ตลาด "รถ EV" ปี 66 โตก้าวกระโดด แบรนด์ใหม่ชิงเค้ก “กระบะ-มอเตอร์ไซด์”

ตลาด "รถ EV" ปี 66 โตก้าวกระโดด แบรนด์ใหม่ชิงเค้ก “กระบะ-มอเตอร์ไซด์”

“สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย” ระบุ ยอดรถอีวีปี 2566 โตก้าวกระโดด จากปัจจัยรัฐสนับสนุนทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อครอบคลุมระยะสั้น-ยาว คาดปีหน้าจะเห็นแบรนด์รถใหม่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะรถกระบะและมอเตอร์ไซด์ ขณะที่กำลังการซื้อในไทยยังมีอีกเพียบ

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า สำหรับการเติบโตของ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยปี 2566 นั้น เมื่อดูจากตัวเลขยอดจดทะเบียนรถอีวีทุกประเภทของปี 2565 กับกรมขนส่งทางบทล่าสุดเดือนต.ค. 2565 จะอยู่ที่ราว 15,000 คัน และเมื่อแยกเป็นประเภทรถยนต์อีวีที่นั่งส่วนบุคคลอย่างเดียวจะอยู่ที่ประมาณกว่า 7,000 คัน จึงมองว่าปีนี้จะเห็นตัวเลขรถอีวีจดทะเบียนใน 5 หลัก โดยเมื่อเทียบกับปี 2564 มียอดจดทะเบียนประมาณ 1,900 คัน ถือว่ามีการเติบโตกว่า 500%

อย่างรก็ตาม สิ่งที่ขับเคลื่อนและเห็นผลชัดเจนต่ออัตราการเติบโตในการใช้งานรถอีวี คือ มาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่มีความชัดเจนตั้งแต่ช่วงเดือนมี.ค. 2565 คือ นโยบายทางด้านภาษี อาทิ การลดภาษีนำเข้า การลดภาษีสรรพสามิตและการมอบเงินส่วนลดให้กับประชาชนผู้ซื้อรถอีวี 150,000 บาทต่อคัน เป็นต้น พร้อมกับกฎข้อบังคับที่จะเป็นจะตัวการันตีกับค่ายรถเพื่อที่จะมีการผลิตรถอีวีในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป

“เมื่อรัฐบาลสนับสนุนทำให้รถอีวีในไทยมีราคาเทียบเท่ารถสันดาปโดยรวมลดลงราว 2 แสนบาทต่อคัน ซึ่งราคาเริ่มต้นของรถรุ่นนิยมในขณะนี้ก็อยู่ที่ประมาณ 700,000 กว่าบาท และเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน มองว่ารถอีวีบ้านเรามีราคาเริ่มต้นที่ใช้ได้และไม่แพงเลย”    

นอกจากนี้ ส่วนตัวมองว่ากำลังการซื้อรถในกลุ่มนี้จะยังคงมีเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว แต่ข้อจำกัดยังมีในเรื่องของซัพพลายของ OEM เพราะอาจติดปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้ตัวรถที่แต่ละค่ายสั่งมาจากประเทศต้นทางไม่เพียงพอต่อการผลิตหรือดีมานด์ที่ต้องการ ส่งผลกระทบต่อกลไกที่จะเป็นระหว่างดีมานด์กับซัพพลาย แต่เมื่อซัพพลายพร้อมเชื่อว่าผู้ผลิตก็พร้อมที่จะผลิตรถออกสู่ตลาดตามความต้องการอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ จากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐและศักยภาพด้านเศรษฐกิจในประเทศไทยมีแข็งแกร่งมากหากเทียบในระดับภูมิภาคอาเซียน จึงทำให้ผู้ผลิตรถทั้งค่ายยุโรปและจีนสนใจเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมอีวีในประเทศไทย อีกทั้งพื้นฐานประเทศไทยเป็นประเทศเมื่อมีโรงงานต่าง ๆ ตัดสินใจเข้ามาตั้งโรงงานแล้ว จุดประสงค์หลักคือ ตอบรับกับจำนวนดีมานด์ก่อนที่เหลือจะเป็นส่วนที่จะส่งอออกไปประเทศที่ใกล้เคียง

“โดยกำลังซื้อของประเทศไทยและสภาพเศรษฐกิจที่ดูแล้วยังคงมีการเติบโตที่ดี จะเห็นช่วงกลางเดือนธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ทางประธานใหญ่ของ โตโยต้า ได้ประกาศว่าจะจะผลิตรถปิ๊กอัพอีวี และออกแบบโดยในทีมคนไทย จึงเป็นการการันตีว่าเขาพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรองรับกับการใช้งานในประเทศไทย”

อย่างไรก็ตาม อีกสิ่งที่จะเห็นชัดเจนในปี 2566 คือ จะเห็นแบรนด์รถอีวีใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของรถยนต์ รถกระบะ หรือมอเตอร์ไซด์ ส่วนรถบัสก็น่าจะมีผู้ผลิตเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะปีนี้เราก็ได้เห็นแบรนด์รถอีวีใหม่ ๆ เกิดขึ้นหลายแบรนด์ในประเทศไทย เพราะในเชิงนโยบายภาพรวมจะค่อนนข้างให้ความสำคัญไปในอนาคต โดยเฉพาะในเรื่องของภาษีคาร์บอนที่จะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจพอสมควร ดังนั้น หลายบริษัทเริ่มพิจารณาว่าจะปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือกเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบลโจทย์วิชั่นของเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

สถิติยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า (BEV)

ประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง ประจำปี 2565 วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 ถึง วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ยอดรวมทั้งสิ้น 8,342 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้วถึง 360%

ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 ถึง วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ยอดรวมทั้งสิ้น 8,828 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว 154%

ส่งผลให้สถิติยอดจดทะเบียนสะสมกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 อยู่ที่ 12,314 คัน และยอดจดทะเบียนสะสมกลุ่มรถจักรยานยนต์ไฟฟ้อยู่ที่ 15,387 คัน