ความหมายและที่มาคำไทย | วรากรณ์ สามโกเศศ

ความหมายและที่มาคำไทย | วรากรณ์ สามโกเศศ

มาตรฐานของภาษาไทยในเรื่องการใช้ภาษา ความหมายของคำศัพท์ ที่มาของวลี ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นการทำให้เกิดการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ทุกคนอ่านแล้วเกิดความชัดเจนในเนื้อหาของกฎหมาย สัญญาหนังสือ คำรับรอง บันทึก ฯลฯ ราชบัณฑิตยสถานของไทยได้ทำหน้าที่มายาวนานอย่างดียิ่ง  

ข้อความอธิบายคำและวลีต่อไปนี้มาจากหนังสือ “รู้รักภาษาไทย” ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2552)

องค์การ” และ “องค์กร” ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า organization หมายถึง หน่วยงานที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายร่วมกันและดำเนินกิจกรรมร่วมกันอย่างมีขั้นตอน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง

ความหมายและที่มาคำไทย | วรากรณ์ สามโกเศศ

สองคำนี้ถึงแม้จะมีความหมายหลักเหมือนกันและอาจใช้แทนกันได้ในบางกรณี แต่มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง คือคำว่า “องค์การ” มักปรากฏร่วมกับคำอื่นและใช้เป็นชื่อเรียกหน่วยงาน

เช่น องค์การพัฒนาเอกชน องค์การเภสัชกรรม องค์การสะพานปลา องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ องค์การคลังสินค้า 

ส่วนคำว่า “องค์กร” มักใช้ในความหมายทั่วไปมากกว่า “องค์การ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักหมายถึงตัวหน่วยงานขององค์การหนึ่งๆ

เช่น หน่วยงานนี้กำลังปรับโครงสร้างการบริหารของ “องค์กร” เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายในอนาคต การแต่งตั้งผู้บริหารต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดกับ “องค์กร”

ระบบ” และ “ระบอบ” ต่างก็เป็นศัพท์บัญญัติ คำว่า “ระบบ” ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า system และคำว่า “ระบอบ” ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า regime “ระบบ” หมายถึง กลุ่มของสิ่งซึ่งมีลักษณะประสานและสัมพันธ์สอดคล้องกันตามลักษณะของธรรมชาติ หรือหลักเหตุผลทางวิชาการ เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบการบริหารประเทศ เครื่องจักรทำงานเป็นระบบ 

ส่วน “ระบอบ” หมายถึง รูปแบบการปกครองประเทศ เช่น ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันที่จริงคำว่า “ระบบ” และ “ระบอบ” มีใช้มาแต่โบราณมีความหมายเหมือนกันว่า “ธรรมเนียม” หรือ “อย่างธรรมเนียม

ความหมายและที่มาคำไทย | วรากรณ์ สามโกเศศ

จับกัง” และ “กุลี” เป็นคำเรียกกรรมกรแบกหามชาวจีน หรือคนไทยที่ทำงานกับคนจีน กรรมกรแบกหามงานหนักอย่างนี้บางคนเรียกว่า “กุลี” บางคนเรียกว่า “จับกัง” คำว่า “จับกัง” เป็นคำจากภาษาจีนแต้จิ๋ว

แปลว่างานสิบอย่าง “จับกัง” หมายถึง ผู้ที่สามารถทำงานได้หลายอย่าง แต่มักเน้นงานที่ต้องใช้กำลังกายหรืองานช่าง ปัจจุบันมักเข้าใจว่าจับกังเป็นกรรมกรแบกหามเท่านั้น

ส่วนคำว่า “กุลี” เป็นคำมาจากคำภาษาอังกฤษว่า coolie เป็นคำภาษาอังกฤษที่รับมาจากคำว่า guli (กุ-ลิ) ในภาษาฮินดีอีกทอดหนึ่ง guli เป็นคำที่สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า goli (โก-ลิ) ซึ่งเป็นชื่อชนเผ่าหนึ่งหรือวรรณะหนึ่งในแคว้นคุชราช เป็นพวกที่รับจ้างทำงานขนถ่ายสิ่งสกปรกที่น่ารังเกียจ

ฉับพลัน” กับ “เฉียบพลัน” เป็นคำประสมที่คล้ายกันแต่มีความหมายต่างกัน “ฉับพลัน” ประกอบด้วยคำว่า “ฉับ” หมายถึงเร็วกับคำว่า “พลัน” หมายถึง ทันที “ฉับพลัน” มีความหมายว่าทันทีทันใดหรือทันทีทันควัน

เช่น พายุโซนร้อนอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ต้องเตรียมอพยพราษฎรไปอยู่ที่ปลอดภัย ผู้นำที่ดีต้องตัดสินใจอย่างฉลาดแน่วแน่และฉับพลันจึงจะแก้ไขวิกฤตการณ์ได้

ส่วนคำว่า “เฉียบพลัน” ประกอบด้วยคำว่า “เฉียบ” แปลว่าจัดหรือรุนแรงกับคำว่า “พลัน” ดังนั้น “เฉียบพลัน” จึงหมายถึงเกิดขึ้นเร็วและรุนแรงมาก เป็นคำที่ใช้กับโรคหรืออาการเจ็บป่วย มีความหมายตรงข้ามกับคำว่าเรื้อรัง

เช่น อาการของโรคฉี่หนูคือเป็นไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อรุนแรงที่น่องและโคนขา เป็นต้น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการเสียชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน

โจรห้าร้อย” จำนวนห้าร้อยเป็นจำนวนที่ใช้ในภาษาไทยมีความหมายว่า มาก แต่ปัจจุบันมักใช้ในทางไม่ดี เช่น โจรห้าร้อย บ้าห้าร้อยจำพวก แม้ใช้คำว่า “ห้าร้อย" คำเดียวก็อาจใช้เป็นคำด่าได้ เช่น ไอ้ห้าร้อยหรือไอ้ห้าร้อยละลาย

จำนวน 500 น่าจะมาจากคำกล่าวในภาษาบาลีถึงพระภิกษุ 500 รูป หรือโจร 500 จำนวน 500 น่าจะเป็นเพียงจำนวนโดยประมาณไม่ได้หมายความว่าต้องมี 500 จริงๆ เช่นเดียวกับที่บอกว่ามีคนมาตั้งร้อยคนก็เป็นเพียงจำนวนโดยประมาณ

ความหมายและที่มาคำไทย | วรากรณ์ สามโกเศศ

ชักหน้าไม่ถึงหลัง” เป็นสำนวนหมายความว่าขัดสน เพราะรายได้มีไม่พอคุ้มกับรายจ่าย รายได้ที่รับมาเมื่อต้นเดือนไม่พอใช้ไปถึงปลายเดือน

สำนวนนี้มีที่มาจากการนุ่งผ้า หากผ้าที่นุ่งสั้นไปไม่สามารถหุ้มตัวได้ ก็จะหุ้มได้แต่ด้านหน้าไม่ถึงด้านหลัง เมื่อนำสำนวนนี้มาใช้ คำว่า “หน้า” ในที่นี้หมายถึงช่วงหน้าคือช่วงแรกของเดือน  “หลัง” คือช่วงหลังของเดือน

ถ้ารายจ่ายน้อยกว่ารายได้แม้เพียงเล็กน้อย ก็จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่เป็นหนี้เป็นสินใคร แต่ถ้ารายจ่ายมากกว่ารายได้แม้เพียงเล็กน้อยก็จะต้องเป็นหนี้เป็นสินเขา เรียกว่า “ชักหน้าไม่ถึงหลัง”

ถ้าชักหน้าไม่ถึงหลังทุกเดือนก็คงจะต้องเป็นหนี้เพิ่มและพอกพูนขึ้นไปเรื่อยๆ ฉะนั้น ถ้าต้องการมีชีวิตที่เป็นสุขก็ต้องพยายามเพิ่มรายได้ขึ้น ลดรายจ่ายลง และดำรงชีพอยู่อย่างพอเหมาะพอสมแก่ฐานะและรายได้ของตน

เอาปูนหมายหัว” เป็นสำนวนหมายถึงเชื่อแน่ว่าจะต้องเป็นไปตามที่คาดหมายไว้ มักใช้ในทางไม่ดี เช่น เด็กคนนี้สอบทีไรได้ที่โหล่ทุกที เอาปูนหมายหัวไว้ได้เลย

สำนวน “เอาปูนหมายหัว” มาจากความเชื่อของคนไทยสมัยโบราณ ถ้าเด็กตายตั้งแต่อายุยังน้อย ผู้ใหญ่จะเอาปูนมาแต้มไว้ที่หน้าผากหรือตามตัว เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าหากบุตรที่มาเกิดใหม่มีปานในตำแหน่งที่ได้ป้ายปูนไว้เหมือนกับบุตรคนที่ตายไป ก็จะได้มั่นใจว่าได้บุตรคนเดิมมาเกิดใหม่ 

“เอาปูนหมายหัว” เดิมหมายถึงเอาปูนแดงทำเครื่องหมายไว้ให้เป็นที่สังเกตได้ เมื่อกลายเป็นสำนวนหมายถึงคาดหมายว่าจะต้องเป็นไปตามที่คิดไว้และใช้ในทางไม่ดี