พฤติกรรมคนไทย-นักท่องเที่ยวต่างชาติ ดื่มแอลกอฮอล์ช่วง 2ทุ่มถึง 5 ทุ่ม

พฤติกรรมคนไทย-นักท่องเที่ยวต่างชาติ ดื่มแอลกอฮอล์ช่วง 2ทุ่มถึง 5 ทุ่ม

นักเศรษฐศาสตร์ มธ.วิจัยพบพฤติกรรมคนไทยส่วนใหญ่ดื่มแอลกอฮอล์ช่วง 2 ทุ่มถึง 5 ทุ่ม สอดคล้องกับนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ 67% ก็ดื่มในเวลาเดียวกัน มีเพียง 30 % ที่ดื่มช่วงห้าทุ่มถึงตี 2 แนะตั้งราคาขายสูง เก็บภาษีเหล้า เบียร์ ในพื้นที่พิเศษเป็นทุนช่วยบรรเทาผลกระทบ

นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.) กล่าวเปิดงานเสวนาและแถลงเปิดผลวิจัย 'นโยบายเปิดสถานบริการ ผับ บาร์ ตี 4' จัดโดย มสส.และขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) ว่ายังมีคำถามหลายประการจากกรณีคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกฎกระทรวงมหาดไทยให้สถานบริการในจังหวัดท่องเที่ยวในกรุงเทพมหานคร ชลบุรี  ภูเก็ต เชียงใหม่และเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานีเปิดบริการได้ถึงตี 4 ว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวได้จริงหรือไม่

ขณะที่การรับฟังความคิดเห็นฝ่ายต่างๆดำเนินการผ่านทางออนไลน์เท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมไปถึง การรับฟังเสียงของประชาชนในวงกว้างแต่อย่างใด  แต่ก็มีการประกาศเดินหน้านโยบายแล้ว

มสส.และ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพประชาชน ร่วมกับทีมวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ ได้ศึกษาวิจัย และสำรวจความเห็นของประชาชนที่มีต่อนโยบาย ดังกล่าวของรัฐบาล รวมถึง การประเมิน ผลกระทบ ทางนโยบาย ว่ามีความคุ้มค่าจริงหรือไม่ เพื่อส่งเสียงสะท้อนไปยังรัฐบาลให้ทบทวนและมีความรอบคอบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เบียร์ ‘กำไรต่ำ’ สำรวจ 'ราคา' น้ำเมาเก่า-ใหม่ ศึกชิงนักดื่มหน้าตู้แช่

บอร์ดน้ำเมา ไม่ขยายเวลาเมาถึงตี 2 ช่วงปีใหม่ 2566

วิจัยพบช่วงเวลามีผลต่อการดื่มของคนไทย-นักท่องเที่ยวต่างชาติ

ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยผลการศึกษา 'การประเมินผลทางเศรษฐกิจ  สุขภาพและสังคม หากมีการกำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับนักท่องเที่ยวยามค่ำคืน  ด้วยการขยายเวลาเปิดผับบาร์ สถานบันเทิง' ว่าจากการเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยว 1,200 คน ใน 4 พื้นที่ คือ ถนนข้าวสาร กรุงเทพฯ, พัทยา จ.ชลบุรี, หาดป่าตอง ภูเก็ต และหาดเฉวง เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี แบ่งเป็นคนไทย 900 คน นักท่องเที่ยวต่างชาติ 300 คน ในเดือนเมษายน 2566

โดยใช้สถานการณ์สมมติทั้งช่วงเวลาขาย และราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า พฤติกรรมโดยทั่วไปของนักท่องเที่ยวไทย 65% มีการดื่มนอกบ้านอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ดื่มที่ร้านอาหาร ในช่วงเวลา 17.00-20.00 น. ถ้าดื่มที่สถานบันเทิง ช่วงเวลาประมาณ 20.00 – 23.00 น. ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะดื่มเริ่มตั้งแต่ 14.00 -17.00 น. คิดเป็น 25% ส่วนการดื่มช่วงเย็นอยู่ที่ 50% ในขณะที่กว่า 67% จะดื่มช่วง 20.00 - 23.00 น.  และ 30% จะดื่มช่วง 23.00 - 02.00 น.

พฤติกรรมคนไทย-นักท่องเที่ยวต่างชาติ ดื่มแอลกอฮอล์ช่วง 2ทุ่มถึง 5 ทุ่ม

เมื่อสอบถามปริมาณการดื่ม ช่วงเวลาและราคาที่แตกต่างกัน ผู้วิจัยประเมินว่า หากสามารถดื่มหลังเที่ยงคืนได้  โดยราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ที่ 70 บาท ต่อหน่วยมาตรฐาน หรือเบียร์ขวดเล็ก  พบว่าชาวไทยจะดื่มเพิ่มขึ้น 0.45 หน่วยมาตรฐาน ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติดื่มเพิ่มขึ้นชั่วโมงละ 0.56 หน่วยมาตรฐาน  

ถ้าคิดเป็นตัวเลขที่เปิดสถานบันเทิงเพิ่มอีก 4 ชั่วโมง หากขายราคา 70 บาท คนไทยจะดื่มเพิ่ม 1.8 หน่วยมาตรฐาน นักท่องเที่ยวต่างชาติดื่มเพิ่ม 2.25 หน่วยมาตรฐาน ดังนั้นหากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ที่ 160 บาทต่อหน่วยมาตรฐานจะพบว่าคนไทยจะดื่มเพิ่มขึ้น 0.27 หน่วยมาตรฐาน ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะดื่มเพิ่มขึ้น 0.25หน่วยมาตรฐาน  ต่อชั่วโมง  

 

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ราคาสูง ปริมาณดื่มน้อยลง

หากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีราคาสูงขึ้น อัตราการดื่มที่มาจากการขยายเวลาก็จะเพิ่มไม่มาก หากคำนวณปริมาณการดื่มทั้งปีของนักท่องเที่ยวต่างชาติใน 4 พื้นที่ที่สำรวจ คนไทยจะดื่มประมาณ 9 ล้านหน่วยมาตรฐาน ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 43 ล้านหน่วยมาตรฐาน และเมื่อคูณกับต้นทุนด้านเศรษฐกิจ  สุขภาพและสังคม โดยอิงจากงานวิจัยที่ผ่านๆ มา  จะพบว่าต้นทุนที่จะเกิดแก่สังคมจะอยู่ที่ประมาณ 258 ล้านบาท  

นอกจากผลทางเศรษฐกิจจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น  การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบทั้งสุขภาพและสังคม จึงต้องลดปริมาณการดื่ม และมาตรการช่วยลดการดื่มได้คือการเพิ่มราคาให้สูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาอื่น ๆ ในด้านเศรษฐศาสตร์

"ผมเห็นว่า การเพิ่มภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  โดยเฉพาะในสถานบันเทิงร้านเหล้า ผับบาร์ จะเป็นเครื่องมือสำคัญ   ควรถูกนำมาใช้บรรเทาปัญหาที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่นั้น เช่นการควบคุมดูแลนักท่องเที่ยวหลังเวลาปิด มีจุดตรวจที่เข้มข้น มีบริการสาธารณะเพื่อเดินทาง เป็นต้น “รวมไปถึงการจำกัดความ คำว่า โซนนิ่ง ให้ชัดเจนมีมาตรการรองรับที่รัดกุม มีการ Tracking ว่าคนดื่มมาจากร้านไหน เพื่อทางร้านควรมีส่วนรับผิดชอบ” ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ กล่าว  

พฤติกรรมคนไทย-นักท่องเที่ยวต่างชาติ ดื่มแอลกอฮอล์ช่วง 2ทุ่มถึง 5 ทุ่ม

ประชาชนไม่เห็นด้วยนโยบายขยายเวลาปิดสถานบันเทิง

ด้าน ดร.สุริยัน บุญแท้ ผู้จัดการศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) กล่าวว่า ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน 3,083 คน ใน 12 จังหวัดครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2566 โดยความเห็นของประชาชนต่อนโยบายขยายเวลาปิดสถานบันเทิง จากตี 2 ไปเป็นตี 4 ภาพรวมคนมีแนวโน้มเห็นด้วยกับการขยายเวลา 21 % ไม่เห็นด้วย 53% แต่ถ้าไปจำกัดพื้นที่ท่องเที่ยวพิเศษ อย่างเช่น ซอยนานา ข้าวสาร สีลม ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ โอกาสเห็นด้วยจะขยับขึ้นมา 39%  อีก 33% ไม่เห็นด้วย

ทั้งนี้ การศึกษาภาพรวมพบว่า 3 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่างมองไม่เห็นประโยชน์เกี่ยวกับนโยบายนี้ มีเพียง 1 ใน 4 โดยฝ่ายที่มองเห็นประโยชน์ โดยให้เหตุผลอันดับหนึ่งว่าทำให้มีเวลาดื่ม กิน เที่ยวมากขึ้น ส่วนการช่วยเรื่องการค้าขายในพื้นที่ให้ดีขึ้นมีรายได้ของธุรกิจเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องรองลงมา

ด้านข้อกังวลใจพบว่า 75.4% ห่วงเรื่องเมาแล้วขับ 64.8% ห่วงว่าจะดื่มมากขึ้น มีแค่ไม่ถึง 10% ที่บอกว่า ไม่กังวลใดๆ พร้อมทั้งเสนอให้รัฐบาลจัดโซนนิ่งสถานบันเทิง ควบคุมอายุนักท่องเที่ยว ตรวจจับปัญหายาเสพติด เข้มงวดการรักษาความสงบเรียบร้อย ตรวจตราผู้ขับขี่ยานพาหนะ ตรวจตราแหล่งมั่วสุมยามค่ำคืน  

ดร.สุริยัน กล่าวต่อว่า การรับฟังความคิดเห็นต่อนโยบายนี้ยังน้อยเกินไป โดยเฉพาะความกังวลเรื่องผลกระทบต่างๆ มีแต่พูดถึงข้อดีแต่ด้านผลกระทบและแนวทางควบคุมป้องกันยังพูดถึงไม่มาก แม้กระทั่งพื้นที่ท่องเที่ยวเองก็พูดเฉพาะปัญหาอุบัติเหตุ แต่ปัญหาเมาแล้วขับจะจัดการอย่างไร จะป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงแอลกอฮอล์ได้อย่างไรยังไม่มีการพูดถึง จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการควบคุมดูแลอย่างเป็นรูปธรรม

 ส่วนรัฐบาลนั้นการจะเดินหน้านโยบายไม่ว่า จะเป็นสุราก้าวหน้า หรือขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง ควรมีมาตรการควบคุมและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย รวมทั้งมีทางเลือกให้สังคมพิจารณาร่วมกันว่า ถ้าอยากกระตุ้นการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจของแหล่งท่องเที่ยวนั้น จะมีมาตรการอื่นที่คุ้มค่ากว่าหรือไม่ และคำนึงถึงปัญหาสุขภาวะ ปัญหาสังคมประกอบด้วย ไม่มองแค่มิติเศรษฐกิจที่เป็นตัวเงินอย่างเดียว  

พฤติกรรมคนไทย-นักท่องเที่ยวต่างชาติ ดื่มแอลกอฮอล์ช่วง 2ทุ่มถึง 5 ทุ่ม

ขยายเวลาเปิดผับบาร์ เพิ่มขึ้น อุบัติเหตุ-เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น

ด้านภาคีเครือข่ายและสื่อมวลชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายส่วนใหญ่เป็นห่วงว่าจะได้ไม่คุ้มเสียและต้องมีมาตรการด้านลดผลกระทบที่ชัดเจน

รศ.ดร.นพ. อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ตัวแทนศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ได้นำเสนอผลงานวิจัยของต่างประเทศ พบว่า หากมีการขยายเวลาเปิดผับ บาร์ เพิ่มขึ้น 1 ชั่วโมง จะมีปัญหาอุบัติเหตุความรุนแรงและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลควรส่งเสริมเศรษฐกิจภาคกลางคืน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์จะดีกว่า

ส่วนนายวิษณุ  ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สคล. สะท้อนว่า รัฐบาลควรมีมาตรการรองรับในเขตโซนนิ่งให้ชัดเจน ปัญหาอุปกรณ์เครื่องตรวจวัดแอกอลฮอล์ที่ยังขาดแคลนอยู่จะแก้อย่างไร ควรมีกองทุนเยียวยาให้แกผู้ได้รับผลกระทบ 

นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เปิดเผยข้อมูลเว็ปไซต์ การประกันภัยนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก พบว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 12 ของความเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน ดังนั้นนโยบายขยายเวลานี้ ตนเองเห็นว่า เป็นนโยบายที่อำมหิตและคิดน้อย ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน  ดังนั้นในสัปดาห์หน้า ตนเองและภาคีจะไปยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายในเรื่องนี้

ด้านสื่อมวลชน โดยนายชูชาติ สว่างสาลี ผู้ก่อตั้งเว็ปไซต์เนตรทิพย์ ได้สะท้อนความกังวลว่าจะเกิดพับ บาร์ ผุดขึ้น และปิด ตี 4 ในพื้นที่ใกล้เคียง และจะขยายไปทั่วประเทศ

นายจิระ ห้องสำเริง จากแซ่บเรดิโอ บอกว่า ก่อนหน้านี้ติดตามข่าวทราบว่ารัฐบาลจะเปิดรับความคิดเห็น วันดีคืนดีออกมาตรการมาแล้ว ขณะที่ยอดจำหน่ายสุราของผู้ประกอบการช่วงนี้ลดวูบลงเลยถึงบางอ้อว่า ผู้ประกอบการธุรกิจแอลกอฮอล์ต้องการเพิ่มยอดขาย รวมทั้งการแข่งขันธุรกิจแอลกอฮอล์ในปัจจุบันมีคู่แข่งหน้าใหม่เพิ่มจึงทำให้รัฐบาลต้องรีบใช้มาตรการ แต่ก็อยากให้คำนึงถึงผลกระทบรอบด้านด้วย