ส่อง 'ความรุนแรง' สังคมไทย' ติดอันดับใดของโลก

ส่อง 'ความรุนแรง' สังคมไทย' ติดอันดับใดของโลก

ความรุนแรง การกลั่นแกล้ง ข่มเหง ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ปี 61 เด็กและเยาวชนไทยถูกรังแกในโรงเรียนอันดับ 2 ของโลก รองจากญี่ปุ่น ปี 62 ไทยอยู่ในประเทศที่มีความรุนแรงลำดับที่ 47 ของโลก

Key Point : 

  • ปัญหาการกลั่นแกล้ง ความรุนแรง ส่งผลกระทบกับผู้ถูกกระทำทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะด้านสุขภาพจิต ทั้งยังขยายวงกว้างได้มากกว่าสมัยก่อนเนื่องจากโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงง่าย
  • ปี 2561 เด็กและเยาวชนไทยถูกรังแกในโรงเรียนอันดับ 2 ของโลก รองจากญี่ปุ่น ปี 2562 ไทยอยู่ในประเทศที่มีความรุนแรงลำดับที่ 47 ของโลก และหากย้อนไปปี 2542 ไทยติด Top10 การใช้ความรุนแรงโดยการฆาตกรรม ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 10 – 29 ปี
  • การศึกษาพบว่า ปัจจัยสำคัญที่เป็นจุดเริ่มของความรุนแรงมาจากครอบครัว ขณะที่ประเทศที่เข้าถึงอาวุธปืนได้ง่าย จะเกิดความรุนแรงได้มากกว่าประเทศที่อาวุธเข้าถึงยาก

 

จากรายงานข่าวและเหตุการณ์ที่มีการใช้ความรุนแรงและการบูลลี่หรือ การกลั่นแกล้ง ข่มเหงรังแกที่พบมากขึ้นทั้งในโรงเรียนและสังคมไทย ปัญหานี้ก่อให้เกิดผลกระทบกับนักเรียนผู้ถูกกระทำอย่างมากทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะด้านสุขภาพจิต ทั้งยังขยายวงกว้างได้มากกว่าสมัยก่อนเนื่องจากโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงง่าย

 

จากการสำรวจความรุนแรงในสถานศึกษาในโครงการ International Friends for Peace 2022 พบว่า ความรุนแรงในสถานศึกษามีความหลากหลายและพบมากในระดับมัธยมศึกษา ไม่ว่าจะเป็นความไม่เข้าใจกันระหว่างครูและนักเรียน การทำร้ายกันด้วยวาจา การเหยียดหยาม Cyber Bullying , Sexual Harassment การไม่ยอมรับความแตกต่าง จนถึงการทำร้ายร่างกาย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

รศ.ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการ แผนงานวิจัยท้าทายไทย : สังคมไทยไร้ความรุนแรง กล่าวในงานสัมมนา Teacher Conference ในหัวข้อ “Stop Violence in Schools” เยาวชนไทยห่างไกลความรุนแรง” ครั้งที่ 1 ถึงนิยามคำว่า ความรุนแรง (violence) จาก องค์การอนามัยโลก หมายถึง การใช้กำลังหรือพลังทางกายโดยเจตนาต่อตนเอง ผู้อื่น หรือต่อกลุ่ม หรือชุมชนอื่น โดยข่มขู่หรือแท้จริง เพื่อให้เกิดหรือมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดการบาดเจ็บ การเสียชีวิต การทำร้ายจิตใจ การพัฒนาไม่เพียงพอ หรือ การลิดรอน

 

ประเภทความรุนแรง

  • ความรุนแรงต่อตนเอง
  • ความรุนแรงระหว่างบุคคล
  • ความรุนแรงระหว่างกลุ่ม

 

ปี 2561 เด็กไทยถูกรังแกในโรงเรียนอันดับ 2 ของโลก

 

หากดูสถานการณ์ความรุนแรงของไทยในสถานการณ์โลก พบว่า ปี 2562 ไทยอยู่ในประเทศที่มีความรุนแรงลำดับที่ 47 จากจำนวน 163 ประเทศ ความรุนแรงในครอบครัวของสังคมไทยเกิดขึ้นไม่น้อยกว่าวันละ 1 เหตุการณ์ ปี 2559 สถิติความรุนแรงต่อสตรีอยู่ในอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ปี 2561 เด็กและเยาวชนถูกรังแกในโรงเรียนเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุทั่วโลกและประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงจากคนใกล้ตัว

 

“สาเหตุของความรุนแรงนั้น เมื่อไหร่ที่มองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดา ความรุนแรงจะไม่เป็นเรื่องธรรมดา รวมถึงปัจจัยด้านยาเสพติด การขาดสติ ภาวะเศรษฐกิจ อาวุธที่หาง่าย ค่านิยมชายเป็นใหญ่ สื่อออนไลน์ เป็นต้น สร้างผลกระทบทั้งเศรษฐกิจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ บริการสาธารณสุข ความเจ็บปวดแสนสาหัสทั้งร่างกายและจิตใจของเหยื่อ ความเสื่อมโทรมของสังคม และการผลิตซ้ำความรุนแรง การถ่ายทอดวัฏจักรความรุนแรงไปสู่รุ่นต่อไป”

 

 

ความรุนแรงกระทบเศรษฐกิจ

 

ผลกระทบของความรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ปี 2564 มีมูลค่าความเสียหายทีเกิดจากความรุนแรงทั่วโลกกว่า 16.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไทย มีมูลค่าการเสียหายกว่า 55,591.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,387.5 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ราว 49,603.125 บาท

 

การใช้ความรุนแรงของเด็กและเยาวชน

 

จากการสำรวจการใช้ความรุนแรงของเด็กและเยาวนทั่วโลก ปี 2542 การกระทำผิดของผู้ที่มีอายุระหว่าง 10 -29 ปี ทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ที่มีการใช้ความรุนแรงโดยการฆาตกรรม ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 10 – 29 ปี โดยมีสถิติการกระทำผิดติดอันดับ 8 ของโลก

 

10 อันดับ ประเทศที่มีการฆาตรกรรมโดยผู้ที่อายุ 10-29 ปี

  • บราซิล
  • โคลัมเบีย
  • สหรัฐอเมริกา
  • รัสเซีย
  • เม็กซิโก
  • ฟิลิปปินส์
  • เวเนซูเอล่า
  • ไทย
  • ยูเครน
  • เอลซัลวาดอร์

 

การสำรวจของ องค์การยูนิเซฟ ต่อการใช้ความรุนแรงของเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาในพ.ศ.2561จากทั้งหมด 122 ประเทศทั่วโลก พบว่า เยาวชนทั่วโลกที่มีอายุระหว่าง 13 – 15 ปี กว่าครึ่ง หรือประมาณ ร้อยละ 51 หรือราว 150 ล้านคน เคยมีประสบกับความรุนแรงในโรงเรียน หรือเคยถูกกลั่นแกล้งจากสังคมรอบข้าง ขณะเดียวกัน สถิติการใช้ความรุนแรงของเด็กไทยในปี 2561 ซึ่งมีเด็กไทยถูกรังแกในโรงเรียนเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น และมีแนวโน้มสูงขึ้น พบเหยื่อเฉลี่ย 6 แสนคนต่อปี หรือมีสัดส่วนักเรียนถูกรังแกจากเพื่อนักเรียนด้วยกันสูงถึง ร้อยละ 40

 

ประเภท การใช้ความรุนแรงต่อร่างกาย

  • การใช้ความรุนแรงต่อร่างกาย (Physical violence)
  • การใช้ความรุนแรงต่อจิตใจ (Psychological violence)
  • การใช้ความรุนแรงทางเพศ (Sexual violence)
  • การกลั่นแกล้งรังแก (Bullying) พบมากที่สุด (ส่งผลกระทบต่อเยาวชน 1 ใน 3)
  • การกลั่นแกล้งรังแกในโลกออนไลน์ (Cyberbullying)

 

การกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียน

  • เด็กทุกคนสามารถถูกกลั่นแกล้งรังแกได้
  • เด็กที่ถูกมองว่า "แตกต่าง" จะมีความเสี่ยงมากกว่า
  • ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ รูปลักษณ์ภายนอก ชาติพันธุ์ ภาษา หรือ ภูมิหลังทางวัฒนธรรม เพศ/ การไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานและแบบแผนทางเพศ สถานะทางสังคมและความพิการ
  • ข้อมูลทั่วโลก พบว่า การถูกกลั่นแกล้งระหว่างเด็กและเยาวชนเพศหญิงและชายไม่แตกต่างกัน
  • เด็กและเยาวชนชาย ถูกกลั่นแกล้งทางร่างกายและถูกใช้ความรุนแรงทางกายมากกว่าเพศหญิง
  • เด็กและเยาวชนหญิง ถูกกลั่นแกล้งทางด้านจิตใจมากกว่าเล็กน้อย และ ถูกกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ทางเพศ

 

ปัจจัยเสี่ยงต่อสาเหตุของการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน

  • ผลการเรียนไม่ดี
  • มีบุคลิกภาพอาจนำไปสู่ความรุนแรง อาทิ หุนหันพลันแล่น Hyperactive
  • ประสบปัญหาสุขภาพจิต
  • การเสพสุรา ยาเสพติด บุหรี่
  • มีประวัติเกี่ยวข้องกับความรุนแรงมาก่อน
  • ประสบกับการถูใช้ความนรุนแรง หรือ เคยเห็นความรุนแรง
  • ประสบปัญหาครอบครัวไม่สมบูรณ์
  • ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว หรือ ถูกใช้ความรุนแรงจากในครอบครัว
  • เข้าถึงอาวุธได้ง่าย
  • คบเพื่อนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง 
  • ความยากจน หรือ อัตราการเกิดอาชญากรรมสูงในชุมชน

 

สัญญานการใช้ความรุนแรง

  • พูดถึงอาวุธ เล่น หรือ แสดงให้เห็นการใช้อาวุธ
  • ทำร้ายสัตว์เลี้ยง หรือ สัตว์อื่น ๆ
  • ข่มขู่ หรือ กลั่นแกล้งผู้อื่น
  • พูดถึงความรุนแรง ดูหนังที่มีความรุนแรง หรือเล่นเกมที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องผิดปกติ (หมกหมุ่น)
  • พูด หรือ แสดงออก มีพฤติกรรมก้าวร้าว

 

จุดเริ่มต้นความรุนแรงเริ่มต้นที่บ้าน

 

รศ.ดร.สุมนทิพย์ กล่าวต่อไปว่า ความรุนแรงของเด็กเยาวชนแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ ความรุนแรงในสถานศึกษา และ ความรุนแรงนอกสถานศึกษา ปัจจุบัน ความรุนแรงในสถานศึกษาค่อนข้างมากทั้งการกลั่นแกล้ง รังแก โดยเฉพาะทางออนไลน์ เป็นประเด็นว่าเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งอาจจะประสบปัญหาต่างๆ ที่รุนแรงมากขึ้น เช่น การฆ่าตัวตาย หรือ เด็กบางคนที่ทนไม่ได้อาจจะกลับมาเป็นผู้สร้างความรุนแรงเสียเอง เรียกว่าเป็นปัญหาทั่วโลก

 

"จุดเริ่มต้นของความรุนแรงในโรงเรียน มองว่า ทั้งหมดเกิดขึ้นที่บ้าน หากเด็กคนหนึ่งผ่านการเลี้ยงดูที่ดี ผ่านการขัดเกลา มีความอบอุ่นที่ดีจากครอบครัว จะเป็นสิ่งที่ป้องกันเขาไม่ให้ใช้ความรุนแรงต่อ ขณะเดียวกัน เมื่ออยู่ที่โรงเรียน คือ กระบวนการในการคบเพื่อนเป็นสิ่งสำคัญ หากคบเพื่นอที่มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรง เด็กอาจจะซึมซับ รวมถึง สื่อ สำคัญ เพราะเด็กทุกวันนี้เรียนรู้ความรุนแรงจากสื่อ ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมต่างๆ ดังนั้น หากจะป้องกันการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนร่วมกัน"

 

การเข้าถึงอาวุธ ส่งผลต่อความรุนแรง

 

ทั้งนี้ เราพบว่าปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นนับเป็นปัญหาทั่วโลก แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว รศ.ดร.สุมนทิพย์ อธิบายว่า ปัญหาที่เหมือนกัน คือ สื่อที่นำเสนอความรุนแรง การเข้าถึงสื่อได้ง่าย ถัดมา คือ อาวุธ มีงานวิจัยออกมาว่า ประเทศใดที่ควบคุมอาวุธปืนได้ประสบความสำเร็จ ปัญหาการกราดยิงจะหายไป แต่ในประเทศใดที่ยังควบคุมอาวุธปืนอย่างจริงจังไม่ได้ ก็จะมีในเรื่องนี้ซึ่งอาจจะแก้ยาก

 

วิจัยท้าทายไทย สังคมไทยไร้ความรุนแรง

 

ทั้งนี้ รศ.ดร.สุมนทิพย์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยท้าทายไทย : สังคมไทยไร้ความรุนแรง โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อลดความรุนแรงในสังคม โดยในปีที่ 1 มีการศึกษาในเรื่องของการถอดองค์ความรู้ จะทำอย่างไรเพื่อให้ไปสู่กระบวนการแก้ปัญหาความรุนแรงของสังคมไทย โดยศึกษาทั้งฐานข้อมูลความรุนแรงในสังคมไทยว่ามีมากน้อยแค่ไหน ในเรื่องใด แนวปฏิบัติที่ดีอย่างไร

 

เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนสู่ในปีที่ 2 ซึ่งขับเคลื่อนการลดความรุนแรง อิงความรุนแรงใน 3 ระดับ คือ ความรุนแรงในตนเอง ฆ่าตัวตาย , ความรุนแรงต่อบุคคล คือ ความรุนแรงในครอบครัว สตรี รวมถึง การใช้ความรุนแรงในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา

 

นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการเรื่องของเครื่องมือ เพื่อนำไปสู่การลดความรุนแรง ศึกษาการใช้กระบวนการสมานฉันท์เพื่อลดความรุนแรง โปรแกรมบำบัดผู้ใช้ความรุนแรง กระบวนการใช้สื่อสร้างสรรค์ และศึกษาการป้องกันไม่ให้ใช้อาวุธปืน ทั้งนโยบาย

 

"มองว่าควรจะจัดทำวาระแห่งชาติในการลดความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงต่อสตรี ควบคุมอาวุธปืน ถัดมา คือ การป้องกันความรุนแรง โดยศึกษาตั้งแต่ประถมวัย ใช้หลักพระพุทธศาสนาเข้าไปป้องกัน รวมถึง การดำเนินคดี เมื่อเกิดการกระทำผิด โดยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ บำบัดฟื้นฟู สร้างพาร์ตเนอร์ในแต่ละหน่วยงานในการร่วมมือกันแก้ปัญหา ในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงได้จริงๆ ต้องบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน"

 

ขณะเดียวกัน การต่อยอดในปีที่ 3 นี้ จะเดินหน้าในเรื่องของความรุนแรงต่อครอบครัวและสตรี เนื่องจากเป็นสาเหตุ ถัดมา คือ ลดความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืน นำไปสู่ปัจจัยสำคัญในการแก้ไข ถัดมา คือ แผนที่ความรุนแรงในครอบครัว และโปรแกรมในการบำบัดแก้ไข

 

"ความรุนแรงไม่ใช่เรื่องไกลตัว ดูได้จากสื่อต่างๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเพิกเฉยต่อความรุนแรง คิดว่าความรุนแรงก็พร้อมจะมาสู่ตัวเราได้เสมอ ตอนนี้มองว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากในสังคม ทำให้สังคมตระหนักเพิ่มมากขึ้น แต่ทำอย่างไรให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม" รศ.ดร.สุมนทิพย์ กล่าวทิ้งท้าย