เปิดแน่!!พ.ค.นี้ สทป.เล็งตั้งมินิมาร์ทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน U2T for BCG

เปิดแน่!!พ.ค.นี้ สทป.เล็งตั้งมินิมาร์ทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน U2T for BCG

สทป. โชว์เคสผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน ภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานราก หลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T) กว่า 50 ตำบล จาก 5 จังหวัด สร้างงาน สร้างอาชีพ ตั้งเป้าเดือนพ.ค.นี้ เล็งเปิดมินิมาร์ท จำหน่ายสินค้า-ผลิตภัณฑ์ชุมชนย่านปทุมวัน ขยายตลาด รองรับนักท่องเที่ยว

Keypoint:

  • โครงการ 'มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG' เชื่อมองค์ความรู้มหาวิทยาลัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ
  • โชว์เคส พัฒนาสินค้า-ภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่ผลิตภัณฑ์คุณภาพ ได้รับมาตรฐาน การทำงานร่วมกันระหว่าง 50 กว่าตำบล 5 จังหวัด กับสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน 
  • เดือนพ.ค.นี้ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เตรียมเปิดมินิมาร์ท ร้านสะดวกซื้อจัดจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์จากชุมชน ขยายตลาดจากหิ้งสู่ห้างย่านปทุมวัน

'โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development)' หรือโครงการ 'มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG' เป็นการเปิดรับบัณฑิตจบใหม่และประชาชนในพื้นที่ต่างๆ

ปัจจุบันมีทั้งหมด 7,435 ตำบล 77 จังหวัด กว่า 68,350 คน ที่ต้องการร่วมงานเป็นทีมเดียวกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งจะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยรัฐ 70 กว่าแห่ง มหาวิทยาลัยเอกชน 20 แห่ง ตลอดจนภาคประชาสังคม หน่วยงานในพื้นที่ และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยในการขับเคลื่อนโครงการ U2T for BCG เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก โดยสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่ได้รับมอบการดูแลในจังหวัดอุทัยธานีทั้งสิ้น 43 ตำบล

แต่ละตำบลมีความโดดเด่นต่างกันไป อาทิ ตำบลระบำมีความรู้ ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการทอผ้า การจักรสาน จนเป็นที่รู้จัก และมีการสั่งทอผ้าเข้ามาเป็นจำนวนมากเพื่อนำไปใช้ตัดชุด เป็นของที่ระลึก ฯ หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย การจักสานหวาย ไม้ไผ่ เพื่อใช้ในครัวเรือนและปรับปรุงเป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

อว.เปิดลงทะเบียน “U2T for BCG” รับบัณฑิตจบใหม่-ปชช. 7 หมื่นคน เริ่ม 17 มิ.ย. นี้

สทป.พัฒนา 'อากาศยานไร้คนขับไฮบริด' ตอบโจทย์อุตฯ ป้องกันประเทศ

อว. ต่อยอดโครงการ U2T for BCG | ดนุช ตันเทอดทิตย์

หุ่นยนต์ทหาร เบิกทาง‘สทป.’สู่ตลาด

 

อุดมศึกษาต้องเปลี่ยน ร่วมพัฒนาช่วยเหลือชุมชน สังคม

สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน (สทป.) ได้ จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG)เป็นสินค้าจากชุมชนที่ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทีมงาน U2T for BCG ของ 50 กว่าตำบล 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี , พระนครศรีอยุธยา , ราชบุรี , สุพรรณบุรี , สมุทรสงคราม และกาญจนบุรี

โดยมี ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมกับ ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์   ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา ฯ  และนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร และเจ้าหน้าที่เข้าร่วม 

ดร. ดนุช กล่าวว่าแนวโน้มของสถาบันอุดมศึกษาในอนาคต สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไป คือ เรื่องความต้องการของตลาดแรงงาน หรือผู้ประกอบการ ซึ่งก่อนจะผลิตบัณฑิต อุดมศึกษาต้องสอบถาม ศึกษาไปยังตลาดแรงงานและผู้ประกอบการ ว่าต้องการคนแบบไหน  มีทักษะอะไร และเปิดให้สถานประกอบการมีส่วนร่วมในการออกแบบ ผลิตและสร้างคน เพื่อนำไปสู่การจ้างงานนักศึกษา

รวมถึงในช่วงกำลังศึกษา ควรมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ในการฝึกงาน ฝึกสหกิจศึกษา เพราะไม่ว่าจะตอนนี้ หรือตอนไหน สถาบันอุดมศึกษา ไม่สามารถอยู่ได้ตามลำพังในสังคม สถาบันอุดมศึกษา ต้องมีส่วนร่วมช่วยเหลือ พัฒนาชุมชน สังคม 

 

ปี 66 เดินหน้าสานต่อโครงการU2T for BCG

“สถาบันอุดมศึกษาจะทำหน้าที่เพียงผลิตบัณฑิตอย่างเดียว คงไม่เพียงพอ ซึ่งจากสถานการณ์โควิด-19 แสดงให้เห็นว่าอุดมศึกษาต้องปรับตัวเป็นโรงพยาบาลสนาม คิดค้นนวัตกรรมต่างๆ  และหลังโควิด พบว่าพี่น้องประชาชนประสบปัญหาเรื่องการค้าขาย เรื่องอาชีพ ตกงาน โครงการ U2T for BCG จึงเกิดขึ้น เพื่อให้อาจารย์ เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ชุมชน ช่วยเหลือชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ" ดร. ดนุช กล่าว

จากการดำเนินโครงการดังกล่าว ทำให้เกิดการพัฒนาชุมชน 7,435 ตำบล ซึ่งพี่น้องประชาชนในทุกตำบล มีอัตลักษณ์ มีภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่องค์ความรู้อยู่ในมหาวิทยาลัย เช่น การตลาดออนไลน์ หรือการทำแพคเกจจิ้ง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน และในปี 2566 ได้มีแผนในการดำเนินโครงการต่อเนื่อง

ดังนั้น ต่อให้รัฐบาลมีการเปลี่ยนผ่าน แต่โครงการU2T for BCG ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีการให้แต่ละหน่วยงานในอว. จัดสรรงบประมาณ กำลังคน นักวิชาการ นักวิจัย เพื่อพัฒนาคนชุมชนให้เป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ ทำให้สินค้าชุมชนจากท้องถิ่นสู่ห้าง และเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น ผ่านการตลาดออนไลน์ และออฟไลน์

สทป.พร้อมยกระดับเศรษฐกิจฐานราก คุณภาพชีวิตชุมชน

รศ.ดร.เสถียร  ธัญญศรีรัตน์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน กล่าวว่าการจัดโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development) สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ได้รับจัดสรรงบประมาณโครงการ U2T for BCG ดังกล่าวจาก อว. ในการส่งเสริม พัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน ให้เข้าสู่กลุ่มตลาดออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเป็นการสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน

โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มประชาชน ชุมชนในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี , พระนครศรีอยุธยา , ราชบุรี , สุพรรณบุรี , สมุทรสงคราม และกาญจนบุรี พร้อมด้วยบัณฑิตจบใหม่ และประชาชนที่ว่างงานจากผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีทีมอาจารย์ นักวิจัย  จากทางสถาบันฯ และเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต่อยอดภูมิปัญญาของชุมชน เพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชน และแพร่กระจายให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

เล็งเปิดมินิมาร์ท หน้าสทป.ขายสินค้าชุมชน 

ความสำเร็จในเบื้องต้นจากการนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ นำมาจัดจำหน่ายและทดลองเปิดตลาด ซึ่งได้รับผลการตอบรับจากประชาชนที่เข้าร่วมงานเป็นอย่างดี สังเกตได้จากสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้จำหน่ายหมดลงในระยะเวลาอันรวดเร็วและไม่เพียงพอต่อความต้องการทำให้ประชาชนที่ได้รับทราบข่าวสารและกลุ่มเครือข่ายต่างๆ มีความต้องการอยากให้สินค้าชุมชนที่มีคุณภาพดังกล่าว มาเปิดตลาดในเขตกรุงเทพมหานคร

"ในเดือนพ.ค.นี้ ทางสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน มีแผนจะเปิดมินิมาร์ท ร้านสะดวกซื้อหน้าสถาบัน เพื่อเป็นพื้นที่จัดจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์จากโครงการ U2T for BCG ซึ่งไม่ใช่เพียงสินค้าจาก 50 กว่าตำบล 5 จังหวัดที่สทป.ได้ลงพื้นที่พัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่รวมถึงตำบล ชุมชนอื่นๆ ร่วมด้วย ถือเป็นการขยายตลาดให้แก่ชุมชน และรองรับนักท่องเที่ยว เพราะย่านปทุมวัน มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และผลิตภัณฑ์ชุมชนแต่ละพื้นที่มีอัตลักษณ์ เป็นของดีแต่ละชุมชนแตกต่างกัน จะช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็นที่รู้จักมากขึ้น สร้างงาน สร้างรายได้ และอาชีพให้แก่คนในชุมชน" รศ.ดร.เสถียร  กล่าว

อย่างไรก็ตาม โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล จะช่วยสร้างรากแก้วให้ประเทศ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ มหาวิทยาลัยได้สามารถใช้องค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม และทรัพยากรของมหาวิทยาลัย ในการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาประเทศ

ในขณะเดียวกันก็สามารถที่จะนำโจทย์หรือปัญหาของประเทศ มาสู่การพัฒนาศักยภาพกำลังคน พัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศ โดยการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการโดยมหาวิทยาลัยเป็น System Integrator จัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Community Big Data) เกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณทิตใหม่ และ นักศึกษา ให้มีงานทำและฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน เกิดการพัฒนาตามปัญหาและความต้องการของชุมชนเป็นหลัก