'Thai Centrality' ทางรอดยุทธศาสตร์ของไทยในโลกที่ไม่รอใคร

หลังจากกว่า 1 ทศวรรษที่ยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศเงียบหายไป ในวันที่โลกกำลังหมุนเร็วยิ่งขึ้น ประเทศไทยกลับย่ำอยู่กับที่
ท่ามกลางกระแสการแข่งขันที่รุนแรงจากเพื่อนบ้าน ทั้งเวียดนาม มาเลเซีย และแม้แต่ สปป. ลาว ต่างขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงอย่างเข้มข้น ประเทศไทยกำลังเผชิญจุดเปลี่ยนสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ต้องเลือกว่าจะเป็นเพียงทางผ่าน หรือจะเป็น “ศูนย์กลางที่กำหนดทิศทางของภูมิภาค” ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ “Thai Centrality” จึงไม่ใช่เพียงคำโฆษณาชวนเชื่อ หากแต่เป็นหนทางรอดที่ประเทศไทยต้องเร่งหาให้เจอ
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมพูลแมน กรุงเทพฯ ศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ จากศูนย์ความเป็นเลิศด้านความเชื่อมโยง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอผลงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ของโครงการ “การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาคเพื่อสร้างไทยเป็นศูนย์กลางแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ระยะที่ 2)” ซึ่งเป็นโครงการศึกษาภายใต้ความร่วมมือของร่วมมือของ บพท., สอวช., สกสว. และศูนย์ความเป็นเลิศด้านความเชื่อมโยง ม.ธรรมศาสตร์ โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการปลุกให้ไทยกลับมามีบทบาทเป็น “ศูนย์กลาง” ที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงทางผ่านของใครต่อใคร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'ทีเซลส์' เสริมแกร่งอุตสาหกรรมยา ดัน ATMPs ด้วยวิจัยต่อยอดร่วมAI
'นวัตกรรมทางการแพทย์ไทย'สู่ตลาดโลก สจล.โชว์ World Expo Osaka 2025
หัวใจ Thai Centrality: สร้างบทบาท นำการเปลี่ยนแปลง
การศึกษานี้ นำเสนอเครื่องมือใหม่และข้อมูลเชิงลึกที่ไม่เคยมีมาก่อนเพื่อประเมินศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วย แบบจำลองการประเมินความเชื่อมโยง 3 ระดับ จากระดับมหภาค ระดับกลาง และระดับระดับจุลภาค ครอบคลุมการประเมินโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบและกลไกสถาบัน
ดัชนีชี้วัดการประเมินประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกการผ่านแดนและข้ามแดน (Border Performance Index: BPI) ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกการผ่านแดนและข้ามแดนของแต่ละพื้นที่ชายแดน และแบบจำลองจำลองสถานการณ์ (Simulation Model) ที่ใช้ประเมินผลกระทบเชิงพื้นที่จากนโยบาย ซึ่งช่วยสะท้อนให้เห็นผลกระทบจากการดำเนินนโยบายและโอกาสที่ “หลุดลอย” ไปอย่างน่าเสียดายหากไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายที่วางไว้
โดยผลงานวิจัยยังสะท้อนอย่างเด่นชัดว่า แม้ไทยจะมีศักยภาพเป็นศูนย์กลาง
โลจิสติกส์และการผลิตในภูมิภาค แต่สิ่งที่เรายังขาดคือ “การจัดการเชิงสถาบัน” ที่เข้มแข็งเพียงพอ จนทำให้ศักยภาพเหล่านั้นยังไม่ถูกแปลงเป็นผลงานที่จับต้องได้จริง
ศ.ดร.รุธิร์ เน้นย้ำว่า เรากำลังอยู่ในภูมิภาคที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา แต่ประเทศไทยยังไม่มีทิศทางทางการทูตและความเชื่อมโยงที่ชัดเจน Thai Centrality ไม่ใช่แค่แนวคิด — มันคือนโยบายที่ชาติจำเป็นต้องมี หากยังต้องการมีที่ยืนบนเวทีโลก”
ทำไมต้องเร่งด่วน? ประเทศเพื่อนบ้านกำลังแซงหน้า
ในขณะที่เวียดนาม มาเลเซีย และแม้แต่ลาว เดินหน้าสร้างยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงอย่างจริงจัง ประเทศไทยกลับติดกับดักความล่าช้า ความไม่ชัดเจนทางนโยบาย และความล้มเหลวในการรวมศูนย์การตัดสินใจในเชิงพื้นที่
การที่ประเทศไทยไม่มีทิศทางการทูตระดับภูมิภาคที่ชัดเจนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้เราเสียความน่าเชื่อถือในสายตาคู่ค้าและนักลงทุนระหว่างประเทศ และอาจสูญเสียโอกาสสำคัญในยุทธศาสตร์ "China Plus One", ความร่วมมือ GMS, IMT-GT และแม้แต่การเป็นศูนย์กลาง EV ของภูมิภาค
ข้อเสนอเชิงนโยบาย: ทางออกที่ไม่ใช่แค่ฝัน
งานวิจัยฉบับนี้จึงได้เสนอ “ข้อเสนอเชิงนโยบาย” ที่ไม่ใช่เพียงความฝันลมๆ แล้งๆ แต่ก้าวขึ้นสู่ระดับที่จับต้องได้ เริ่มจากแนวคิดการออก “พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะ” เพื่อกำกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง-ตะวันตก และภาคใต้ ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน บทบาทของรัฐต้องปรับตัวจากการเป็น “ผู้กำกับนโยบายอย่างเดียว” สู่การเป็น “ผู้ช่วยอำนวยการ” และ “ผู้ร่วมลงทุน” ในโครงการสำคัญ ลำดับถัดไปคือการจัดทำดัชนี “Thai Centrality Index” เพื่อวัดความก้าวหน้าของไทยใน 5 มิติสำคัญ ได้แก่
- การเป็นผู้นำด้านการเชื่อมโยง (Connectivity Leadership)
- เสริมสร้างพลังในการประสาน (Coordinating Power)
- การบูรณาการเชิงเศรษฐกิจ (Economic Integration)
- มิติด้านความมั่นคง (Security Dimension)
- อิทธิพลทางวัฒนธรรม (Cultural Influence)
ซึ่งดัชนีนี้จะทำหน้าที่เป็นเข็มทิศให้ภาครัฐเอกชน และภาควิชาการใช้ประเมินตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ว่าเราเดินหน้าได้ตามเป้าหมายหรือไม่ หัวใจสำคัญของดัชนีนี้คือไม่ใช่ตัววัดเพื่อ “ขึ้นหิ้ง” แต่ต้องเชื่อมโยงกับการจัดสรรงบประมาณ โครงการความร่วมมือต่างประเทศ และการทบทวนนโยบายในภาพรวมอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ “Triple Helix Model” หรือรูปแบบความร่วมมือสามภาคส่วนระหว่างรัฐ ธุรกิจ และแวดวงวิชาการ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นพิเศษ การพัฒนาทุนมนุษย์และนวัตกรรมไม่สามารถยืนหยัดได้เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การประสานเสียงระหว่างนักวิชาการในภาคการศึกษา เอกชนที่อยู่ในสนามแข่งขันจริง และภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล ต้องเดินไปด้วยกันอย่างสอดคล้องราบรื่นและเข้มแข็งเพื่อขับเคลื่อนการเป็นศูนย์กลางของไทยให้เกิดขึ้นจริง ภาพของอนาคตที่ไทย “ขยับจากผู้ตาม ไปสู่ผู้นำ” ต้องเกิดสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนและข้อเรียกร้องนี้ไม่ใช่แค่เพียงบรรทัดข้อความบนกระดาษ แต่เป็นภารกิจที่ต้องลงมือทำทันที
“ไทยต้องเป็นคนออกแบบภูมิภาค ไม่ใช่เพียงแค่ตามการเปลี่ยนแปลงของคนอื่น” ศ.ดร.รุธิร์ กล่าวทิ้งท้าย