3 กองทุน ชวน "รพ.เอกชน" ร่วมบริการเสริมสุขภาพ ผู้ประกันตน-ข้าราชการ

3 กองทุน ชวน "รพ.เอกชน" ร่วมบริการเสริมสุขภาพ ผู้ประกันตน-ข้าราชการ

3 กองทุนสุขภาพ จับมือ "รพ.เอกชน" ร่วมบริการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ภายใต้สิทธิประโยชน์ “กองทุนบัตรทอง” เพิ่มความสะดวกในการใช้สิทธิแก่ผู้ประกันตนและข้าราชการ รวมถึงสิทธิบัตรทอง ให้บริการเพิ่มเติมที่เบิกจ่ายกับ สปสช.

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงาน จัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับประชาชนไทย สิทธิข้าราชการ และ ประกันสังคม แก่สถานพยาบาลเอกชนในโครงการประกันสังคมและที่เข้าร่วมโครงการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยใน (Elective surgery hospital) กับกรมบัญชีกลาง ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 280 คน ประกอบด้วยตัวแทนจากโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ ตัวแทนจากสมาคมโรงพยาบาลเอกชน  ตัวแทนจาก สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง และ สปสช. 

 

นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับคนไทยทุกคน และมอบให้ สปสช.ดำเนินการภายใต้กองทุนบัตรทอง นำมาสู่การบูรณาการร่วมกันของ 3 กองทุนสุขภาพ คือ กองทุนประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และบัตรทอง เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอย่างเท่าเทียม และไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการเบิกจ่ายของ 3 กองทุน 

 

ในการนี้เพื่ออำนวยความสะดวกการเข้ารับบริการให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกันตนและข้าราชการ สปสช.ได้เชิญชวน รพ.เอกชน สถานพยาบาลเอกชนโครงการประกันสังคมและสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยในกับกรมบัญชีกลางเข้าร่วมเป็น “หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อให้บริการสร้างเสริมสุขภาพ ฯ เพิ่มเติมให้กับผู้ประกันตนและข้าราชการที่ดูแลอยู่ โดยเบิกจ่ายค่าบริการจาก สปสช.

รายการที่ให้บริการ 

ทั้งนี้ หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะสร้างเสริมสุขภาพฯ เบื้องต้นจะให้บริการเฉพาะรายการที่เบิกจ่ายตามรายการที่กำหนด ได้แก่

  • บริการดูแลหญิงตั้งครรภ์
  • บริการตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์และโรคฟีนิลคีโตนูเรียในทารกแรกเกิด
  • บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ
  • บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย
  • บริการคุมกำเนิดกึ่งถาวร
  • บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

กรณีที่ตรวจคัดกรองหากมีความผิดปกติก็แนะนำให้เข้ารับบริการที่สถานพยาบาลหรือหน่วยบริการประจำตามสิทธิต่อไป

 

“เดิมที สปสช.จ่ายค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค แบบเหมาจ่ายรายหัว ทำให้ประชาชนต้องไปรับบริการได้เฉพาะที่หน่วยบริการ บัตรทอง  สปสช.จึงปรับการจ่ายเพื่อเปิดช่องให้สถานพยาบาลนอกระบบหลักประกันสุขภาพ ที่สนใจเข้าร่วมให้บริการสร้างเสริมสุขภาพฯ ซึ่งประชาชนสิทธิบัตรทองก็สามารถใช้บริการได้ด้วย และนำมาสู่การประชุมชี้แจงในวันนี้” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

นายรชตะ อุ่นสุข ผู้อำนวยการกลุ่มงานกฎหมายด้านสวัสดิการรักษาพยาบาล กรมบัญชีกลาง กล่าวว่า สิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพฯ คนไทยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงบริการ สปสช.จึงหารือกับกรมบัญชีกลางเพื่อให้ข้าราชการและญาติสายตรงเข้าถึงบริการนี้ ซึ่งกรมบัญชีกลางมีสัญญากับโรงพยาบาลเอกชนรวม 200 แห่ง ที่ให้บริการผ่าตัดแบบไม่เร่งด่วน จึงตั้งโจทย์ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้โรงพยาบาลเหล่านี้ร่วมให้บริการสร้างเสริมสุขภาพฯ กองทุนบัตรทองด้วย

อย่างไรก็ตามประเด็นแรกที่ต้องเน้นย้ำคือ การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกับกรมบัญชีกลางทุกอย่างยังเหมือนเดิม เพียงแต่ รพ.ที่ร่วมให้บริการสร้างเสริมสุขภาพฯ กองทุนบัตรทองจะต้องทำข้อมูลการบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ เพิ่มเติมเพื่อเบิกจ่ายกับ สปสช.เท่านั้น

 

ตัวอย่าง สิทธิการฝากครรภ์ ปกติคนท้องที่ฝากครรภ์กับโรงพยาบาลใดก็จะผ่าคลอดที่นั่นด้วย ซึ่งหากผู้มีสิทธิเข้าผ่าท้องคลอด รพ.ยังคงเบิกค่าบริการกับกรมบัญชีกลางเหมือนเดิม เพียงแต่ในส่วนบริการฝากครรภ์ที่เพิ่มมาใหม่ ให้ส่งข้อมูลเบิกค่าบริการกับ สปสช. โดยไม่เรียกเก็บเพิ่มกับผู้มีสิทธิอีก    

 

“ผมย้ำว่าโครงการนี้เป็นความร่วมมือ สปสช. สปส. และกรมบัญชีกลาง ขอเชิญชวนให้โรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญากรมบัญชีกลาง เข้าร่วมให้บริการสร้างเสริมสุขภาพฯ กับ สปสช. เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้รับบริการที่ท่านดูแลอยู่”  

 

ด้าน นางยุวดี อัคนิวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มงานคุ้มครองสิทธิทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ประกันสังคมเริ่มให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จำนวน 14 รายการเมื่อ 1 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา พร้อมขยายเปิดรับสถานพยาบาลมาร่วมให้บริการ ในการร่วมมือกับสปสช. ครั้งนี้ สปส.คงนำสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพฯ ของกองทุนบัตรทองมาทบทวนและจ่ายเฉพาะรายการที่ไม่ซ้ำซ้อนแทน ปัจจุบันมี รพ.เอกชน ในระบบประกันสังคม 89 แห่ง ในจำนวนนี้มี 39 แห่งที่ไม่ได้อยู่ในระบบของ สปสช.  

 

ในกรณีฝากครรภ์ ผู้ประกันตนนอกจากได้รับค่าฝากครรภ์ 1,500 บาทแล้ว หากฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลที่ร่วมให้บริการกับ สปสช. ก็จะได้รับบริการฝากครรภ์คุณภาพฟรีตามสิทธิบัตรทองเพิ่มเติม โดยโรงพยาบาลเบิกค่าบริการฝากครรภ์จากสปสช. ในส่วนค่าคลอดบุตร สปส.ยังดูแลในอัตรา 15,000 บาท ซึ่ง รพ. ยังเรียกเก็บค่าบริการกับผู้ประกันตนเช่นเดิม  

 

“รพ.ประกันสังคมที่ร่วมให้บริการสร้างเสริมสุขภาพฯ กับ สปสช. อาจสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกันตนเลือกใช้สิทธิที่ รพ.ท่านเพิ่มเติม เป็นการร่วมดูแลผู้ประกันตนให้เข้าถึงสิทธิ มีสุขภาพที่ดี และลดค่ารักษาพยาบาล สปส.หวังเป็นอย่างยิ่งจะมี รพ.ที่ร่วมให้บริการกับ สปสช. เพิ่มเติม” นางยุวดี กล่าว

 

3 กองทุน ชวน \"รพ.เอกชน\" ร่วมบริการเสริมสุขภาพ ผู้ประกันตน-ข้าราชการ