"นักวิชาการ" หวั่นขึ้นค่าแรงแซงเศรษฐกิจ ห่วง "จีดีพี" โตช้าสร้างจุดเสี่ยง

"นักวิชาการ" หวั่นขึ้นค่าแรงแซงเศรษฐกิจ ห่วง "จีดีพี" โตช้าสร้างจุดเสี่ยง

นักวิชาการ ห่วงนโยบายขยับค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ภายในปี 2570 ต้องขึ้นปีละ 12.7% หากเศรษฐกิจยังโตช้าอาจกลายเป็นจุดอันตรายเศรษฐกิจไทย ถือเป็นนโยบายน่ากังวล

นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเรียกได้ว่าเป็นท่าถนัดของนักการเมืองที่นำมาใช้หาเสียงเลือกตั้งเป็นประจำทุกครั้ง เพราะสามารถเรียกคะแนนเสียงให้ตัวเองได้อย่างดี ซึ่งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 ก็เริ่มมีนักการเมืองนำนโยบายนี้มาหาเสียงกันบ้างแล้ว โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท ภายในปี 2570 

อย่างไรก็ตามมุมนักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นตรงกันว่า ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นต้องมาพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะถ้าเศรษฐกิจยังโตช้าจะถือเป็นจุดอันตรายทางเศรษฐกิจแน่นอน

นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ในทางเศรษฐศาสตร์มองการขึ้นค่าแรงที่วันละ 600 บาท ในระยะ 4ปี เป็นไปได้ยาก เพราะไม่ได้ขึ้นเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำเท่า แต่ค่าแรงอาจต้องถูกยกขึ้นทั้งแผง สะท้อนสกิลของแต่ละอาชีพ

อีกทั้งการปรับขึ้นค่าแรง อาจเป็นต้นทุนต่อผู้ประกอบการค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีทำให้ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เจอปัญหาสภาพคล่องในช่วงโควิด-19 ดังนั้นอาจกระทบเอสเอ็มอีกลุ่มเปราะบางจนลามถึงการจ้างงาน และอาจเห็นเอสเอ็มอีปิดกิจการมากขึ้นซึ่งยังไม่รวมผลกระทบต่อเงินเฟ้อที่เร่งขึ้น ดังนั้นการคาดหวังเห็นเงินเฟ้อระดับ 2.5%ในปีหน้า ที่ค่าแรงเริ่มขยับถือว่ายาก

“ทางเศรษฐศาสตร์มองการขึ้นไปสู่ 600 บาท ใน 4 ปี เป็นไปได้ยาก แต่ทางการเมืองก็ไม่แน่ ซึ่งผลกระทบจากขึ้นค่าแรง ด้านแรกกระทบเงินเฟ้อขึ้นแน่นอน และผลที่กระทบเพิ่ม คือ ภาระของเอสเอ็มอี ที่จะมีปัญหาการจ้างงานมากขึ้น และอาจเห็นเอสเอ็มอีล้มตายเพิ่ม ท้ายที่สุดจะวนกลับมาสู่ปัญหาการจ้างงาน และการขึ้นค่าแรงต้องมาควบคู่การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ง่ายๆ”

“ทีดีอาร์ไอ”ชี้ธุรกิจโตไม่ทันค่าแรง

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทย น่าจะใช้หลักคิดค่าจ้างเพื่อชีวิตที่สะท้อนค่าจ้างสำหรับแรงงานที่เพียงพอในการดูแลครอบครัว โดยดูแลคู่สมรสและบุตรอีก 1-2 คน ถือเป็นเป้าหมายในอุดมการณ์รัฐสวัสดิการที่ใส่ใจชีวิตแรงงานที่ดี

ทั้งนี้ ยหากดำเนินการตามกรอบ 4-5 ปี ต้องระวังโครงสร้างเศรษฐกิจไทยรองรับได้แค่ไหน เพราะปัจจุบันค่าแรงอยู่ที่ 323-354 บาท จะขึ้นไปที่ 600 บาท ต้องขึ้นปีละ 12.7% ต่อปี ในขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นจากโควิด-19 จึงโตได้อย่างมากปีละ 3.7% 

“รายได้ธุรกิจเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3.7% ต่อปี แต่ค่าแรงเพิ่ม 12.7% ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบมาก คำถาม คือ ธุรกิจรับสถานการณ์ได้แค่ไหน ถ้าธุรกิจขึ้นค่าแรงไหว ผลที่ตามมา คือ ธุรกิจผลักราคาให้ผู้บริโภค ทำให้ราคาสินค้าแพงมากขึ้น เกิดปัญหาเงินเฟ้อ แต่หากธุรกิจขึ้นค่าแรงไม่ไหวก็ต้องปิดกิจการ เลิกจ้างงาน หรือต้องยอมทำงานที่ได้ค่าจ้างต่ำลง ไม่ได้ 600 บาทเพื่อให้ได้งาน”

นอกจากนี้ หากมองแบบเป็นกลาง ธุรกิจที่ไหว คือ ธุรกิจขนาดใหญ่ที่จ่ายค่าแรงสูงไดี รวมทั้งธุรกิจเศรษฐกิจโมเดิร์น เช่น ร้านอาหารแฟรนไชส์ส่วนนี้แรงงานน่าจะได้ประโยชน์ แต่ธุรกิจที่ไปต่อไม่ได้มีจำนวนมาก เช่น เอสเอ็มอี ธุรกิจส่งออกที่เน้นแข่งขันค่าแรงจะล้มหายไป เพราะผลกระทบจากโควิดยังไม่หาย แต่มาเจอต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น

สำหรับข้อเสนอที่เป็นไปได้มากกว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก้าวกระโดด คือ ควรขึ้นค่าจ้างแรงงานกลุ่มเศรษฐกิจโมเดิร์น หรือรวมถึงบริการภาคท่องเที่ยว เช่น สปา คนขับรถ พนักงานโรงแรม ซึ่งควรได้ค่าจ้างที่สูงขึ้นโดยได้แบ่งผลตอบแทนจากผลกำไรของธุรกิจให้มากขึ้น โดยค่าแรงที่เพิ่มควรมาพร้อมทักษะ เช่น แรงงานในภาคบริการต้องพัฒนาทักษะ เช่น ทักษะ hospitality

นักเศรษฐศาสตร์ห่วงเศรษฐกิจฟื้นไม่ทัน

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ รองหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาท ภายในปี 2570  หากเศรษฐกิจไทยยังไม่ดีต่อเนื่อง ช่วงนั้นจีพีดีขยายตัว 3-4% ฉะนั้นถ้ายกระดับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเดียว ถือเป็นจุดอันตรายและเป็นประเด็นที่หลายคนกังวลตอนนี้ 

ขณะเดียวกันการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นการส่งสัญญาณที่จะทำให้ค่าจ้างแท้จริงเฉลี่ยโดยรวมขึ้นด้วย ซึ่งนายจ้างคงไม่ได้อยากให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้น แม้ว่าปัจจุบันนายจ้างไม่ได้จ่ายค่าจ้างแท้จริงที่อัตราขั้นต่ำก็ตาม โดยมีแรงงาน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรงงานต่างด้าวและแรงงานทักษะต่ำ เท่านั้นที่ยังได้รับค่าจ้างแท้จริงตามอัตราขั้นต่ำที่ระดับ 300 กว่าบาท   

แนะยกระดับ “ค่าจ้างแท้จริง”

ดังนั้น การขึ้้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต้องมาพร้อมกับ “ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวดีขึ้น” และ “ประสิทธิภาพแรงงานสูงขึ้น” เพื่อทำกำไรหรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้นายจ้าง และทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย เป็นมองเป็นโซลูชั่น win-win ทุกฝ่าย และเป็นไปได้มากกว่า ขณะที่การกำหนด "อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสม“ เพื่อให้ ”แรงงานสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและยู่รอดได้” มี 2 ประเด็นต้องพิจารณาเพิ่ม คือ

1.อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ควรเป็นระดับ “ต่ำกว่า” อัตราค่าจ้างแท้จริง เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ควรเป็นระดับที่ “สูงพอ” ให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยต้องพร้อมกับยกระดับอัตราค่าจ้างที่แท้จริง ทำให้แรงงานได้รับค่าจ้างแท้จริงมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะหากดูค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นจนในวันนี้ที่ระดับ 300 กว่าบาท เมื่อหักปัจจัยเงินเฟ้อออกยังคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หมายถึงเป็นอัตราที่ไม่ได้ปรับขึ้นในรูปแบบของ “ค่าจ้างที่แท้จริง” เลย

ทั้งนี้แนะนำว่าต้องส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สูงขึ้น สนับสนุนลงทุนเทคโนโลยีช่วยแรงงานเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต และต้องกำหนดนโยบายสร้างการแข่งขันในอุตสาหกรรมไม่ให้ธุรกิจใหญ่กำหนดหรือกดค่าจ้างได้ 

2.ค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นแต่ละพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีระดับค่าครองชีพต่างกัน ต้องพิจารณาเช่นกัน เช่น หากเป็นแรงงานในเมืองหลวง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำระดับ 300 กว่าบาท คงไม่ได้เป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แรงงานอยู่รอดได้

ค่าแรงขึ้นกับเงื่อนไขเศรษฐกิจ

นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า  นโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาท ภายในปี 2570 เป็นอัตราเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในรอบ 5 ปี และน่าจะมาจากการมองเฉพาะมุมเพิ่มค่าครองชีพทำให้คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้น ลดความเลื่อมล้ำ แต่การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ยังขึ้นกับ “เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ” เป็นสำคัญ โดยหาก 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจดีขึ้นต่อเนื่อง นายจ้างมีรายได้เพิ่มขึ้น การจ้างงานเพิ่มขึ้นและอาจปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามอัตราดังกล่าวได้ 

ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจไม่ดีเช่นนั้นจะเป็นภาระต้นทุนที่เกินธุรกิจรับได้  ซึ่งถ้าธุรกิจไม่เติบโต การจ้างงานจะลำบากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากจะอยู่ไม่ได้ เช่น ก่อสร้าง ธุรกิจบริการ โลจิสติกส์ เอสเอ็มอี

นายเชาว์ กล่าวว่า การขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำได้ต้องกลับไปดูจุดที่ว่าเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้พร้อมรองรับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่าไหร่ โดยค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่งขึ้นเมื่อเดือน ต.ค.2565 อยู่ที่ 354 บาท  หากจะขึ้นหลังจากนี้ต้องประเมินโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ โครงสร้างแรงงาน สัดส่วนแรงงานแต่ละพื้นที่ การพัฒนาทักษะแรงงาน การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน

แนะพิจารณา 4 ประเด็นก่อนปรับค่าแรง

นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มนุษย์ค่าจ้างมี 18 ล้านคน แบ่งเป็นภาคเอกชน 14 ล้านคน ภาครัฐ 8 ล้านคน โดยแรงงานไทย 1 คน ต้องเลี้ยงดูอย่างน้อย 3 คน และเมื่อพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับเป็นค่าแรงเลี้ยงคนเดียว ส่วนลักษณะการทำงานแรงงานไทยมีความมั่นคงทางอาชีพค่อนข้างต่ำ เราจะถูกปลดจากงานเมื่อใดก็ได้

“ต่อให้เพิ่มค่าแรงขึ้น 5% แต่ค่าครองชีพกลับเพิ่มขึ้น 65% ดังนั้น ค่าแรงขึ้นไม่ทันกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น กำลังซื้อของคนในประเทศจึงน้อยลง และไม่สามารถทำให้จีดีพีของประเทศสูงขึ้นได้ เมื่อมองเรื่องค่าแรง ควรมอง 4 ประเด็นหลักๆ คือ 

1.ต้นทุนค่าครองชีพลูกจ้าง

2.ความสามารถที่นายจ้างจะจ่ายได้

3.การเปรียบเทียบค่าจ้างของประเทศที่มีฐานะเศรษฐกิจคล้ายกัน เช่น ไต้หวัน มาเลเซีย

4.ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมเศรษฐกิจมหาภาค

ทั้งนี้ การขึ้นค่าแรง 600 บาท คงไม่สามารถขึ้นได้ทันที และอาจต้องขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งนักคณิตศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ในประเทศ ต้องคำนวณการเพิ่มกำลังซื้อจะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นหรือไม่ และเพิ่มกี่เปอร์เซอร์ ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องมีนโยบาย มีทุนที่จะช่วยผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก ให้เขาลดต้นทุนแอบแฝงต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ได้

“หากพิจารณาตามหลักมาตรฐานสากลแล้วนั้น การขึ้นค่าแรงในไทย แรงงาน 1 คน ดูแลคน 3 คน จะต้องขึ้นถึง 712 บาท ต้องเป็นค่าจ้างเพื่อชีวิตที่ไม่ใช่เพียงชีวิตคนทำงานเท่านั้น อีกทั้งการขึ้นค่าแรง อยากให้ตั้งคำถามกับบริษัทใหญ่หรือบริษัทต่างชาติ ทำไมประเทศอื่นๆ ที่ไปตั้งบริษัทสามารถจ้างแรงงานสูงๆ ได้ แต่ทำไมพอมาจ้างแรงงานไทยถึงจ่ายไม่ได้ รัฐบาลต้องมองในเรื่องนี้ร่วมด้วย”

สิ่งจูงใจการลงทุนในไทยต้องไม่ใช่ค่าแรง

รวมทั้งการที่ต่างชาติมาตั้งฐานผลิตในประเทศไทย โดยส่วนตัวไม่ได้มองว่าเป็นเพราะค่าจ้างเพียงอย่างเดียว แต่น่าจะมีส่วนประกอบอื่นๆร่วมด้วย เช่น สิ่งอำนวยความสะดวก การเดินทาง หรืออื่นๆ ซึ่งการเพิ่มค่าแรงมีความจำเป็นสำหรับแรงงาน เศรษฐกิจของประเทศ และที่สำคัญต้องทำให้สิ่งจูงใจการลงทุนในไทยไม่ใช่ค่าจ้างรัฐบาลต้องหาแนวทางช่วยผู้ประกอบการ

อย่างบริษัทขนาดใหญ่ ช่วยอำนวยความสะดวก หรือเพิ่มศักยภาพที่ทำให้เขาพร้อมมาลงทุนที่ไทย จ้างงานคนไทยด้วยค่าแรงมาตรฐานสากล เหมือนประเทศอื่นๆ ประเทศไทยมีศักยภาพไม่ได้น้อยกว่าประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ทำไมพวกเขาถึงให้ค่าแรงสูงๆ เหมือนประเทศเหล่านั้นไม่ได้ อย่าเปรียบเทียบไทยกับประเทศด้อยพัฒนา

ค่าจ้าง600กระทบโครงสร้างค่าแรง

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ค่าแรงในปัจจุบันยอมรับว่าน้อยเกินไป เพราะค่าครองชีพปรับขึ้นมากกว่าค่าแรง ดังนั้น จำเป็นต้องขึ้นค่าแรงงาน แต่จะขึ้นจำนวนเท่าใดต้องพิจารณารอบด้าน โดยต้องปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป หากขึ้นทันทีจะกระทบมาก 

"และการขึ้นค่าแรงไม่ใช่เฉพาะนายจ้างลูกจ้าง แต่ต้องมองส่วนอื่น เช่น ค่าครองชีพขึ้นมากกว่าค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ต้องสร้างโมเดลที่ทำให้ทุกคนยิ้มได้ และการขึ้นค่าแรงควรเป็นแบบไตรภาคี รวมถึงรัฐบาลต้องทำให้กำลังซื้อของประเทศฟื้นตัว”

นายเกียรติอนันต์ กล่าวว่า รัฐบาลควรมีแนวทางในการกำหนด หรือออกนโยบายที่มีผลการศึกษาละเอียดถึงขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน ขณะเดียวกัน ควรมีฐานข้อมูลแรงงาน ที่จะช่วยสะท้อนการจ้างงานอย่างละเอียด มีระบบการฝึกทักษะ อัพสกิล รีสกิลในทุกกลุ่มอาชีพ และต้องเป็นข้อมูลที่อยู่บนฐานข้อมูลจริง วางแผนการดำเนินงานใน 3-4 ปีข้างหน้า

“การปรับค่าแรงขึ้น การทยอยปรับค่าแรงถือว่าช่วยให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ถ้าหากธุรกิจเหล่านั้นไม่ได้มีลูกค้าจำนวนมาก การเพิ่มค่าแรงอาจทำให้ผู้ประกอบการลำบาก ในเมื่อรัฐเป็นคนออกนโยบายนี้ รัฐต้องมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการควบคู่กันไปด้วย ทั้งในด้านการบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนในช่วงเวลาปรับตัว และช่วยหาลูกค้าให้ผู้ประกอบการร่วมด้วย”

ขณะเดียวกันต้องยกระดับทักษะแรงงานให้ทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน โดยการขึ้นค่าแรงแต่ไม่ยกระดับฝีมือยิ่งบีบให้ผู้ประกอบการลดต้นทุน ลดคน หรือเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปใช้เทคโนโลยีแทน

ส่วนการกำหนดให้เงินเดือนเริ่มต้นของคนทำงานราชการที่จบ ป.ตรี เท่ากับ 25,000 บาท ต้องมีการปรับเงินเดือนของข้าราชการทั้งหมดใหม่ทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับคนที่เข้าทำงานก่อน เพราะบางคนทำงานมา 5 ปี 10 ปี เงินเดือนเพิ่งจะแตะ 25,000 บาท ความวุ่นวายแบบนี้จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจเช่นกัน

“ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และเงินเดือน 25,000 บาท จะกระทบโครงสร้างค่าแรงของธุรกิจทั้งหมด ต้นทุนค่าแรง เงินเดือนที่ธุรกิจแบกรับ ซึ่งแน่นอนว่าธุรกิจย่อมมีทางออกแต่อาจไม่ดีสำหรับคนทำงาน เช่น การจ้างผู้จบระดับ ปวช. หรือ ปวส.มาทำงานแล้วค่อยฝึกให้เก่งขึ้น การทำสัญญาจ้างรายปี การจ้างแบบ Outsource ซึ่งอาจทำให้ผู้จบใหม่หางานไม่ได้ถูกผลักออกสู่การจ้างงานนอกระบบที่มีความมั่นคงและรายได้ต่ำกว่าที่ควร”