‘ฮีทสโตรก’ โรคลมแดด วิธีป้องกันและปฐมพยาบาล

‘ฮีทสโตรก’ โรคลมแดด วิธีป้องกันและปฐมพยาบาล

สภาวะโลกร้อนส่งผลให้ทุกคนเกิดความเสี่ยงที่จะเป็น ‘ฮีทสโตรก’ หรือ โรคลมแดด อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะมีวิธีดูแลป้องกันและปฐมพยาบาลอย่างไร

ฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือ โรคลมแดด เป็นโรคอันตราย ที่สร้างความสูญเสียให้กับชีวิต

เกิดจากสภาพอากาศร้อนจัด ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนความร้อนในร่างกาย (Core Temperature) เกินกว่า 40 องศาเซลเซียส และไม่สามารถระบายความร้อนออกมาได้

 

ระบบในร่างกายทำงานผิดปกติ ส่งผลกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิต ระบบสมอง หัวใจ ไต กล้ามเนื้อ

ทำให้เกิดอาการ มึนศีรษะ ปวดศีรษะ มีความรู้สึกตัวผิดปกติ มีภาวะชัก หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้าอาจทำให้เสียชีวิตได้

  • สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมแดด

อากาศร้อน อุณหภูมิสูง สภาพอากาศมีความชื้นสูง อากาศถ่ายเทไม่ดี ภาวะแรงลมไม่มี ไม่สามารถพัดพาความร้อนออกไปได้

  • วิธีสังเกตอาการ

ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ จนความร้อนในร่างกายสูงถึง 40 องศา ไม่มีเหงื่อออก ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดง หน้าแดง รู้สึกกระหายน้ำมาก ปวดศีรษะ มึนงง วิงเวียน สับสน คลื่นไส้ อาเจียน  

หัวใจเต้นเร็วแต่แผ่วเบา ความดันโลหิตต่ำ เมื่อยล้า เกร็งกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย หน้ามืด ตอบสนองช้า ชัก รูม่านตาขยาย ไม่รู้สึกตัว

หากหมดสติแล้วไม่ได้รับการแก้ไขถูกต้องทันเวลา อาจทำให้หัวใจหยุดเต้น และถึงแก่ชีวิตได้

  • กลุ่มเสี่ยง

ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่อดนอน ผู้ที่ดื่มเหล้าจัด ผู้ทำงานกลางแจ้ง นักกีฬา ทหาร คนงาน ผู้ทำงานในสภาพอากาศร้อนชื้น

ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคพาร์กินสัน

  • วิธีป้องกัน

ก่อนออกจากบ้านให้ดื่ม 1-2 แก้ว ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ดื่มน้ำมาก ๆ แม้ไม่กระหายน้ำก็ควรจะดื่ม อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ

สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา โปร่ง ป้องกันแสงแดดได้ ระบายอากาศได้ดี

ใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไป ไม่ควรทาครีมกันแดดหนาเกินไป

หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด หรือออกกำลังกายในสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน

หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และยาเสพติดทุกชนิด

หากรู้ว่าต้องไปทำงานในสภาพอากาศร้อนจัด ควรดูแลร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ๆ ละ 30 นาที เพื่อให้ร่างกายเคยชินกับสภาพอากาศร้อนจัด

ถ้าอยู่ในบ้าน พยายามเปิดประตู หน้าต่าง อย่าอยู่ในที่อับ หรือห้องปิดทึบ ที่อากาศถ่ายเทไม่ดี จะทำให้ความร้อนสะสม เป็นฮีทสโตรกได้

  • วิธีปฐมพยาบาล

นำผู้มีอาการเข้าในที่ร่ม ที่ระบายอากาศได้ดี นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง

ถ้ามีการอาเจียนให้นอนตะแคง เมื่ออาเจียนแล้วให้นอนหงาย

ถอดเสื้อผ้าออก คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นออก คลายชุดชั้นใน

ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง ประคบตามซอกลำตัว คอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ ศีรษะ หน้าผาก

ร่วมกับการใช้พัดลมเป่า ระบายความร้อน

เทน้ำเย็นราดลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลง

หากผู้ป่วยมีภาวะความรู้สึกตัวผิดปกติ ให้คลำชีพจรดูว่าการหายใจผิดปกติหรือเปล่า หากหายใจผิดปกติ ต้องทำ CPR

และโทร 1669 เรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว

หากไม่หมดสติ ให้ดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่ และลดอุณหภูมิร่างกายโดยวิธี cool blanket ใช้ผ้ายาง ใส่น้ำแข็งลงไป แล้วให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในตรงนั้น หากมีพัดลม ก็เปิดพัดลมได้

.....................

อ้างอิง : อ. นพ.กานต์ สุทธาพานิช, พญ.ณัชวัลฐ์ อิสระวรวาณิช, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข