เปิด ‘12 เมกะเทรนด์’ พลิกโฉมอีคอมเมิร์ซ ปี 2566

เปิด ‘12 เมกะเทรนด์’ พลิกโฉมอีคอมเมิร์ซ ปี 2566

ภาพอีคอมเมิร์ซประเทศไทย เดินเข้าสู่ระบบการขายของออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบหลัง “โควิด-19” พลิกกฎทุกอย่างไปสิ้นเชิง เปิด ‘12 เมกะเทรนด์’ ที่จะพลิกโฉมอีคอมเมิร์ซ ปี 2566

“ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซไทย เล่าถึงเทรนด์ปี 2566 อีคอมเมิร์ซ จะเปลี่ยนทั้งเเพลตฟอร์มการให้บริการ เทคโนโลยี เเละโอกาสใหม่ๆ ที่คนทำธุรกิจต้องเตรียมพร้อม

เขาสรุป 12 เทรนด์อีคอมเมิร์ซไทยที่จะเกิดขึ้นปีหน้า เริ่มที่จาก

1.มูลค่าค้าออนไลน์ขยับขึ้นรับการฟื้นตัวท่องเที่ยว คาดปี 2566 อีคอมเมิร์ซไทยน่าจะกลับเป็นบวกเต็มที่ ประกอบกับ โมเมนตัมของธุรกิจเข้าสู่ออนไลน์เต็มรูปเเบบ บริการอีคอมเมิร์ซมองได้หลากหลายมิติ ทั้ง Food Delivery, Online Grocery, Travel, On Demand Content นี่คือองค์ประกอบบริการที่ผู้บริโภคนิยมจ่ายเงินให้บริการอีคอมเมิร์ซซึ่งไม่ใช่แค่สินค้าที่จับต้องได้ แต่คือเรื่องบริการด้วย

เทรนด์ที่ 2 สงครามอี-มาร์เก็ตเพลสกำลังจะจบลง

ไม่ว่าลาซาด้า หรือ ช้อปปี้เริ่มเน้น Growth ใช้เงินลงทุนให้ตัวเองเติบโตปรับสู่ธุรกิจเพื่อทำกำไรชัดเจน เช่น ลาซาด้าปีนี้ และปีก่อนหน้าทำกำไรได้แล้ว เเละใช้เงินทำตลาดน้อยลง ขณะที่เริ่มโฟกัสที่การสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เห็นจากเริ่มเก็บเงินจากลูกค้าเเละร้านค้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งปรับเพิ่มค่าบริการ

ธุรกิจของลาซาด้าไม่อาจมองแค่บริการอี-มาร์เก็ตเพลส หากต้องมองฝั่ง ลาซาด้า เพย์, ลาซาด้า เอ็กซ์เพรสหรือบริการดิจิทัลอื่นๆ จะพบว่ารายได้ทั้งหมดของลาซาด้าปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 38,000 กว่าล้านบาท มีกำไรประมาณ 3,200 กว่าล้านบาทกำไรหลัก คือ ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส หรือบริการขนส่งนั่นเอง

ส่วนช้อปปี้ยังขาดทุนปี 2564 ช้อปปี้ขาดทุน4,900 กว่าล้านบาท ขาดทุนสะสมติดต่อ 7 ปีธุรกิจหลักมีช้อปปี้ เอ็กซ์เพรสเมื่อมองภาพรวมธุรกิจช้อปปี้การขาดทุนยังสูงอยู่ แต่รายได้ของทั้งกลุ่มมีมูลค่าเกือบ 43,000 ล้านบาท

"เห็นได้ชัดว่าปีที่แล้ว ช้อปปี้มุ่งเติบโตทางธุรกิจ (Growth) มากกว่าการทำกำไร แต่เมื่อดูข้อมูลช้อปปี้ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีการปรับโครงสร้างเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ค่อนข้างถดถอย เงินเฟ้อ ฯลฯมีปัญหาเรื่องการระดมเงินจากนักลงทุนจึงเริ่มเน้นกลยุทธ์ทำกำไรมากขึ้น เริ่มจากการลดคน ปิดบริการในแต่ละประเทศที่ไม่ทำกำไร"

สิ่งที่เริ่มสะท้อนอย่างเห็นได้ชัด คือมหกรรม 11.11ค่อนข้างซบเซา อีมาร์เก็ตเพลสใช้เงินน้อยลง ร้านค้าขายของได้น้อยลงกว่าเดิมมากสงครามของการใช้เงินถล่มกันเริ่มลดน้อยลง

“ที่สำคัญอีมาร์เก็ตเพลสไทย กลายเป็นสมรภูมิเเข่งขันต่างชาติเกือบ 100% แต่เรายังมีอี-มาร์เก็ตเพลสของไทยอยู่บ้าง เช่น ShopAt24 ในเครือ CP All ที่ยังทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องรายได้ในปี 64 มีมูลค่า 11,000 กว่าล้านบาท และมีกำไรอยู่ประมาณ 400 กว่าล้านบาทเลยทีเดียว”

เทรนด์ที่ 3 สินค้าจีนบุกไทยเต็มสูบ

หลายปีที่ผ่านมา ไทยมีผู้ให้บริการนำสินค้าจากจีนเข้ามาจำนวนมาก อินฟราสตรัคเจอร์ของจีนเริ่มเชื่อมต่อเข้ามาในไทยต่อเนื่อง ไม่ว่าจะทางรถ ทางราง ทางน้ำ เอื้อต่อผู้ให้บริการสามารถส่งสินค้าจากจีนเข้ามาไทยได้ในไม่กี่วันบางรายมีบริการแวร์เฮ้าส์

 ซึ่งในตอนนี้ผู้ผลิตผู้นำเข้าสินค้าจีนต่างยกขบวนมาตั้ง warehouse ในประเทศไทย ในพื้นที่รอบ ๆ กรุงเทพ และเริ่มใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางที่จะขายสินค้าตรง จากสินค้าใน Warehouse ในไทยตรงสู่ผู้บริโภค ซึ่งเห็นได้ชัดว่าสินค้ามีราคาถูกลงมาก และเราจะได้เห็นกองทัพสินค้าจากจีนถูกส่งเข้ามาอย่างต่อเนื่องมากขึ้น

สินค้าจีนที่เข้ามาก็มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่ดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย มีการเสียภาษี ผ่านขั้นตอนชัดเจน แต่ก็มีบางส่วนที่ยังผิดกฎหมายขณะที่ผู้ประกอบการไทย ต้องมีมาตรฐานการผลิตของโรงงาน การควบคุมคุณภาพให้ผ่านมาตรฐาน มอก.หรือ สคบ. มีการจ้างคนเเละขั้นตอนการผลิตต่างๆ ทำให้มีต้นทุนที่สูงกว่า เเละกลายเป็นความเสียเปรียบของคนไทย ซึ่งภาครัฐควรต้องควบคุมให้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าจีนเข้าไทยอย่างผิดกฏหมาย

เทรนด์ที่ 4 On-Demand Commerceสงครามการค้าออนไลน์รูปแบบใหม่กำลังก่อตัวขึ้น

การแข่งขันการค้าลักษณะแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร หรือ ฟู้ดดิลิเวอรี่ต้องเริ่มเปลี่ยนตัวเองให้เป็นบริการที่มากกว่าอาหาร หรือที่เรียกว่า Beyond Food จากธุรกิจจัดส่งอาหาร หรือการเรียกรถ ก็จะมีบริการอื่นเช่น Grab Mart, Grab Home เห็นได้ว่ามีการขยายฐานบริการอีคอมเมิร์ซซึ่งปีหน้าเราคงได้เห็นกันมาก โดยเฉพาะแกร็บ

ฝั่งไลน์แมนวงในขยายบริการทั่วประเทศมากขึ้นส่วนฟู้ดแพนด้าซึ่งอยู่ในตลาดมานานเกือบสิบปี ปัจจุบันให้บริการครบทั้ง 77 จังหวัดของประเทศไทย และเริ่มมีบริการอื่น ๆ ด้วยเช่นกันสุดท้ายโรบินฮู้ดเริ่มขยายธุรกิจ จากบริการจัดส่งอาหาร ก็เพิ่มบริการจองโรงแรม บริการซื้อของ และบริการใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามาเร็วๆ นี้

เทรนด์ที่ 5 การบุกของ DFS (Digital Financial Service)

บริการการเงินทางออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น ผู้ให้บริการเหล่านี้จะไม่ใช่ธนาคาร หรือที่เรียกว่า Non bank เช่น บริการรับชำระเงิน, บริการกู้เงินทางออนไลน์, บริการประกันออนไลน์,บริการดูแลความมั่งคั่ง ดูแลสินทรัพย์ออนไลน์ หรือ การโอนเงินออนไลน์ โอนเงินต่างประเทศ

ขณะที่ แนวโน้มการใช้บริการ Digital Financing เหล่านี้เริ่มมีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันให้อีคอมเมิร์ซของประเทศไทยเติบโตมากขึ้นอีกทั้งผู้ให้บริการหลายราย เช่น แกร็บ ช้อปปี้ ฟู้ดแพนด้า หรือลาซาด้าเริ่มมีการให้บริการทางการเงินให้กับคู่ค้าของตัวเองมากขึ้น

เทรนด์ที่ 6 สงครามShort Video Commerce กำลังดุเดือด

ไม่ว่าจะเป็น Tiktok, Youtube, Facebook เเละ Instagram ที่กระโดดลงมาเเข่งขัน หรือแม้แต่ผู้ให้บริการอย่างไลน์ก็ลงมาเเข่งในสนามวิดีโอเช่นกัน

ดังนั้น กลยุทธ์จะไม่ได้ทำมาเพื่อให้บริการเฉพาะ Short video เพียงอย่างเดียว แต่มีบริการอื่นของอีคอมเมิร์ซเช่นการเปิดร้านค้าเข้ามาเสริมด้วยเช่นเดียวกัน

เทรนด์ที่ 7 โฆษณาออนไลน์ที่มีทางเลือกมากขึ้นหลายปีที่ผ่านมา

โฆษณาออนไลน์ที่เป็นทางเลือกอันดับต้นๆ คือ Facebook ซึ่งปัจจุบันผู้โฆษณาหันไปทางเลือกอื่นเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุผลที่การโฆษณาผ่าน Facebook ประสบปัญหาของการได้ผลลัพธ์ที่น้อยลง ขณะที่คู่แข่งอย่าง Tiktok พัฒนารูปแบบการโฆษณาให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี

แนวโน้มที่เกิดขึ้น คือ แบรนด์เเละผู้โฆษณาจึงเริ่มเปลี่ยนไปโฆษณาผ่าน Tiktok เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองเพื่อเสริมให้ลูกค้าขายของได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

เทรนด์ที่ 8 การตลาดผ่านการบอกต่อหรือ Affiliate Marketing

เป็นเทรนด์ที่มีการเติบโต เพราะคนเริ่มเป็นอินฟลูเอนเซอร์คนเริ่มมีฐานลูกค้าตัวเองมากขึ้น โซเชียล มีเดียเป็นเครื่องมือที่ทำให้เรามีความสามารถบอกต่อสินค้าไปยังกลุ่มเพื่อนๆ ของเรา และเราเองสามารถได้ส่วนเเบ่งกำไรจากการที่สินค้าเหล่านั้นมีการขายได้เมื่อเพื่อนๆทำการสั่งซื้อ

แพลตฟอร์มอย่าง Tiktok เริ่มมีการผลักดันบริการ Affliate Marketing ที่ใช้การบอกต่อมากขึ้น รวมถึงช้อปปี้ และลาซาด้าก็เริ่มมีบริการเช่นเดียวกันขณะที่ในไทยก็มีผู้ให้บริการชื่อ pundai.com ที่เป็น Affliate Marketing ของไทย

เทรนด์ที่9 “MarErce” เมื่อมาร์เทค (MarTech) ผสานเข้ากับอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce)

มาร์เอิร์ซ (Mar-Erce) คือ รูปเเบบการทำธุรกิจดิจิทัลที่อีคอมเมิร์ซผสานเข้ากับมาร์เทคปัจจุบันมาร์เก็ตติ้ง และอีคอมเมิร์ซถูกผสานรวมเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ

ตอนนี้ผู้ให้บริการด้านมาร์เทค (MarTech) เริ่มมีแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่การทำการตลาดเท่านั้น แต่จะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยทำให้เกิดออเดอร์ เกิดการซื้อขาย เเละเมื่อเกิดการขายแล้ว ทางฝั่งมาร์เทค (MarTech) จะเริ่มนำเทคโนโลยีย้อนกลับไปทำ CRM หรือ Retention เพื่อทำให้ลูกค้าเกิดการซื้อซ้ำต่อไปอีกที

เทรนด์ที่ 10 การแข่งขันอีคอมเมิร์ซในแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่รุนแรงมากยิ่งขึ้น

ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line, Tiktok ทุกคนเริ่มมีแพลตฟอร์มที่รองรับเเละส่งเสริมอีคอมเมิร์ซมากขึ้นเป็นกลยุทธ์เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้ากระโดดข้ามไปใช้บริการของคู่แข่งตรงนี้เองจะทำให้เกิดอีคอมเมิร์ซในแพลตฟอร์มใหญ่เพิ่มมากขึ้น

เทรนด์ที่ 11 การขาดดุลดิจิทัลของไทย

กรมสรรพากรได้ออกกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศเมื่อ 1 ก.ย. 64 เเละจากข้อมูลล่าสุด มีผู้ให้บริการต่างชาติที่ขึ้นทะเบียนเเล้วจำนวน 127 ราย ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บสะสม 6 เดือน (ต.ค.64-มี.ค.65) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,200 กว่าล้านบาท

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า อาจเก็บได้ถึงเกือบหมื่นล้านเมื่อครบปี นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้มูลค่าการซื้อ-ขายบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของคนไทยอาจจะขึ้นไปสูงถึงเกือบ ๆ สองแสนล้านบาทเป็นประเด็นสำคัญที่ภาครัฐควรต้องเริ่มเข้ามาดูแลสอดส่องว่าประเทศไทยเรามีการขาดดุลทางการค้าดิจิทัลอย่างไร

เทรนด์ที่ 12 D2C (Direct to Consumer)จะฆ่าตัวกลางทางการค้า

ย้ำอีกครั้งว่าในช่วงปีที่แล้วและปีนี้ Direct to Customer หรือการขายตรงไปยังผู้บริโภค การตัดตัวกลางออกไปจากห่วงโซ่ เป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับโรงงานผู้ผลิตต่าง ๆ หลายปีที่ผ่านมา โรงงานเริ่มขายของออนไลน์มากขึ้น ขายตรงไปยังผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบให้ธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่นเริ่มถดถอย เพราะคนรุ่นใหม่เริ่มซื้อสินค้าจากร้านในท้องถิ่นน้อยลงและหันมาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น ทำให้ในแง่ของธุรกิจท้องถิ่นจะมีผู้ที่เป็นตัวกลาง หมดโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าเพราะพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป