ขายฝันหรือจริง?ค่าแรงขั้นต่ำ 600 แนะเช็ก 4 ประเด็นก่อนปรับขึ้น

ขายฝันหรือจริง?ค่าแรงขั้นต่ำ 600  แนะเช็ก 4 ประเด็นก่อนปรับขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์ เผยค่าแรงแรงงานไทยไม่ตอบโจทย์ภาระวัยแรงงาน 1 คน ต้องเลี้ยง 3 คน ระบุปรับขึ้นค่าแรงพิจารณา 4 ประเด็น ผุดโมเดลทุกคนยิ้มได้ ขึ้นค่าแรงแบบไตรภาคี รัฐบาลช่วยลดต้นทุนแอบแฝง ฝากถามทำไมต่างชาติลงทุนจ่ายค่าแรงสูงแก่ประเทศอื่นๆ แต่จ่ายที่ไทยไม่ได้

เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์รวมถึงคำถามมากมาย เมื่อทาง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ประกาศนโยบายหากได้เป็นรัฐบาลว่า จะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และผู้จบวุฒิปริญญาตรีเงินเดือนจะอยู่ที่ 25,000 บาทขึ้นไป ภายในปี 2570ว่าเป็นไปได้จริงหรือ?

เพราะหลังจากประกาศนโยบายดังกล่าว ทั้งกลุ่มภาคธุรกิจ กลุ่มพรรคการเมือง และกลุ่มนักวิชาการ ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงความเป็นไปได้-ไม่ได้....ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำ ได้กำหนดอัตราเริ่มต้นตั้งแต่วันละ 328 บาท ถึง 354 บาท โดยการปรับค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทย ไม่ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี และมีการขึ้นค่าแรงตั้งแต่หลักหน่วยไปจนถึงหลักสิบ

“ค่าแรงไทย”ไม่ตอบโจทย์โครงสร้างประชากร

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าขณะนี้สภาพของแรงงานไทยต้องยอมรับว่า คนกลุ่มใหญ่สุด คือ มนุษย์ค่าจ้าง ซึ่งมีประมาณ 18 ล้านคน แบ่งเป็นภาคเอกชนประมาณ 14 ล้านคน ภาครัฐประมาณ 8 ล้านคน และโดยทั่วไปแล้ว แรงงานไทยจะอายุประมาณ 35 ปีขึ้นไป โดยแรงงานกลุ่มนี้ถือเป็นวัยครอบครัว ทุกคนมีลูก มีพ่อแม่ที่แก่เฒ่าต้องเลี้ยงดู

“แรงงานไทย วัยทำงาน1 คนจะต้องเลี้ยงดูคนอย่างน้อย 3 คน และเมื่อพิจารณาจากค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับ ก็จะเป็นค่าแรงเลี้ยงคนๆ เดียว ไม่ใช่เลี้ยงคน 3 คน ส่วนลักษณะการทำงานของแรงงานไทย ความมั่นคงทางอาชีพค่อนข้างต่ำ เราจะถูกปลดจากงานเมื่อใดก็ได้ เพราะนายจ้างใช้วิธีเหมาจ้างหรือพาสไทม์ ไม่ใช่พนักงานประจำ เมื่องานไม่มั่นคง ทำให้คนตกงานได้ง่ายขึ้น” รศ.ดร.ณรงค์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท บทบาท “สหภาพแรงงาน” คืออะไร มีดีอย่างไรต่อผู้ใช้แรงงาน

ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท การ(ตลาด)นำการเมือง

“เพื่อไทย” ยันค่าแรงขั้นต่ำ600บ.-เงินเดือนป.ตรี 25,000 ทำได้จริง

4 ประเด็นต้องพิจารณาเมื่อปรับขั้นค่าแรง

โลกในปัจจุบันกำลังอยู่ในสภาวะ รื้อล้าง สร้างใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้เข้าไปทำลายระบบการทำงาน การใช้ชีวิตแบบเก่าๆ และสร้างระบบใหม่ๆ ช่วงเปลี่ยนผ่านมีของใหม่เกิดขึ้นมาเต็มไปหมด ขณะเดียวกัน โควิด-19 และสงคราม ทำให้เกิดการล้มละลายของธุรกิจบางอย่าง มีการโยกย้ายฐานการผลิต ลดเงินเดือน  ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า อาชีพและรายได้ของแรงงาน ของคนส่วนใหญ่ไม่มีความแน่นอน และมีค่าแรงต่ำ

รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่าเวลาพูดถึงเรื่องค่าแรง สังคมมักจะมองเรื่องของนายจ้าง ลูกจ้าง แต่สังคมลืมมองเศรษฐกิจมหาภาคของไทย  จีดีพี (ผลผลิตมวลรวมของประเทศ )ของประเทศไทยมาจากการบริโภคประมาณ 50% การลงทุนภาคธุรกิจไม่เกิน 23% รัฐบาลได้ไม่เกิน 15% 

ดังนั้น ตัวหลักอยู่ที่การบริโภค ส่วนพลังการบริโภค มาจากรายได้ประชาชาติหรือค่าจ้างรัฐบาลและเอกชน 41% อีกส่วนมาจากอาชีพอิสระ เช่น  อาชีพเกษตรกร  37%  รวมแล้วเป็น 78% คือพลังการบริโภค เมื่อการบริโภคไม่พอ ทำให้รัฐบาลต้องมาออกนโยบายชิม ช็อป ใช้ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงิน  แต่ไม่ได้มีนโยบายหรือวิธีการใดที่จะทำให้ลูกจ้างก้าวข้ามความยากลำบากได้

ต่อให้เพิ่มค่าแรงขึ้น 5% แต่ค่าครองชีพกลับเพิ่มขึ้น 65% ดังนั้น ค่าแรงขึ้นไม่ทันกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น กำลังซื้อของคนในประเทศจึงน้อยลง และไม่สามารถทำให้จีดีพีของประเทศสูงขึ้นได้ เมื่อมองเรื่องค่าแรง ควรมอง 4 ประเด็นหลักๆ คือ 1.ต้นทุนค่าครองชีพลูกจ้าง 2.ความสามารถที่นายจ้างจะจ่ายได้ 3.การเปรียบเทียบค่าจ้างของประเทศที่มีฐานะเศรษฐกิจคล้ายๆ กัน เช่น ไต้หวัน มาเลเซีย และ4.ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมเศรษฐกิจมหาภาค”รศ.ดร.ณรงค์ กล่าว

 

ค่าแรง 600 เป็นไปได้ถ้าขึ้นแบบขั้นบันได

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท คงไม่สามารถขึ้นได้ทันที และหยุดไป 4 ปีไม่ต้องขึ้นอีก เพราะหากทำอย่างนั้น นายจ้างจะมีปัญหาทันที แต่ถ้ามองกลับกัน การจ้างงาน  คือ การต้องทำให้คนมีงานทำ และถ้าคนในประเทศ มีกำลังซื้อมากขึ้นจะทำให้เกิดการจ้างงานได้

รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวต่อไปว่าการเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท อาจจะต้องขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งมีความเป็นไปได้ เป็นการเพิ่มกำลังแรงและการขยับค่าแรงไปพร้อมกัน ซึ่งนักคณิตศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ในประเทศ ต้องคำนวณการเพิ่มกำลังซื้อจะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นหรือไม่ และเพิ่มกี่เปอร์เซอร์ ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องมีนโยบาย มีทุนที่จะช่วยผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก ให้เขาลดต้นทุนแอบแฝงต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ได้

“หากพิจารณาตามหลักมาตรฐานสากลแล้วนั้น การขึ้นค่าแรงในไทย แรงงาน 1 คน ดูแลคน 3 คน จะต้องขึ้นไปถึง 712 บาท ต้องเป็นค่าจ้างเพื่อชีวิตที่ไม่ใช่เพียงชีวิตคนทำงานเท่านั้น อีกทั้งการขึ้นค่าแรง อยากให้ตั้งคำถามกับบริษัทใหญ่ๆ หรือบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย ทำไมประเทศอื่นๆ ที่ไปตั้งบริษัทสามารถจ้างแรงงานสูงๆ ได้ แต่ทำไมพอมาจ้างแรงงานไทยถึงจ่ายไม่ได้ รัฐบาลต้องมองในเรื่องนี้ร่วมด้วย”รศ.ดร.ณรงค์ กล่าว

สิ่งจูงใจการลงทุนในไทยต้องไม่ใช่ค่าแรง

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวอีกว่าการที่ต่างชาติมาตั้งฐานผลิตในประเทศไทย โดยส่วนตัวไม่ได้มองว่าเป็นเพราะค่าจ้างเพียงอย่างเดียว แต่น่าจะมีส่วนประกอบอื่นๆร่วมด้วย เช่น สิ่งอำนวยความสะดวก การเดินทาง หรืออื่นๆ ซึ่งการเพิ่มค่าแรงมีความจำเป็นสำหรับแรงงาน เศรษฐกิจของประเทศ และที่สำคัญต้องทำให้สิ่งจูงใจการลงทุนในไทยไม่ใช่ค่าจ้างรัฐบาลต้องหาแนวทางช่วยผู้ประกอบการ

อย่าง บริษัทขนาดใหญ่ ช่วยอำนวยความสะดวก หรือเพิ่มศักยภาพที่ทำให้เขาพร้อมมาลงทุนที่ไทย จ้างงานคนไทยด้วยค่าแรงมาตรฐานสากล เหมือนประเทศอื่นๆ ประเทศไทยมีศักยภาพไม่ได้น้อยกว่าประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ทำไมพวกเขาถึงให้ค่าแรงสูงๆ เหมือนประเทศเหล่านั้นไม่ได้ อย่าเปรียบเทียบไทยกับประเทศด้อยพัฒนา  

ขณะเดียวกัน ในส่วนบริษัทเล็กๆ รัฐบาลต้องมีแนวทางสนับสนุน เช่น การปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำที่สุดให้แก่บริษัท เพื่อนำเงินมาสร้างหอพักใกล้บริษัท  หรือจัดอาหารกลางวันให้แก่พนักงาน เพื่อให้พวกเขาได้ลดค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง  ให้แรงงานสามารถมีกำลังซื้อ มีเงินออม ช่วยยกคุณภาพชีวิตของแรงงานไทย

โมเดลทุกคนยิ้มได้ ขึ้นค่าแรงแบบไตรภาคี

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)  กล่าวว่าสถานการณ์ค่าแรงของแรงงานไทยในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่ารายได้น้อยเกินไป เพราะขณะนี้ค่าครองชีพมีการปรับตัวมากกว่าค่าแรงที่ได้รับ ดังนั้น มีความจำเป็นต้องขึ้นค่าแรงงานให้แก่แรงงานไทยอย่างแน่นอน แต่จะขึ้นอย่างไร และขึ้นเป็นจำนวนเท่าใดนั้น ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน

 “การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทนั้น สามารถเป็นไปได้ แต่ต้องขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากหากขึ้นทันทีจะมีผลกระทบเกิดขึ้นมากมาย และการขึ้นค่าแรง ไม่ใช่มองเฉพาะเรื่องของนายจ้าง ลูกจ้าง แต่ต้องมองส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย อย่างในอดีต มีการเพิ่มค่าแรง เพื่อให้คนมีกำลังซื้อมากขึ้น แต่สุดท้ายค่าครองชีพก็ขึ้นมากกว่าค่าแรงที่เพิ่มขึ้นก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ดังนั้น ต้องสร้างโมเดลที่ทำให้ทุกคนยิ้มได้ และการขึ้นค่าแรงควรเป็นแบบไตรภาคี รวมถึงรัฐบาลต้องทำให้กำลังซื้อของประเทศฟื้นตัว”ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว 

ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลควรมีแนวทางในการกำหนด หรือออกนโยบายที่มีผลการศึกษาละเอียดถึงขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน ขณะเดียวกัน ควรมีฐานข้อมูลแรงงาน ที่จะช่วยสะท้อนการจ้างงานอย่างละเอียด มีระบบการฝึกทักษะ อัพสกิล รีสกิลในทุกกลุ่มอาชีพ และต้องเป็นข้อมูลที่อยู่บนฐานข้อมูลจริง วางแผนการดำเนินงานใน 3-4 ปีข้างหน้า

“แรงงานกับผู้ประกอบการเป็นเหมือนลิ้นกับฟัน ยังไงก็ต้องอยู่ไปด้วยกัน อาจมีกัดกันแรงบ้างเบาบาง แต่ก็หนีกันไม่พ้น การปรับค่าแรงขึ้น การทยอยปรับค่าแรงถือว่าช่วยให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ถ้าหากธุรกิจเหล่านั้นไม่ได้มีลูกค้าจำนวนมาก การเพิ่มค่าแรงอาจทำให้ผู้ประกอบการลำบาก ในเมื่อรัฐเป็นคนออกนโยบายนี้ รัฐต้องมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการควบคู่กันไปด้วย ทั้งในด้านการบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนในช่วงเวลาปรับตัว และช่วยหาลูกค้าให้ผู้ประกอบการร่วมด้วย” ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว

ขณะเดียวกัน จำเป็นต้องยกระดับทักษะแรงงานให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานได้ การยกระดับค่าแรงโดยไม่ยกระดับทักษะฝีมือของแรงงานให้เพิ่มขึ้นมาด้วย ยิ่งเป็นการบีบให้ผู้ประกอบการต้องหาทางออกด้วยการลดต้นทุน ลดคน หรือเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปใช้เทคโนโลยีแทน ต้องมองว่าจะช่วยให้แรงงานกลุ่มนี้เก่งขึ้นได้อย่างไร

รวมทั้ง การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแรงงานข้ามชาติก็ได้ประโยชน์เช่นกัน จะป้องกันปัญหาแรงงานข้ามชาติทะลักเข้ามาได้อย่างไร ที่สำคัญถ้าเขาเข้ามาในประเทศแล้วเราต้องไม่เลือกปฏิบัติว่าใครเป็นแรงงานไทย หรือ ใครเป็นแรงงานข้ามชาติ เป้าหมายหลักของค่าแรงขั้นต่ำคือช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ที่ได้ประโยชน์เป็นแรงงานข้ามชาติ ต้องพิจารณาเรื่องเหล่านี้ร่วมด้วย

ค่าแรงขั้นต่ำ 600 กระทบโครงสร้างค่าแรง

ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวด้วยว่าส่วนการกำหนดให้เงินเดือนเริ่มต้นของคนทำงานราชการที่จบ ป.ตรี เท่ากับ 25,000 บาท ต้องมีการปรับเงินเดือนของข้าราชการทั้งหมดใหม่ทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับคนที่เข้าทำงานก่อน เพราะบางคนทำงานมา 5 ปี 10 ปี เงินเดือนเพิ่งจะแตะ 25,000 บาท ความวุ่นวายแบบนี้จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจเช่นกัน

ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทและ เงินเดือน 25,000 บาท จะกระทบโครงสร้างค่าแรงของธุรกิจทั้งหมด ต้นทุนค่าแรง/เงินเดือนที่ธุรกิจต้องแบกรับจึงไม่ใช่แค่การเพิ่มเงินให้คนไม่กี่คน แต่เป็นต้นทุนของการเพิ่มเงินให้คนทั้งหมดในองค์กร ซึ่งแน่นอนว่าธุรกิจย่อมมีทางออก แต่ทางออกของธุรกิจมันอาจจะไม่ดีสำหรับคนทำงาน เช่น การจ้างคนที่จบระดับ ปวช./ปวส. มาทำงานแล้วค่อยฝึกเขาให้เก่งขึ้นทีหลัง การทำสัญญาจ้างรายปี การจ้างแบบ Outsource จ้างแรงงานนอกระบบ หรือนำเทคโนโลยีมาแทนคน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้อาจทำให้คนที่เพิ่งจบใหม่ หางานทำไม่ได้ถูกผลักออกสู่การจ้างงานนอกระบบที่มีความมั่นคงและรายได้ต่ำกว่าที่ควร”ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว

ทักษะรับโลกของงานช่วยแรงงานอยู่รอด

ข้อมูลของ World Economic Forum บอกว่า ทักษะ 10 อันดับแรกที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จในโลกของงานปี 2015 พอมาถึงปี 2022 ทักษะเหล่านี้มีความสำคัญลดลงอย่างมาก บางทักษะใช้ไม่ได้กับโลกตอนนี้ นอกจากนี้แล้ว โลกของงานในปี 5-10 ปีข้างหน้าจะเป็นโลกของการตกงานเป็นเรื่องปกติ เพราะเทคโนโลยีจะเข้ามาทำงานแทนคนมากขึ้นเรื่อย ๆ บางอาชีพจะหายไปใน 3-5 ปี ถ้าโชคดี 10-15 ปี นั่นหมายความว่าใบปริญญาที่ได้มาจะมีค่าเพียงไม่นาน

สิ่งที่จะทำให้แรงงานอยู่รอดปลอดภัยได้ในตลาดแรงงาน คือ ทักษะที่สอดคล้องกับโลกของงานในแต่ละช่วงเวลา การคิดค่าตอบแทนแบบอิงปริญญา (Degree-Based) จึงไม่สอดคล้องกับโลกที่กำลังให้คุณค่ากับทักษะ และให้ค่าตอบแทนตามทักษะที่แรงงานมี (Skill-Based) การสร้างคน จบ ป.ตรี จึงไม่ใช่ทางออกเดียวของโลกใหม่ใบนี้ การพัฒนาระบบนิเวศการพัฒนากำลังคนทุกช่วงวัยเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ” ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรทำจึงมากกว่าแค่การกำหนดเงินเดือน 25,000 บาท เพราะเงินดังกล่าว ไม่เพียงพอ คนจบปริญญาตรีย่อมมีความคาดหวังในคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมถึงได้ลงทุนมาเรียน เงินเดือน 15,000 บาทในยุคนี้ก็ไม่พอ โดยเฉพาะถ้าต้องอยู่ในเมืองใหญ่ 25,000 บาท ยังอยู่ยากเสียด้วยซ้ำ แต่การตั้งค่าแรงตามทักษะเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ทางออกเช่นกัน ต้องมองหาสูตรที่จะสร้างความสมดุลระหว่างการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และการให้ค่ากับทักษะของแรงงานอย่างที่ควรจะเป็น