อัพคะแนน PISA อาศัย 5 ปัจจัย ระบุ เด็กไทยเก่ง แต่ไม่คุ้นข้อสอบ

อัพคะแนน PISA อาศัย 5 ปัจจัย ระบุ เด็กไทยเก่ง แต่ไม่คุ้นข้อสอบ

สกศ.ระดมสมอง เสนอยกระดับผลการทดสอบ PISA ชงไทยเข้าเป็นสมาชิกหลัก OECD แนะ 5 ปัจจัยหลัก ครู นักเรียน หลักสูตร โครงสร้างพื้นฐาน และระบบบริหารจัดการและการสร้างแรงจูงใจ สสวท. ระบุเด็กไทยมีความรู้ แต่ไม่คุ้นทำข้อสอบ ศธ.เตรียมใช้โมเดลรร.จุฬาภรณราชวิทยาลัยสู่รร.ขยายโอกาส

Keypoint:

  • สกศ.เตรียมเสนอไทย เป็นสมาชิก OECD ระบุ 3 สิ่งที่น่าเป็นห่วงในการจัดการศึกษาของประเทศไทย หวังยกระดับคะแนน PISA
  • ศธ.เล็งใช้โมเดลโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ขยายสู่กลุ่มโรงเรียนขยายโอกาส ส่งเสริมการอ่านและการคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น
  • 5 ปัจจัยที่จะทำใหการศึกษาเป็นกระบวนการระยะยาว ครู นักเรียน หลักสูตร โครงสร้างพื้นฐาน และระบบบริหารจัดการและการสร้างแรงจูงใจ พร้อมชี้เด็กไทยมีความรู้ความสามารถแต่ไม่คุ้นข้อสอบ

จากกรณีที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้รายงานผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ปี 2022 ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD มีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินประมาณ 690,000 คน ถือว่าเป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15 ปี ประมาณ 29 ล้านคน จาก 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ

สำหรับผลการประเมิน PISA 2022 ของไทย พบว่า คะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 409 คะแนน และด้านการอ่าน 379 คะแนน ซึ่งทุกวิชามีผลคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD โดยคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 472 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 485 คะแนน และการอ่าน 476 คะแนน 

วันนี้ ( 25 ธ.ค.2566)  ที่โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง 'ข้อเสนอการยกระดับผลการทดสอบ PISA' โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานการจัดการศึกษา สนับสนุนการจัดการศึกษาทุกภาคส่วน เข้าร่วมกว่า 200 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ชวนเด็กและเยาวชน ดื่มไม่ขับ ไม่กลับเอง เน้นปลอดภัย สวมใส่หมวกกันน็อก

AI Tutor ติวเตอร์ส่วนตัวโอกาสเปลี่ยนโฉมการศึกษาไทย

 

3เรื่องน่าห่วงการจัดการศึกษาไทย

ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่ง ว่า การประชุมในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำแผนระดับ 3 ด้านการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายให้ สกศ.วางแผนดำเนินการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนในโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA (Programme for International Student Assessment ) ซึ่งดำเนินการโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) ที่ผลการประเมิน PISA ของเด็กไทย ในปี 2022 มีคะแนนที่ตกลง ทั้งด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่ สกศ.มองกว้างๆ ขณะนี้ พบว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในการจัดการศึกษาของประเทศไทย คือ

เรื่องที่1 ประเทศไทยมีการกำหนดแผนเป็น 3 ระดับ ซึ่งนโยบายด้านการศึกษา และแผนการศึกษาแห่งชาติ เป็นแผน 20 ปีที่ต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรี แต่การให้ความสำคัญอยู่แค่แผนระดับที่ 3 เท่ากับแผนหน่วยงาน ดังนั้น การขับเคลื่อนจึงเกิดปัญหาในการขับเคลื่อน ซึ่งต้องมีการผลักดันให้ยกระดับไปอยู่ในแผนระดับที่ 2

เรื่องที่ 2 การพัฒนาการเรียนการสอนครู จะประเมินผู้เรียนตามสภาพจริง ประเมินจากการสอน ไม่ได้ประเมินจากหลักสูตร 

เรื่องที่ 3 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ผ่านมา นักเรียนมีความเครียด มีดราม่าเรื่องการทดสอบต่างๆเยอะ เรื่องการทดสอบระดับชาติและการทดสอบนานาชาติก็เป็นเรื่องความสมัครใจ ทำให้ PISA ถูกลดความสำคัญลง และเด็กก็ไม่คุ้นชินกับรูปแบบการทดสอบ

 

เสนอไทยเป็นสมาชิกหลักของ OECD

การยกระดับผลการทดสอบ PISA แน่นอนว่าในภาพรวมของการจัดการศึกษาเราต้องไปพัฒนาเรื่องรูปแบบการจัดการศึกษา และเพิ่มความเข้มข้น แต่สิ่งหนึ่งที่ละเลยไม่ได้ คือ หน่วยงานที่ประเมินการศึกษาของโลก ซึ่ง OECD เป็นหน่วยงานที่วิเคราะห์วิจัยการศึกษาของโลก และมีสมาชิกอยู่มากมาย ขณะที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิกหลัก เราเป็นเพียงแค่สมาชิกสมทบในคณะกรรมการนโยบายด้านการศึกษาเท่านั้น จึงขาดโอกาสในการเข้าถึงรูปแบบของการศึกษา รูปแบบการทดสอบ และโอกาสที่ OECD จะเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมการพัฒนาการเรียนการสอน

ดังนั้น สิ่งสำคัญในการประชุมวันนี้เราจึงเสนอให้ยกระดับไทยเข้าไปมีบทบาท มีสถานะเป็นสมาชิกหลักของ OECD ซึ่งจะทำให้รู้แนวทางการพัฒนาหลักสูตร รู้ข้อสอบการประเมิน สามารถต่อลองเรื่องวิธีการประเมินได้ ซึ่งการเสนอไทยเข้าเป็นสมาชิกนี้ ศธ.ไม่ใช่เจ้าภาพหลัก แต่เป็นกระทรวงต่างประเทศ และสภาพัฒนาเศฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังนั้น สกศ.จะรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการประชุมในวันนี้เสนอรมว.ศธ. และนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)ต่อไป เพื่อเป็นแนวทางที่จะให้เกิดการขับเคลื่อนการยกระดับการศึกษาของประเทศได้อย่างแท้จริง

ศธ.มุ่งเสริมความรู้สู่โรงเรียนขยายโอกาส 

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. ในฐานะโฆษก ศธ. กล่าวว่าขณะนี้ ทางศธ .ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานยกระดับผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือPISA (Programme for International Student Assessment) ซึ่งคณะทำงานดังกล่าวได้มีการหารือถึงการยกระดับการสอบของนักเรียนปี 2025 ต้องยอมรับว่าผลประเมิน PISA มี คะแนนต่ำลงกว่า 2 ปีที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ผู้เรียนในห้องเรียนลดลง ต้องปรับเรียนออนไลน์แทน 

อีกทั้ง ผลการศึกษา Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD มองว่า สมาธิระหว่างเรียนมีผลกับคะแนนประเมิน เช่น เด็กใช้สมาร์ทโฟนมากเกินไปในเวลาเรียน เป็นต้น รวมถึงทักษะการอ่านและการคิดวิเคราะห์ก็ลดลง 

อย่างไรก็ตาม ผลประเมิน PISA พบว่า นักเรียนกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยทำคะแนนได้สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนสิงคโปร์ แต่กลุ่มนักเรียนที่ทำคะแนนได้ต่ำคือกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาส ดังนั้น ศธ.ได้วางแผนจะมุ่งเสริมความรู้ไปในกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาส ใช้โมเดลโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยมาช่วยสนับสนุน และส่งเสริมการอ่านและการคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น

PISA ตกต่ำผลพวงจากโควิด-19

รศ.ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการ สสวท.กล่าวว่า ผลคะแนน PISA ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงไทยประเทศเดียวที่ผลการประเมิน PISA ต่ำสุดในรอบ 20 ปี แต่เกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก รวมถึง ประเทศสมาชิกของ OECD จำนวน 37 ประเทศด้วย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งแม้แต่สาธารณรัฐประชาชนจีนเอง ไม่ปรากฎข้อมูลเพราะไม่สามารถเก็บข้อมูลได้

ทั้งนี้ ประเทศที่ผลการประเมินอยู่ในอันดับต้นๆ เช่น สิงคโปร์ มาเก๊า เป็นต้น ที่ยังทำคะแนนได้ดีเพราะเด็กสิงคโปร์มีทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเองดี ครูปรับตัวได้เร็ว สามารถเชื่อมต่อกับนักเรียนได้ และปรับการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ได้ ฉะนั้น ถ้าต้องการให้เด็กไทยมีผลประเมินสูงขึ้น จะต้องทำให้เด็กไทยเข้าถึงสื่อการเรียนรู้จากที่ไหนก็ได้ ซึ่ง สสวท.ทำไว้จำนวนมาก แต่จะต้องทำให้เด็กไทยมีอุปกรณ์ หรือเครื่องสื่อสารสำหรับเด็กต้องมีพร้อม ซึ่งที่ผ่านมาเด็กบางกลุ่มไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

อย่างไรก็ตาม ถ้าสังเกตดูผลการประเมิน PISA เมื่อปี 2009 และ 2012 จะเห็นว่าคะแนนกระดกหัวขึ้น เพราะชินกับข้อสอบกระดาษ เข้าใจข้อสอบ โดยข้อสอบจะเน้นทักษะการแก้ปัญหา มีคำตอบแบบตัวเลือก เขียนตอบ และอธิบายคำตอบ ซึ่งเด็กไทยไม่คุ้นกับการอธิบายคำตอบ แต่การประเมิน PISA 2015 เปลี่ยนสอบผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเด็กไทยไม่คุ้น จึงต้องจัดอบรมให้เด็กทำข้อสอบผ่านคอมพิวเตอร์ แต่บางโรงเรียนที่คะแนนดีอย่างโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย 12 แห่ง และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ที่นักเรียนทำข้อสอบผ่านคอมพิวเตอร์ จึงคุ้นชิน ดังนั้น สิ่งที่กำลังร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คือจัดทำระบบข้อสอบออนไลน์คล้ายข้อสอบ PISA เพื่อให้นักเรียน และครู ลงทะเบียน และทดลองใช้ได้

เด็กไทยมีความรู้ แต่ไม่คุ้นทำข้อสอบ

รศ.ดร.ธีระเดชกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาพบว่าเด็กไทยมีความรู้ความสามารถ แต่ไม่คุ้นการทำข้อสอบผ่านคอมพิวเตอร์ ต้องทำข้อสอบแบบ Interactive คือข้อสอบที่ให้ทดลองทำเหมือนการทดลองวิทยาศาสตร์ ซึ่งขณะนี้ได้ขอให้โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยทั้ง 12 แห่ง เป็นเครือข่ายในการขยายผลให้กับโรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่ จัดอบรมครู และนักเรียน ให้คุ้นชินกับข้อสอบ PISA ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหา

นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่ยังพบว่า นักเรียน และครู ไม่ทราบผล PISA เพราะการรายงานผลจะรายงานเป็นสังกัด ทำให้บางคนไม่ให้ความสำคัญกับการทำข้อสอบ รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องซีเรียส ตอบๆ ไป จึงต้องพยายามสื่อสาร และอธิบายกับเด็กๆ ว่าการประเมินคือภาพลักษณ์ของประเทศ ประเทศน่าลงทุนหรือไม่ มีศักยภาพในการลงทุนหรือไม่ จึงต้องสร้างจิตสำนึกในการสอบ PISA

5 ปัจจัยหลัก ยกระดับผลPISA

ศ.ดร.ประสาท  สืบค้า ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์แและเทคโนโลยี กล่าวว่าครูต้องเป็นคนดี หรือครูมืออาชีพมีสมรรถนะสูง และผลสัมฤทธิ์ หรือ สมรรถนะของผู้สอบPISA มีการพัฒนาขึ้นต้องอาศัยปัจจัยที่จะทำให้การศึกษาเป็นกระบวนการระยะยาว ครู นักเรียน หลักสูตร โครงสร้างพื้นฐาน และระบบบริหารจัดการและการสร้างแรงจูงใจ ต้องไปด้วยกัน  นอกจากเรื่องของการพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนแล้ว นักเรียนต้องอยู่ดี กินดี และมีความปลอดภัยในสถานศึกษา ดังนั้น การจะทำให้คะแนน PISA ของเด็กดีขึ้น ไม่ใช่เพียงปรับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ต้องทำทุกเรื่องไปด้วยกัน

สำหรับครูถือว่ามีส่วนสำคัญมากๆ ในการช่วยนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนกลุ่มช้างเผือก ที่มีมากถึง 15% เป็นนักเรียนที่เก่ง แต่ฐานะทางบ้านไม่ดี ซึ่งฐานะจะไม่ใช่อุปสรรคเลยถ้าได้ครูดี เพราะข้อสอบ PISA จะเน้นการแก้ปัญหา คิด วิเคราะห์ ดังนั้น ครูต้องใช้คำถามเป็นตัวนำให้เด็กได้คิด จึงต้องอบรมให้ครูเป็นโค้ช แทนการให้ความรู้ แนะนำเด็กได้ ให้สนุกกับการเรียน และเรียนรู้ต่อด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ในพื้นที่ห่างไกลที่ครูขาดแคลน เด็กได้เรียนบ้าง ไม่ได้เรียนบ้าง จะทำให้เด็กเข้าถึงสื่อได้อย่างไร ทั้งที่มีเนื้อหาเยอะมาก ซึ่ง สสวท.ก็มีในรูปแบบดิจิทัล

ขณะที่ หลักสูตรอาจจะไม่ใช่ ปัญหา สิ่งสำคัญที่สุด คือต้องเปลี่ยนวิธีกระบวนการวัดและประเมินผลมากกว่า แทนที่จะตั้งคำถามแบบท่องจำคำตอบ ต้องตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใด แต่ถ้าอยากปรับหลักสูตรใหม่ ผู้เกี่ยวข้องจะต้องคุยกันจริงๆ เพราะหลายวิชามีเนื้อหาซ้ำซ้อนกัน สามารถบูรณาการได้ และนำเวลาที่เหลือไปเพิ่มกิจกรรมเสริม