“ปทุมวัน ZERO WASTE” รวมพลัง “มาหามิตร” ไม่เทรวม

“ปทุมวัน ZERO WASTE”  รวมพลัง “มาหามิตร” ไม่เทรวม

“กรุงเทพมหานคร” เป็นเมืองที่มีปริมาณขยะมูลฝอยต่อวันมากที่สุดของประเทศไทย โดยปี 2565 กรุงเทพฯ มีปริมาณขยะ 10,706 ตันต่อวัน คนกรุงสร้างขยะวันละ 2-3 กิโลกรัมต่อวัน ส่งผลให้กทม.มีนโยบายในการบริหารจัดการขยะ โดย“ไม่เทรวม” หนึ่งในโครงการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง

ตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ( 2556-2575) กรุงเทพฯ ต้องลดปริมาณขยะลงเหลือศูนย์ หรือให้เหลือขยะที่จะนำไปกำจัดไม่เกิน ร้อยละ 20 และภายในปี 2566 ต้องเปลี่ยนวิธีการกำจัดขยะจากฝังกลบร้อยละ 80 เหลือเพียงร้อยละ 20 ด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มมากขึ้น

ทว่าในทางปฏิบัติการกำจัดขยะตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางจะไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการคนในกรุงเทพฯ ไม่คัดแยกขยะ ในจำนวนขยะ 10,706 ตันต่อวัน สามารถแยกขยะเพื่อรีไซเคิลได้ 3,672 ตันต่อวัน และเมื่อไม่มีการคัดแยกขยะ ทำให้มีขยะที่ต้องนำไปกำจัดมากถึงร้อยละ 90

“ปทุมวัน ZERO WASTE”  รวมพลัง “มาหามิตร” ไม่เทรวม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"มาหามิตร" ลดโลกร้อน พันธกิจที่ทำคนเดียวไม่ได้

ชวนนักท่องเที่ยว ‘คัด-แยก-ลด’ ป้องกันขยะล้น แหล่งท่องเที่ยวไทย

ท่องเที่ยว "ปีใหม่" รับผิดชอบขยะ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

"อลิอันซ์ อยุธยา" สานต่อความยั่งยืน ตั้ง "ธนาคารอาหารออนไลน์" แห่งแรกของไทย

 

'ไม่เทรวม' จัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง

'ไม่เทรวม' หนึ่งในโครงการของ กทม.เพื่อการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 นำร่องในพื้นที่ 3 เขต ได้แก่ เขตหนองแขม เขตปทุมวัน และเขตพญาไท ตามกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ 8 เดือน ระหว่างเดือนสิงหาคม 2565 ถึงเดือนมีนาคม 2566

เขตปทุมวันติดท็อป 5 ของพื้นที่เขต กทม.ที่มีปริมาณขยะมากที่สุด สามารถเก็บขยะ ไม่เทรวมได้ 17,073 กิโลกรัม และได้ขยายการรับขยะอินทรีย์ โดยให้ประชาชนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการผ่านทางแอปพลิเคชันทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue)

“ปทุมวัน ZERO WASTE”  รวมพลัง “มาหามิตร” ไม่เทรวม

การบริหารจัดการขยะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งทำคงไม่สำเร็จ เพราะขยะเกิดจากการใช้ชีวิต พฤติกรรมของทุกคน ล่าสุด 'กลุ่มมาหามิตร' การรวมกลุ่มของภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ อย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อลิอันซ์ อยุธยา เอ็มบีเค โรงแรมศิวาเทล และมูลนิธิกู้ภัยอาหารแห่งแรกของประเทศไทย(Scholars of Sustenance Thailand - SOS Thailand) ได้ร่วมกับสำนักงานเขตปทุมวัน ดำเนินการตามนโยบายของกรุงเทพฯ ขับเคลื่อน 'ไม่เทรวม' ขับเคลื่อนต้นแบบการจัดการขยะ 'ปทุมวัน ZERO WASTE'

 

ม.ค.ขยะเศษอาหารเขตปทุมวัน 21,358 กก.

'สุขวิชญาณ์ นสมทรง' ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม. เล่าว่าจากการดำเนินการ พบว่า เขตปทุมวันมีปริมาณขยะมูลฝอย แบ่งเป็น ขยะทั่วไป มีปริมาณ 7,455 ตัน/เดือน เฉลี่ย 249 ตันต่อวัน ขยะเศษอาหาร/ย่อยสลายได้ 12 ตันต่อเดือน เฉลี่ย 401 กิโลกรัมต่อวัน และขยะอันตราย 2 ตันต่อเดือน เฉลี่ย 64 กิโลกรัมต่อวัน

เมื่อพิจารณาโครงการไม่เทรวมในแต่ละเดือนพบว่า

ก.ย.2565 เศษอาหารที่จัดเก็บได้ 12,035 กิโลกรัม เฉลี่ย 401 กิโลกรัมต่อวัน

ต.ค.2565 เศษอาหารที่จัดเก็บได้ 11,781 กิโลกรัม เฉลี่ย 380 กิโลกรัมต่อวัน

พ.ย.2565 เศษอาหารที่จัดเก็บได้ 12,875 กิโลกรัม เฉลี่ย 429 กิโลกรัมต่อวัน

ธ.ค.2565 เศษอาหารที่จัดเก็บได้ 11,546 กิโลกรัม เฉลี่ย 372 กิโลกรัมต่อวัน

ม.ค.2566 เศษอาหารที่จัดเก็บได้ 21,358 กิโลกรัม เฉลี่ย 688 กิโลกรัมต่อวัน 

ขยะที่เก็บมาได้นั้นส่วนใหญ่จะมาจากร้านค้า หาบเร่ แผงลอย เขตปทุมวัน เป็นเขตต้นแบบในการลด  คัดแยกขยะอย่างมีรูปธรรม ในอนาคตจะขยายสู่ภาคส่วนต่างๆ ทำให้จัดการขยะอย่างยั่งยืน

“ปทุมวัน ZERO WASTE”  รวมพลัง “มาหามิตร” ไม่เทรวม

'มาหามิตร'ไม่เทรวมลดขยะ 20 %

'ปทุมวัน ZERO WASTE' หรือเขตปทุมวันไร้ขยะ จะเป็นการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 15 เดือน ผลักดันให้แหล่งกำเนิดที่มีขยะมาก ไม่ว่าจะเป็น อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า หาบเร่แผงลอย และสถานศึกษา ให้ลดและคัดแยกขยะในเขตปทุมวันให้มากที่สุด โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการลดขยะลงให้ได้ 20%

'กอปร ลิ้มสุวรรณ' ผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste เล่าว่าจุฬาฯ มีเป้าหมายลดปริมาณขยะเหลือทิ้งภายในมหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่า ร้อยละ 30 ภายในปี 2565 ที่ผ่านมาดำเนินการลดปริมาณขยะได้มากกว่า 50 % เป็นหนึ่งในภาคีของโครงการ BKK Zero Waste ต่อยอดโครงการเทไม่รวม เพื่อพัฒนาระบบการลด และคัดแยกขยะใน 84 แหล่งกำเนิดจาก 2 เขตนำร่อง ปทุมวัน และหนองแขม เพื่อผลักดันให้แหล่งกำเนิดมีการลดและคัดแยกขยะมากขึ้น ทำให้ปทุมวัน Zero Waste เป็นต้นแบบเมืองจัดการขยะ และสิ่งแวดล้อมที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน

'โครงการเทไม่รวม' มีสถานประกอบการและประชาชนในโครงการเข้าร่วม 11,37 แห่ง สามารถจัดเก็บขยะอินทรีย์ได้ 125 แห่ง ซึ่งมีทั้งที่ให้เขตปทุมวันจัดเก็บ และบางแห่งมีการคัดแยกแล้วบริหารจัดการเอง

“ปทุมวัน ZERO WASTE”  รวมพลัง “มาหามิตร” ไม่เทรวม

'Zero Waste Community'ลดขยะทำได้จริง

'พัชรา ทวีชัยวัฒนะ' รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารลูกค้า บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต เล่าว่าตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน อลิอันซ์ อยุธยา ส่งเสริมการแยกขยะในกลุ่มพนักงาน ทั้งการแยกขยะที่บ้าน และที่ทำงาน มีการพัฒนารูปแบบของถังขยะ วิธีการคัดแยกขยะ จัดการขยะ และปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องการแยกขยะ ซึ่งสามารถลดปริมาณขยะไปยังบ่อฝังกลบได้อย่างต่อเนื่อง 

พนักงานประมาณ 1,200 คน ช่วยกันคัดแยกขยะทำให้ขยะไปบ่อฝังกลบลดลง 49% และในโครงการปทุมวัน Zero Waste นี้จะขอความร่วมมือไปยังบริษัทต่างๆ ในอาคารเพลินจิตทาวเวอร์ และร้านหาบเร่ แผงลอยต่างๆ เพื่อร่วมกันคัดแยกขยะ ลดปริมาณขยะที่เริ่มต้นด้วยตัวเอง   

“ปทุมวัน ZERO WASTE”  รวมพลัง “มาหามิตร” ไม่เทรวม

ขณะที่ โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ มีการลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง และการจัดการขยะเศษอาหารสู่ Zero Food Waste มาตั้งแต่ปี 2559 โดยมีเป้าหมายจะลดขยะไปบ่อฝังกลบเป็นศูนย์ให้ได้ ในปี 2567 ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ปลอดขยะทุกชนิด และสามารถลดขยะในโรงแรมได้มากถึง 90%

"อลิสรา ศิวยาธร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ เล่าว่า กระบวนการจัดการขยะทุกประเภทของโรงแรม โดยต้องเริ่มจากการปรับความคิด การปฏิบัติงานของพนักงาน ไปจนถึงการสร้างจิตสำนึกในกลุ่มลูกค้า ซึ่งในโรงแรมลดการสร้างขยะ เลิกใช้ขวดพลาสติกในโรงแรม มีการหมุนเวียนวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ มีการปลูกผัก สมุนไพร ไว้ใช้ในโรงแรม และพร้อมแบ่งปันประสบการณ์การลดขยะให้หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ

“ปทุมวัน ZERO WASTE”  รวมพลัง “มาหามิตร” ไม่เทรวม

แนวทางบริหารจัดการขยะในพื้นที่ กทม.

ทั้งนี้ สำหรับการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ กทม.แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 การจัดการขยะต้นทาง การคัดแยกขยะ ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นในระดับประชาชนทั่วไป แต่จะมีการคัดแยกขยะจากรถซาเล้ง หรือ เจ้าหน้าที่ กทม.เก็บขนขยะ แยกภายในรถ ทำให้แต่ละวันสามารถแยกขยะได้ 3,672 ตันต่อวัน แบ่งเป็น ขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก กระดาษ 2,845 ตันต่อวัน และขยะอินทรีย์ นำไปทำปุ๋ยได้ 821 ตันต่อวัน

ระยะที่ 2 การจัดการขยะที่กลางทาง เป็นเรื่องของการจัดเก็บขยะ ซึ่ง กทม.จะมีรถเก็บขนมูลฝอยจำนวน 2,140 คัน เป็นรถของ กทม. 495 คัน รถเช่า 1,571 คัน เรือเก็บมูลฝอย 111 ลำ มีพนักงานเก็บขนมูลฝอยรวมทั้งสิ้น 10,454 คน ซึ่งการจัดเก็บจะไม่ให้เหลือขยะตกค้างในแต่ละวัน

“ปทุมวัน ZERO WASTE”  รวมพลัง “มาหามิตร” ไม่เทรวม

ระยะที่ 3 การจัดการขยะที่ปลายทาง โดยการจัดการขยะ ปลายทางกรุงเทพฯ ใช้วิธีการฝังกลบ เผา หรือ สร้างโรงไฟฟ้าขยะ และนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์