่มรายการตรวจ สุขภาพ พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพรายบุคคล ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเชิงรุก และการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

3. พัฒนาและเพิ่มช่องทางรับเงินสมทบ โดยจะมีการจ่ายประโยชน์ทดแทนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเตรียมแผนรองรับสังคมสูงวัยอย่างต่อเนื่องมีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งสังคมสูงวัยไม่ใช่เพียงเรื่องของคนสูงวัย แต่เป็นเรื่องของคนทุกวัย โดยต้องสร้างความตระหนักในกลุ่มคนวัยทำงานถึงความสำคัญของการออมเงิน และการเตรียมตัวเองสู่การเป็นผู้สูงอายุและอยู่ในสังคมสูงวัย อีกทั้งสร้างทัศนคติใหม่ให้มองผู้สูงอายุเป็นทุนทางสังคมและเป็นผู้มีศักยภาพหากได้รับการส่งเสริมโอกาส