‘กินเจ’ แบบไม่ให้ไขมันพุ่ง-อาหารบำรุง 5 ธาตุ ตามแพทย์แผนจีน

‘กินเจ’ แบบไม่ให้ไขมันพุ่ง-อาหารบำรุง 5 ธาตุ ตามแพทย์แผนจีน

เทศกาลกินเจ 2566 เลือกอาหารให้เหมาะ สุขภาพดี บำรุง 5 ธาตุตามแพทย์แผนจีน รวมถึง อาหารที่ควรเลี่ยง-ลด ตามหลัก 5 ล.

Keypoints:

  •        เทศกาลกินเจ 2566 ระหว่างวันที่ 15 -23 ตุลาคม 2566 นอกจากงดเว้นเนื้อและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ถือศีลให้ได้บุญแล้ว  สุขภาพของคนที่กินเจเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเช่นเดียวกัน
  •          กินเจโดยกินผักและผลไม้ ส่วนใหญ่มีฤทธิ์เย็น  ตามแพทย์แผนจีนจึงมองว่าช่วยสร้างสมดุลให้ร่างกาย จากที่กินของทอด ของมัน เนื้อสัตว์ที่มีฤทธิ์ร้อน และต้องยึดหลักสมดูล 5 ธาตุ
  •          หลัก 5 ล. กินเจ ตามคำแนะนำของกรมอนามัย เพื่อให้ได้สุขภาพที่ดี ในช่วงเทศกาลกินเจ ทั้งการเลือกวัตถุดิบ ล้างผัก ล้างมือ อาหารที่ควรเลี่ยงและลด         

กินเจ 5 ธาตุ แพทย์แผนจีน

         อ.อรภา  ศิลมัฐ คณะการแพทย์แผนจีน  มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ  ระบุไว้ว่า ในมุมของศาสตร์การแพทย์แผนจีน ผักและผลไม้ส่วนใหญ่ จะมีฤทธิ์เย็น สามารถสร้างสมดุลให้กับร่างกายที่สะสมฤทธิ์ร้อนจากอาหารจำพวกของทอด ของมัน และเนื้อสัตว์ได้ การหยุดบริโภคเนื้อสัตว์ จึงได้ปรับสมดุลของร่างกาย

       นอกจากนี้ ควรคำนึงถึงสมดุลของธาตุทั้ง 5 ตามทฤษฎีปัญจธาตุและการแปรเปลี่ยน(Five Transformation Theory) แพทย์แผนจีนมีวิธีเลือกรับประทานผักและผลไม้ให้เหมาะสมกับธาตุทั้ง 5  ได้แก่ 

1.ธาตุไม้   “ไม้” หรือ “ต้นไม้ สัมพันธ์กับฤดูใบไม้ผลิซึ่งหมายถึงการให้กำเนิด เกี่ยวข้องกับรสชาติเปรี้ยวและสีเขียวและเป็นตัวแทนของอวัยวะ“ตับ”

ผักและผลไม้ที่เหมาะสำหรับการบำรุงธาตุไม้ ได้แก่ ผักใบเขียว เช่น ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักชี ฯลฯ ผลไม้รสเปรี้ยว ได้แก่ ส้ม มะนาว เลมอน ซานจา

2.ธาตุไฟ    “ไฟ” สัมพันธ์กับฤดูร้อนซึ่งใช้ในการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต เกี่ยวข้องกับรสชาติขมและสีแดง และเป็นตัวแทนของอวัยวะ“หัวใจ”

ผักและผลไม้ที่เหมาะสำหรับการบำรุงธาตุไฟ ได้แก่ ผักและผลไม้สีแดง ได้แก่ บีทรูท แครอท ถั่วแดง พุทราจีน และผักรสขม ได้แก่ มะระ และไส้ในของเม็ดบัวซึ่งมักเอามาชงเป็นชาดื่ม

3.ธาตุดิน    “ดิน” สัมพันธ์กับช่วงเปลี่ยนฤดูหมายถึงการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง เกี่ยวข้องกับรสชาติหวานและสีเหลือง และเป็นตัวแทนของอวัยวะ“ม้าม”(มีความหมายโดยกว้างว่า“ระบบย่อยอาหาร”)

ผักและผลไม้ที่เหมาะสำหรับการบำรุงธาตุดิน ได้แก่ ฟักทอง ซานเย่า(ห่วยซัว) มันฝรั่ง ซานจา ข้าวฟ่าง ลูกเดือย ข้าวโพด

4.ธาตุโลหะ “โลหะ” สัมพันธ์กับฤดูใบไม้ร่วงซึ่งมีการเก็บเกี่ยว เกี่ยวข้องกับรสชาติเผ็ดและสีขาว และเป็นตัวแทนของอวัยวะ“ปอด”

ผักผลไม้และอาหารที่บำรุงธาตุโลหะ ได้แก่ ผักกาดขาว หัวไชเท้า สาลี่ เห็ดหูหนูขาว ป่ายเหอ ซานเย่า(ห่วยซัว)

5.ธาตุน้ำ   สัมพันธ์กับฤดูหนาวซึ่งมีการเก็บสะสม(พลังงาน) เกี่ยวข้องกับรสชาติเค็มและสีดำ และเป็นตัวแทนของอวัยวะ“ไต”

อาหารที่บำรุงธาตุน้ำ ได้แก่ งาดำ เห็ดหอม เห็ดหูหนูดำ ถั่วดำ

ชาชงกระเจี๊ยบควรดื่มช่วงกินเจ

             การรับประทานเครื่องดื่มที่มีสรรพคุณช่วยยับยั้งการดูดซึมน้ำตาล และลดไขมันในเลือด หลังกินเจ จะช่วยป้องกันก่อนป่วย

            พืชผักสมุนไพรใกล้ตัวหลากหลายชนิด ที่มีการศึกษาวิจัยว่าช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้ดี เช่น กระเทียม กระเจี๊ยบแดง ตรีผลา ดอกคำฝอย ดอกเก็กฮวย และมะนาว สำหรับสมุนไพรที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี ได้แก่ ชะพลู ใบหม่อน มะระขี้นก ขมิ้นชัน และใบเตย 

         อย่างไรก็ตาม ในเทศกาลกินเจ ซึ่งไม่นิยมรับประทานอาหารที่มีกลิ่นฉุน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำว่า กระเจี๊ยบแดง เป็นสมุนไพรที่เหมาะสม โดยกระเจี๊ยบแดง ประกอบด้วยสารกลุ่มแอนโทรไซยานิน (Anthocyanins) และวิตามินซี

        จากรายงานการวิจัยระดับพรีคลินิก พบว่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เหมาะที่จะใช้ป้องกันโรคเรื้อรัง อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในในเลือดสูง และโรคหัวใจ

           นอกจากนี้ มีรายงานการศึกษาที่พบว่า การดื่มชาชงจากกระเจี๊ยบแดง เป็นเวลา 2 เดือน จะสามารถลดความดันโลหิตได้ และหากรับประทานติดต่อกันมากกว่า 4 เดือนจะสามารถลดไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ได้

        ยังพบว่าการรับประทานสารสกัดกระเจี๊ยบแดงขนาด 1,000 มิลลิกรัม/วัน ต่อเนื่อง เป็นเวลา 3 เดือน สามารถลดคอเลสเตอรอลชนิดเลวได้

      ข้อควรระวังในการบริโภคอาหารเครื่องดื่มที่มีสรรพคุณเป็นยา จะต้องระมัดระวังในกลุ่มผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องรุนแรง และอีกหนึ่งสรรพคุณของกระเจี๊ยบคือมีฤทธิ์ช่วย การระบาย อาจทำให้คนธาตุอ่อนท้องเสียได้

‘กินเจ’ แบบไม่ให้ไขมันพุ่ง-อาหารบำรุง 5 ธาตุ ตามแพทย์แผนจีน
หลัก 5 ล. ช่วงกินเจ

     ขณะที่ พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า  กรมอนามัยแนะนำหลัก 5 ล. ในช่วงเทศกาลกินเจ เพื่อสุขภาพดังนี้

1.ล : เลือกวัตถุดิบ ในการปรุงประกอบอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และเลือกกินอาหารจากร้านอาหารที่สะอาด ผ่านมาตรฐานด้านสุขาภิบาลอาหารหรือ Clean Food Good Taste ซื้อผักสด ผลไม้ โปรตีนเกษตรจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ เครื่องปรุงรสต้องมีเครื่องหมาย อย. เครื่องหมาย มอก.

2. ล : ล้างผัก ผลไม้ให้สะอาด ก่อนกินหรือก่อนนำผักและผลไม้มาปรุงอาหาร ต้องล้างให้สะอาดทุกครั้งด้วย 3 วิธี ดังนี้ วิธีที่ 1) การล้างด้วยน้ำไหล สามารถลดสารพิษได้ ร้อยละ 25-65 ผักและผลไม้คงความสด วิธีที่ 2) การล้างด้วยผงฟู หรือเบคกิ้งโซดาช่วยลดสารพิษได้ถึง ร้อยละ 90-95 และ วิธีที่ 3) การล้างด้วยน้ำส้มสายชู ช่วยลดสารพิษได้ ร้อยละ 60-84 และยังสามารถล้างไข่พยาธิได้
3. ล : ล้างมือให้สะอาด ด้วยสบู่และน้ำ มือของผู้ปรุง ผู้เสิร์ฟ ควรหมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ 7 ขั้นตอน เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อ ควรสวมถุงมือหรือใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารในระหว่างการเตรียมปรุงอาหาร เน้นการปรุงให้สุก ป้องกันการปนเปื้อนระหว่างอาหารดิบและอาหารสุกผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น มีด เขียงที่สำคัญปกปิดอาหารเพื่อป้องกันฝุ่นละอองหรือแมลงที่อาจไต่ตอม

 4. ล : เลี่ยงอาหารที่มีแป้งและไขมันมาก เพราะอาหารเจส่วนใหญ่ประกอบด้วยแป้ง ธัญพืช ถั่ว งา เต้าหู้ อาจทำให้ขาดโปรตีนและธาตุเหล็ก จึงควรเลือกพืชที่ทดแทนโปรตีน ได้แก่ ถั่วเมล็ดแห้ง โปรตีนเกษตร เต้าหู้ และผักใบเขียวเข้ม ซึ่งมีธาตุเหล็กสูง นอกจากนี้ ควรเลือกผัก ผลไม้ให้หลายสี เพื่อให้ได้วิตามินและแร่ธาตุ

 5. ล : ลด หวาน มัน เค็ม การปรุงอาหารเจที่ดี ไม่ควรหวานจัดเค็มจัด มันจัด ควรปรุงอาหารเจด้วยการต้ม นึ่ง เน้นกินอาหารครบ 5 หมู่ ผัก ผลไม้ให้หลากหลาย ให้ได้บุญได้กุศลจากการละเว้นเนื้อสัตว์รวมทั้งสร้างสุขภาพที่ดี