ระบบสุขภาพไทย เสี่ยงรัฐ 'ไม่มีเงินจ่าย'

ระบบสุขภาพไทย เสี่ยงรัฐ 'ไม่มีเงินจ่าย'

ความท้าทายระบบสุขภาพไทย คณบดีคณะแพทย์ จุฬาฯเผยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพแซงหน้าการเติบโตทางเศรษฐกิจ  เสี่ยงรัฐไม่มีเงินจ่าย  ลั่น “Health in All Policy” ต้องยืนหนึ่งใส่ใจสุขภาพต้องมาก่อนทุกนโยบาย ส่วนประกันฯภาครัฐควรรื้อระบบสร้างความเสมอภาคเท่าเทียม หนุน “ร่วมจ่าย”

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2566 ในงานสัมมนา Than x Forum 2023 Health & Wellness Sustainability เรื่องความท้าทาย : การบูรณาการระบบสุขภาพไทย จัดโดยฐานเศรษฐกิจ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความท้าทาย : การบูรณาการระบบสุขภาพไทย”ว่า ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือขับเคลื่อนระบบสุขภาพไทย เพื่อให้อัตราการมีสุขภาพดีก่อนเสียชีวิตของคนไทยดีขึ้น
       ซึ่งปัจจุบันระบบบริการสุขภาพ ไม่ใช่แค่การป่วยแล้วไปพบแพทย์ แต่รวมถึงระบบการดูแลค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนอย่างเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาวะกาย และจิตที่ดี ผ่านการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกัน รักษาโรค ฟื้นฟู สร้างความแข็งแกร่งและพร้อมของระบบในการรับมือโรคติดต่อ โรคไม่ติดต่อ และภัยพิบัติ

 คนไทยมีช่วงสุขภาพไม่ดี  เฉลี่ย 5 ปี
            “สิ่งหนึ่งที่อยากให้เกิดขึ้นให้ได้คือ Health Span หรือ การมีชีวิตอยู่ด้วยสุขภาพที่ดีก่อนเสียชีวิต ไม่ใช่แค่การมีชีวิตอยู่นานขึ้นอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องอยู่นานและอยู่อย่างดี โดยปัจจุบันประเทศไทยมีตัวเลข Health Span คนไทยอายุเฉลี่ยเกือบ ๆ 80 ปี คนไทยจะมีเวลาเฉลี่ย 5 ปีที่สุขภาพไม่ดีและทุกข์ทรมาน ทุกหน่วยงานต้องหาทางแก้ปัญหาให้คนไทยอยู่นาน และมีสุขภาพที่ดีคู่กันไปด้วย” รศ.นพ.ฉันชายกล่าว 

     ประชากรไทยกว่า 99% อยู่ภายใต้การคุ้มครอง ดูแลในระบบประกันสุขภาพ ทั้งพ.ร.บ.สิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการ ราว 8% พ.ร.บ.ประกันสังคม 17% และพ.ร.บ.หลักระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 73% ทำให้ตัวเลขที่คนไทยต้องล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลน้อยลง แต่ปัจจุบันการล้มละลายส่วนใหญ่เป็นเพราะการเข้าไปรักษาสุขภาพในโรงพยาบาลเอกชน ที่มีค่าใช้จ่ายสูงเกินจริง

ระบบสุขภาพไทย เสี่ยงรัฐ \'ไม่มีเงินจ่าย\'

ทุกนโยบาย ต้องคำนึงผลต่อสุขภาพก่อน
       ความท้าทายของระบบริการสาธารณสุขนั้น คือ 1.ระบบสาธารณสุขเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ปัญหาสุขภาพไม่ใช่การเจ็บป่วยจากเชื้อโรคเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ขยะล้นโลก โรคอุบัติใหม่ ภาวะโลกร้อน อาหารขยะ โรคเรื้อรัง และภาวะผู้สูงวัย
       แนวทางการรองรับปัญหาที่สำคัญ คือ Health in All Policy ทุกนโยบายต้องให้ความห่วงใยสุขภาพเป็นลำดับแรก เนื้อหาสำคัญ คือ จะทำนโยบายอะไรต้องคิดเรื่องของสุขภาพก่อน และทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อน การทำนโยบายต่าง ๆที่ขัดต่อสุขภาพ ต้องคิดให้ดีก่อนว่าจะทำหรือไม่ เพื่อสร้างสุขภาพของประชาชนให้ดีขึ้น ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากนโยบายที่ทำ พร้อมให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub

ค่าใช้จ่ายสุขภาพแซงเศรษฐกิจ
     ความท้าทายที่ 2 เรื่อง ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทย คิดเป็นสัดส่วน 5% ต่อจีดีพี  โดยมีการตั้งเป้าไม่ให้เกิน 5 % ขณะที่รายจ่ายของรัฐบาลที่ใช้ดูแลสุขภาพประชาชน ประมาณ 16-18% ต่อจีดีพี  พยายามไม่ให้เกิน 20 %

"ค่าใช้จ่ายของการดูแลด้านสุขภาพแซงหน้าการเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน บอกถึงว่าในอนาคตมีความเสี่ยงว่าจะเกิดความไม่ยั่งยืน คือจะไม่มีเงินจ่าย  โดยเฉพาะหลังเข้าสู่สังคมสูงอายุมากขึ้น"รศ.นพ.ฉันชายกล่าว  

 

   และ 3. ระบบสุขภาพไทย เสี่ยงรัฐ \'ไม่มีเงินจ่าย\' ความเหลื่อมล้ำ เช่นตัวเลขปี 2558 สิทธิบัตรทอง มีผู้อยู่ในสิทธิ 48 ล้านคน ใช้งบประมาณ  1.14 แสนล้านบาท แต่สิทธิสวัสดิการข้าราชการที่มีสัดส่วนคนน้อยกว่า 10 เท่า ใช้งบประมาณ 6.6 หมื่นล้าน  จะเห็นว่าใช้งบประมาณต่างกันแค่ 50 %
       แสดงว่าในกลุ่มข้าราชการมีการใช้จ่ายเงินที่มากกว่า โดยไม่รู้ว่าผลลัพธ์ดีกว่าหรือไม่ เป็นการแสดงถึงค่าใช้จ่ายที่ไม่เท่าเทียมกัน  สิ่งเหล่านี้ต้องมีการแก้ไข อีกทั้ง 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทั้งบัตรทอง สวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม  ก็มีความซ้ำซ้อนกัน
หนุน “ร่วมจ่าย”อย่างเป็นธรรม

        “ต้องมีการปรับ ยกเครื่องระบบประกันสุขภาพใหม่ให้เกิดประสิทธิภาพ ให้ 3 กองทุนมีความเท่าเทียมกัน เกิดประสิทธิภาพในการดูแลสูงสุด จึงต้องมีการพยายามวางแผนหรือบูรณาการ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าคือค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพไม่เกิน 5 % และค่าใช้จ่ายรัฐบาลเกี่ยวกับสุขภาพไม่เกิน 20 %ของรายได้

"อนาคตการร่วมจ่ายต้องเกิดขึ้น แม้จะมีการคัดค้านมาก นักการเมืองไม่กล้าทำเพราะกลัวเสียคะแนนเสียง เอ็นจีโอก็ต่อต้าน แต่ควรทำอย่างมีระบบและเป็นธรรม"


        ทั้ง 3 กองทุนต้องมารวมกัน บริหารจัดการภายใต้แนวคิดเดียวกัน แชร์ทรัพยากรร่วมกัน ทำให้มีสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกัน ให้เป็นกองทุนแบบปลายปิดที่เป็นธรรมให้ได้ ถ้ามีแรงช่วยร่วมจ่ายแต่ถ้าไม่มีแรงก็มีส่วนเสริมให้ ต้องมองการใช้จ่ายทางด้านสุขภาพเป็นการลงทุนไม่ใช่ต้นทุนด้วย”รศ.นพ.ฉันชายกล่าว