'ฟันซี่เดียว' ให้ข้อคิด | วรากรณ์ สามโกเศศ

'ฟันซี่เดียว' ให้ข้อคิด | วรากรณ์ สามโกเศศ

คนที่มีอายุ 50-60 ปีขึ้นไป คงเคยได้ยินชื่อ “ลูมุมบา” (Lumumba) อดีตประธานาธิบดีประเทศคองโก ที่สิ้นชีวิตไปในปี 2504 เมื่ออายุ 35 ปี หลังจากเป็นนายกรัฐมนตรีเพียง 3 เดือน เป็นเวลานานที่ไม่มีใครรู้ชะตากรรมของเขาว่าถูกฆ่าอย่างไร ศพอยู่ที่ไหน

จน 50 ปีผ่านไปความโง่เขลาที่ไม่มีขีดจำกัด ทำให้ชาวคองโกได้รับรู้ความจริงและสอนให้โลกรู้เกี่ยวกับการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมและศาสตร์ความเป็นผู้นำอย่างน่าสนใจ

ประเทศคองโกที่เรียกกันง่ายๆ นั้นมีชื่อจริงว่า Democratic Republic of the Congo (DRC) ตั้งอยู่กลางทวีปแอฟริกา แต่ดั้งเดิมก็อยู่กันมาแบบชนเผ่าจนตกเป็นอาณานิคมของเบลเยียมในปี 2422 เป็นสมบัติส่วนตัวของพระเจ้าแผ่นดินเบลเยียม (King Leopold II) ระหว่างปี 2428-2451 ในปี 2451 จึงเป็นอาณานิคมของเบลเยียมอย่างเต็มรูป จนกระทั่งปี 2503 จึงได้รับเอกราช

DRC มีพื้นที่ประมาณ 2.4 ล้านตารางกิโลเมตร (5 เท่าของไทย) ปัจจุบันมีประชากร 108 ล้านคน อุดมด้วยป่าไม้และทรัพยากรเหมืองแร่ ประเทศนี้เป็นเจ้าของครึ่งหนึ่งของแร่โคบอลต์ในโลก

\'ฟันซี่เดียว\' ให้ข้อคิด | วรากรณ์ สามโกเศศ

ผลิตทองแดงมากที่สุดในแอฟริกา มีแร่ยูเรเนียม ลิเธียม ทองคำและทองแดงคุณภาพสูงที่ยังมิได้นำมาใช้ประโยชน์อยู่เป็นปริมาณมหาศาล ท่ามกลางความยากจนอย่างยิ่งของประชากรในปัจจุบันที่มีรายได้ต่อหัวต่อปีเพียง 660 ดอลลาร์ (น้อยกว่าไทยกว่า 10 เท่า)

Patrice Lumumba เป็นชาวคองโกที่ได้รับการศึกษาดีจากโรงเรียนสอนศาสนาคริสต์ เฉลียวฉลาด กล้าพูดอย่างมีวาทศิลป์ หลังจากทำงานไปรษณีย์อยู่ 11 ปีก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของขบวนการปลดแอกประเทศ

จากการเป็นอาณานิคมของเบลเยียมที่เต็มไปด้วยความเลวร้ายของการดูดทรัพยากรกลับประเทศ การฆ่าคนพื้นเมืองอย่างทารุณโหดร้ายและใช้เป็นทาสแรงงานอย่างกดขี่

DRC เลือกตั้งครั้งแรกเมื่อได้รับเอกราชและลูมุมบาได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงท้ายปี 2503 ในวัยเพียง 35 ปี ท่ามกลางกระแสการบังคับเลิกเป็นอาณานิคมหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และสงครามเย็นสหรัฐ-สหภาพโซเวียต ทันทีที่เขาได้รับเลือกตั้ง มหาอำนาจก็ยุแหย่ให้ประชาชนบางส่วนแยกตัวเป็นอิสระ

เพราะไม่ต้องการให้ประเทศนี้ที่มีทรัพยากรมหาศาลมีเสถียรภาพ ซึ่งอาจตกเป็นพวกของคอมมิวนิสต์ หรืออาจนำไปสู่การปลดเจ้าอาณานิคมในแอฟริกา ซึ่งกำลังเป็นกระแสหลักมากยิ่งขึ้น 

ส่วนหนึ่งก็คือต้องการ “จัดการ” ลูมุมบาผู้นำหนุ่มไฟแรง ซึ่งเป็นขวัญใจของประชาชนให้อยู่หมัด ไม่ไปก่อ “ความวุ่นวาย” ในเรื่องต่างๆ และยอมให้ "นายเก่า" ยังมีอิทธิพลอยู่

\'ฟันซี่เดียว\' ให้ข้อคิด | วรากรณ์ สามโกเศศ

นี่คือพื้นฐานว่า เหตุใดลูมุมบาจึงถูกฆ่าแต่หัววัน อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์บอกว่า ความกร้าวและความห้าวของเขาในเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์มีส่วนอย่างสำคัญ ที่เปรียบเสมือนว่าเขาลงนามในใบมรณบัตรของตนเองในวันพิธีประกาศเอกราชของ DRC ในปลายเดือน มิ.ย.2503

ในวันนั้น กษัตริย์โบดวง (Baudouin) ซึ่งสืบทอดราชสมบัติจากพระราชบิดา (King Leopold II) ได้ตรัสข้อความว่า การได้รับเอกราชเป็นผลจากอัจฉริยภาพของพระราชบิดา และทรงยืนยันว่าตลอดเวลา 80 ปี

เบลเยียมได้ส่งคนชั้นเลิศมาปกครองประเทศนี้ ทรงเตือนว่าอย่าเอาโครงสร้างอื่นมาทดแทนสิ่งที่เบลเยียมได้ทำไว้ให้ จนกว่าจะแน่ใจว่ามันทำได้ดีกว่า และต่อไปนี้เป็นความรับผิดชอบของท่านทั้งหลายที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า เราคิดถูกที่มอบความไว้วางใจให้ท่านได้ปกครองประเทศ

การเอ่ยชื่อของพระราชบิดาและคำพูดลักษณะ “ลูบหัว” ทำให้ลูมุมบาเหลืออด เพราะ King Leopold II ทิ้งความปวดร้าวอย่างหนักให้แก่ชาวคองโก ไม่ว่าในการใช้แรงงานทาสปลูกยาง การทารุณกรรมต่างๆ เช่น ตัดหัวตัวมือ การหาประโยชน์ต่างๆ จากประเทศ ฯลฯ เขาจึงลุกขึ้นพูดแบบมิได้เตรียมตัวและไม่อยู่ในกำหนดการ 

เขาบอกว่า คนคองโกจะไม่มีวันลืมว่าเอกราชนี้ได้มาด้วยการต่อสู้เสียน้ำตาและเลือดเนื้ออย่างยาวนาน เราภูมิใจในการต่อสู้เพราะมันเป็นความเป็นธรรมและมีความสูงส่ง ที่ทำให้สภาพเบี้ยล่างที่เราตกอยู่อย่างอัปยศอดสูได้จบลง แผล 80 ปีแห่งการเป็นอาณานิคมยังสดและเจ็บปวดอยู่อย่างเกินกว่าที่จะลืมได้

เมื่อเขากล่าวจบลงชาวคองโกปรบมือให้แก่คำพูดที่ถูกใจนี้เป็นเวลานาน แต่โลกตะวันตกตะลึงในคำพูดที่กล้าหาญและกล้าขัดแย้งกับเจ้าอาณานิคมเก่า

หลังจากนั้นเขาถูกปลดโดยประธานาธิบดี ด้วยแรงสนับสนุนจากเบลเยียมและสหรัฐ ถูกคุมขังและถูกทรมานอยู่ในบ้านประมาณ 1 เดือนอย่างไม่มีกระบวนยุติธรรม และถูกนำไปยิงเป้าพร้อมผู้ติดตามอีก 2 คนต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของเบลเยียมในตอนต้นปี 2504

หลังจากข่าวการเสียชีวิต มีการประท้วงโดยภรรยาและนักปฏิวัติในหลายประเทศ แต่ก็ไม่เป็นผล เรื่องก็จบลงโดยไม่รู้อะไรมากกว่านั้นเป็นเวลาเกือบ 20 ปี จนผู้บังคับการตำรวจของเบลเยียมชื่อ Gerard Soete เขียนหนังสือเล่มหนึ่งเชิงนวนิยายแต่คนอ่านก็รู้ว่าเป็นเขา 

\'ฟันซี่เดียว\' ให้ข้อคิด | วรากรณ์ สามโกเศศ

เรื่องก็มีว่านายตำรวจกับน้องชายเป็นผู้รับผิดชอบการฆ่าลูมุมบา เมื่อฆ่าทั้ง 3 ศพแล้วก็ตัดเป็นชิ้นใส่ถังและละลายด้วยกรดซัลฟูริก แต่ก่อนใส่ถังเขาใช้คีมถอนฟันของลูมุมบา 2 ซี่ไว้เป็นที่ระลึก

นักสังคมวิทยาชาวเบลเยียมชื่อ Ludo De Witte สืบค้นเรื่องการตายนี้ และเขียนออกมาเป็นหนังสือในปี 2542 จนมีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาการตาย 

สารคดีทางโทรทัศน์ในปี 2543 Soete ยอมรับว่าเขาถอนฟันออกมาจริงแต่โยนทิ้งทะเลไปแล้ว เขาตายในปีนั้นและเรื่องก็ควรจบ แต่ด้วยความโง่เขลาของลูกสาวเขา เธอนำกรามหนึ่งซี่ที่ครอบทองของลูมุมบามาแสดงต่อนิตยสารเล่มหนึ่งในปี 2558

จนถูกแจ้งจับและเป็นเรื่องราวขึ้นมา จนทางการเบลเยียมยอมคืนฟันซี่นี้ให้แก่ครอบครัวลูมุมบา โดยทำเป็นพิธีใหญ่โตอย่างสมเกียรติในปี 2565

ฟันซี่นี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของความรันทดและความชั่วร้ายของระบบอิทธิพลของมหาอำนาจที่อยู่เบื้องหลัง (มีการพบสำเนาโทรเลขของ CIA ที่บอกว่าต้อง “จัดการ” ลูมุมบาและสำเนาโทรเลขจากลูมุมบาถึง UN และสหภาพโซเวียตให้เข้ามาแทรกแซงความไม่สงบในคองโก) การคืนฟันคือการมอบความเป็นธรรมให้แก่ชาวคองโก โดยเฉพาะแก่ครอบครัวของเขา

ตั้งแต่ 2504 จนถึงปัจจุบัน DRC อยู่ในสภาพลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด ถูกปกครองโดยเผด็จการและประชาธิปไตยจอมปลอม ที่ล้วนแต่ดื่มด่ำในความหวานหอมที่เลวร้ายของคอร์รัปชันสลับกันไปมาแถมด้วยสงครามที่ยาวนาน

ไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าถ้าลูมุมบาไม่ถูกฆ่าและกลายเป็นผู้นำคนสำคัญในเวลาต่อมาแล้ว คุณภาพชีวิตของชาวคองโกจะดีขึ้นหรือไม่ แต่ก็พออนุมานได้ว่ามันคงไม่เลวร้ายไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นแน่

ศาสตร์และศิลป์ของความเป็นผู้นำโยงใยกับบุคลิกภาพของผู้นำเสมอ การพูดที่ห้าวและกร้าวถึงแม้จริงใจจนทำให้เป็นวีรบุรุษกับเส้นบางๆ มองไม่เห็นที่ข้ามไม่ได้นั้นเป็นข้อคิดที่สำคัญในทุกสังคม