ส่องวิธีการป้องกันตัวจาก “พิษสุนัขบ้า” โรคร้ายช่วงหน้าร้อน 

ส่องวิธีการป้องกันตัวจาก “พิษสุนัขบ้า” โรคร้ายช่วงหน้าร้อน 

รู้จัก “พิษสุนัขบ้า” โรคร้ายช่วงหน้าร้อน  ที่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต และปัจจุบันยังไม่มียารักษา ดังนั้น เราจึงควรเรียนรู้วิธีป้องกันตัวจากพิษสุนัขบ้า เพื่อลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น

เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ภัยจาก “โรคพิษสุนัขบ้า” ก็ได้รับความสนใจอีกครั้ง เนื่องจากเป็นโรคที่พบผู้ติดเชื้อบ่อยในช่วงหน้าร้อน อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้วโรคนี้สามารถติดได้ตลอดทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี และทุกคนสามารถเป็นโรคนี้ได้ทุกช่วงอายุ โดยมีความร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ จนถึงปัจจุบันยังไม่มียารักษา ฉะนั้น เราจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า และรู้จักวิธีป้องกันตัวจากโรคร้ายในหน้าร้อนนี้

  “พิษสุนัขบ้า” คืออะไร?  

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า โรคกลัวน้ำ (Hydrophobia) เป็นโรคที่ติดเชื้อในระบบประสาท โดยมีที่มาจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies virus) ที่อยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด อาทิ สุนัข แมว วัว ควาย สุกร ลิง ค่าง ชะนี และค้างคาว แต่ที่เรียกว่า พิษสุนัขบ้า เพราะมักพบบ่อยในสุนัข 

  สาเหตุการติดเชื้อในคน  

การส่งต่อเชื้อจากสัตว์มาสู่คนนั้น เกิดขึ้นผ่านการสัมผัสน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อ ซึ่งจะพบในเหตุการณ์ที่คนถูกสัตว์เหล่านี้กัดหรือข่วน ทำให้เชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านบาดแผล นอกจากนั้น คนยังอาจรับเชื้อได้จากการถูกเลียบริเวณ ปาก จมูก และตา อีกด้วย 

  อาการของโรคพิษสุนัขบ้า  

อาการของโรคพิษสุนัขบ้า ในคนมักจะปรากฎหลังจาก เชื้อมีการฟักตัวแล้วเดินทางถึงสมอง แต่ระยะฟักตัวของเชื้อนั้นไม่แน่ชัด แตกต่างกันไปในแต่ละกรณี พบได้ตั้งแต่ 4 วัน จนถึง 4 ปี หลังจากที่ถูกกัด โดยผู้ป่วยประมาณ 70% มีอาการภายใน 3 เดือน และผู้ป่วยประมาณ 96% มีอาการภายใน 1 ปี 

การฟักตัวของเชื้อช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับบริเวณที่ถูกกัดด้วย หากถูกกัดที่บริเวณใกล้กับสมอง เช่น ใบหน้า หรือบริเวณที่ปลายประสาทรวมกันมากๆ เช่น มือ ระยะฟักตัวของเชื้อและออกอาการก็จะสั้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากความรุนแรงของแผลที่ถูกกัด ชนิดสัตว์ที่กัด ปริมาณของเชื้อไวรัสที่เข้าไปในบาดแผล และวิธีปฎิบัติเกี่ยวกับรักษาหลังถูกกัด 

ลักษณะของอาการโรคพิษสุนัขบ้าในคน แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 

ระยะอาการเริ่มต้น : ไข้ต่ำ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และต่อมาจะมีอาการคันบริเวณแผลที่ถูกกัด มีอาการคลุ้มคลั่ง

ระยะมีอาการทางสมอง : กระสับกระส่าย กลัวแสง ไม่ชอบเสียงดัง กระวนกระวาย มีอาการหนาวสั่น กลืนลำบากโดยเฉพาะของเหลว อย่างเช่นน้ำ โดยจะมีอาการเกร็ง ทำให้ไม่อยากดื่มน้ำ

ระยะอาการสุดท้าย : เกร็ง หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก กล้ามเนื้อกระตุก รวมถึงแขนขาอ่อนแรงลง หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด

  การป้องกันตัวจากพิษสุนัขบ้า  

แม้ว่าพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่ยังไม่มียารักษา แต่สามารถป้องกันได้ด้วยวิธีดังนี้ 

1. ป้องกันสัตว์เลี้ยงไม่ให้ติดเชื้อไวรัสเรบี่ส์

  • พาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าตามกำหนด และฉีดซ้ำทุกปี 
  • ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงไว้ตามที่สาธารณะ หากนำออกไปควรเฝ้าดูพฤติกรรมหรืออยู่ในสายจูง
  • ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง

2. หลีกเลี่ยงการถูกกัด 

  • ไม่แหย่หรือรังแกให้สัตว์โมโห 
  • ไม่ยุ่งหรือเข้าใกล้สัตว์ที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ

3. หากถูกสัตว์กัดหรือข่วนให้ปฏิบัติ ดังนี้ 

  • ล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ 2-3 ครั้ง ถ้ามีเลือดออกควรปล่อยให้เลือดไหลออก อย่าบีบหรือเค้นแผล เพราะจะทำให้เชื้อแพร่กระจายไปส่วนอื่น
  • ใส่ยา เช่น เบตาดีน ทิงเจอร์ไอโอดีน แอลกอฮอล์ 70% จะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ อย่าใส่สิ่งอื่น เช่น เกลือ ยาฉุน ลงในแผล ไม่ควรเย็บแผล และไม่ควรใช้รองเท้าตบแผล เพราะอาจทำให้เชื้อกระจายไปรอบบริเวณเกิดแผลได้ง่าย และอาจมีเชื้อโรคอื่นเข้าไปด้วย ทำให้แผลอักเสบ
  • กักสัตว์ที่กัดไว้ดูอาการอย่างน้อย 15 วัน โดยให้น้ำและอาหารตามปกติ อย่าฆ่าสัตว์ให้ตายทันที เว้นแต่สัตว์นั้นดุร้าย กัดคนหรือสัตว์อื่น หรือไม่สามารถกักสัตว์ไว้ได้ ถ้าสัตว์หนีหายไปให้ถือว่าสัตว์นั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้า
  • รีบพบแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนและเซรุ่ม ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรรอดูอาการสุนัข เพราะอาจสายเกินไป
  • หากสุนัขตายให้นำซากมาตรวจหาเชื้อ หากสุนัขไม่ตายให้ขังไว้ดูอาการ แต่หากติดตามสัตว์ที่กัดไม่ได้ ต้องรีบมารับการฉีดวัคซีนโดยทันที

 

หมายเหตุ  : หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ที่ กองควบคุมโรคระบาด กรมปศุสัตว์ โทร. (02) 653-4444 ต่อ 4141, 4142, 4117

------------------------------------------

อ้างอิง

ธเนศ พัวพรพงษ์ 

วินัย รัตนสุวรรณ

โรงพยาบาลศิครินทร์ 

โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านคลอง 17