ทำไม?อาจารย์ไทยต้อง "ซื้องานวิจัย" พร้อมเปิดตลาดช็อปปิ้งผลงานวิชาการ

ทำไม?อาจารย์ไทยต้อง "ซื้องานวิจัย" พร้อมเปิดตลาดช็อปปิ้งผลงานวิชาการ

ยิ่งขุดยิ่งเจอ...ดูจะเป็นอีกคำที่เหมาะกับกรณีการ “ซื้อผลงานวิจัย” หลังจากที่นักวิชาการไทยที่อยู่ต่างประเทศ ได้ออกมาแฉการซื้องานวิจัยออนไลน์เพื่อให้ได้ใส่ชื่อตัวเองเป็นผู้แต่งงานวิจัยโดยไม่ต้องทำจริง และเลือกได้ว่าอยากให้มีชื่อตัวเองอยู่ในงานไหน

ขณะนี้ปรากฏว่า ยิ่งมีการตรวจสอบยิ่งพบอาจารย์ นักวิชาการไทย จำนวนมากที่มีการซื้อผลงานวิจัยไม่ต่ำกว่า 10 คน  ที่ซื้องานวิจัยจากต่างประเทศ

รวมทั้ง พบว่ามีอาจารย์ระดับโรงเรียนประถมมัธยม ก็ยังสามารถจ้างคนทำวิจัยทำผลงานกันเช่นกัน เพราะการทำวิทยฐานะมีแม้กระทั่ง จ้างเขาทำ มีคนรับจ้างทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งคนรับจ้างทำก็เป็นครูด้วยกันนี่แหละครับ ตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสน

ล่าสุด วันนี้ 16 มกราคม 2566 ทางเพจ Khon Kaen University – มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้โพสต์ชี้แจงดังนี้ ตามที่ปรากฏข่าวเผยแพร่ในสื่อสาธารณะว่าอาจมีนักวิชาการ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นซื้องานวิจัยออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ต่างประเทศ อันเป็นการกระทําที่ผิดหลักวิชาการ จริยธรรม และจรรยาบรรณในการทํา ผลงานวิจัยหรือผลงานวิชาการ สร้างความเสียหายและความเชื่อมั่น ให้แก่วงการวิชาการทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ นั้นมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ตระหนักและให้ความสําคัญอย่างยิ่ง

เกี่ยวกับการทําผลงานวิจัยหรือผลงานวิชาการของคณาจารย์และผู้ปฏิบัติงาน สังกัดของมหาวิทยาลัย จักต้องยึดมั่นหลักความถูกต้องทางวิชาการ ยึดถือ และปฏิบัติตามจรรยาบรรณและจริยธรรมในการทําผลงานวิจัยหรือผลงาน วิชาการอย่างเคร่งครัด ซึ่งกรณีที่ปรากฏตามข่าว 

ขณะนี้ มหาวิทยาลัยฯ ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน และหากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า มีการกระทําที่ไม่ปฏิบัติตามหลักวิชาการ หรือผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณในการทําผลงานวิจัยหรือผลงานวิชาการ มหาวิทยาลัยจะนําเนินการสอบสวนเพื่อลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

หลักฐาน!! ชี้ชัด 6 นักวิชาการไทยซื้อผลงานวิชาการ ระบุซื้อปีละ 90 งาน

เผยรูรั่วทางจริยธรรมปม"ซื้องานวิจัย" เร่งตรวจสอบอาจารย์ทุกมหาวิทยาลัย

 

อธิการบดีมข. ตรวจสอบเอาผิดอาจารย์ซื้องานวิจัย

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า หลังจากทราบข่าวการซื้อขายงานวิจัยแล้ว ได้สั่งการให้บัณฑิตวิทยาลัย และฝ่ายวิจัย ตรวจสอบผลงานของนักวิชาการ ที่มีลักษณะการทำงานข้ามศาสตร์ นักวิจัยที่มีผลงานมากผิดปกติ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

ทั้งนี้ ในแต่ละปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีผลงานวิจัยกว่า 1,400 เรื่อง หลังจากทราบข่าวเรื่องการซื้อขายงานวิจัย จึงเร่งให้หน่วยงานในมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องได้มีการตรวจสอบ ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะถือว่าเป็นงานที่หนักพอสมควร

ทำไม?อาจารย์ไทยต้อง \"ซื้องานวิจัย\" พร้อมเปิดตลาดช็อปปิ้งผลงานวิชาการ

สำหรับประเด็นนี้แต่ละสถาบัน แต่ละมหาวิทยาลัยมีกลไกตั้งแต่การเริ่มทำงานวิจัย มีคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ในสัตว์ทดลอง รวมทั้งแหล่งทุนที่ให้ทุนวิจัยมีระบบการตรวจสอบ การตีพิมพ์ผลงานมีคณะกรรมการบรรณาธิการ ซึ่งวารสารส่วนใหญ่ที่มีคุณภาพนั้นต้องมีนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิมาตรวจสอบอยู่แล้ว

“สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นช่องโหว่ที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะมีวารสารบางประเภทที่ไม่มีขั้นตอนที่รัดกุม จึงมีผู้ที่หาผลประโยชน์นำมาหาประโยชน์ให้ตัวเอง แต่ก็คิดว่าเป็นส่วนน้อยแต่ก็สร้างความเสียหาย ทำให้งานวิจัยนั้นขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องแก้ไขเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้วงการวิชาการมากขึ้น และหากตรวจสอบพบว่า นักวิชาการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซื้อขายงานวิชาการ จะถือว่าเป็นการทำผิดด้านการวิจัยอย่างร้ายแรง เป็นการไม่สุจริตทางผลงานวิชาการ ซึ่งจะมีแนวทาง มีกลไก และระเบียบ จะส่งผลต่อการเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัยในที่สุด” รศ.นพ.ชาญชัย กล่าว

 

ปัจจัยต้องซื้อ "งานวิจัยผี" เพื่อใส่ชื่อตัวเอง

ขณะเดียวกัน รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือ CHES  กล่าวว่า มีอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยไม่ต่ำกว่า 10 คน ที่ซื้องานวิจัยจากต่างประเทศ  โดยในจำนวนนี้รวมถึง อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และอาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนหลายคนในกรุงเทพฯ  

อย่างไรก็ตาม คนทำอาชีพอาจารย์ต้องไม่ใช่คนธรรมดา ต้องเป็นคนเก่ง ต้องเป็นคนทำวิจัย คุณจะนั่งเฉย ๆ รอรับเงินเดือนไปวัน ๆ ไม่ได้  นี่คือหนึ่งในกลไกที่บีบ อาจารย์บางคนก็คิดสั้น ก็เลยต้องไปช็อปปิ้ง ไปซื้อมา พอซื้อมาไม่มีใครรู้ ก็เลยซื้อเพลิน กดรัวไปหน่อย

ทำไม?อาจารย์ไทยต้อง \"ซื้องานวิจัย\" พร้อมเปิดตลาดช็อปปิ้งผลงานวิชาการ

รศ.ดร.วีรชัย กล่าวต่อว่า มีอาจารย์ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเก่งมาก ตีพิมพ์ ปี 2022 จำนวน 150 กว่าเรื่อง มีข้ามสาขาเพียบ แต่เป็นงานวิจัยร่วมต่างชาติเกือบหมด กำลังหาชื่อนักศึกษา แต่ยังไม่เจอสัก paper โดยอาจารย์ท่านนี้สาขาคณิตศาสตร์ ในรูปนี้ ตีพิมพ์ ด้าน nonlinear dispersion model ใน quantum mechanics physics และเป็นผู้รับผิดชอบบทความด้วย (corresponding author) แต่ตรงขอบคุณ (Acknowledgment) กลับขอบคุณทุนวิจัยของ Taif University ของผู้ร่วมวิจัยคนที่ 2 ซึ่งเป็นสาขาชีวเคมีเภสัชวิทยา

ขณะที่ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Puangthong Pawakapan ระบุว่าเกณฑ์ขอตำแหน่งทางวิชาการ"อีกปัจจัยส่งผลนักวิชาการไทย "ซื้องานวิจัย"

ทำไม?อาจารย์ไทยต้อง \"ซื้องานวิจัย\" พร้อมเปิดตลาดช็อปปิ้งผลงานวิชาการ ทำไม?อาจารย์ไทยต้อง \"ซื้องานวิจัย\" พร้อมเปิดตลาดช็อปปิ้งผลงานวิชาการ

โดยการซื้อ authorship ในวารสารวิชาการของสายวิทย์ฯอย่างน่าตกใจนี้  ซึ่งบางคนอาจจะซื้อถึง 50-100 ชิ้นทีเดียว จะเข้าใจว่าทำไมต้องซื้อมากมายขนาดนี้ ก็ต้องกลับไปดูเกณฑ์การขอตำแหน่งศาสตราจารย์ของสายวิทย์และสังคมศาสตร์บางสาย เช่น เศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ ฃฃบ้าคลั่งมากๆ ประเภท

- ต้องมีงานวิจัยอย่างน้อย 10 เรื่อง

- มี life-time citation ในวารสาร scopus อย่างน้อย 1,000 รายการ โดยไม่นับงานที่อ้างตัวเอง

- ต้องมี h-index ไม่น้อยกว่า 18

- ต้องเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยมาไม่ต่ำกว่า 10 โครงการ

ทั้งนี้ นี่เป็นเรื่องบ้ามากๆ ฉะนั้น จะมี citation มากกว่า 1,000 ชิ้น ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งคือ งานวิจัยของคุณเลิศหรูเยี่ยมยอดระดับโลก หรือกว้านซื้อบทความให้มากที่สุด แล้วผลัดกันอ้างไปมา

คำถามคือ กว่าจะเป็น ศ. อาจารย์และมหาลัยแห่งหนึ่งต้องจ่ายเงินกี่ล้านบาท? หาก 1 ชิ้นได้รางวัลตอบแทน 1 แสนบาท 50 ชิ้นจะทำกับเงินเท่าไร?

เราเชื่อว่าพวกผู้บริหารมหาลัยที่ส่วนใหญ่เป็น ศ. สายวิทย์ก็ทำไม่ได้  ศ. ของฝรั่งจำนวนมากก็ไม่น่าจะทำได้  คนพวกนี้คือต้นเหตุที่ทำให้วิชาการของไทยตกต่ำลงทุกด้าน

ปล. เกณฑ์นี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่มกราคม 2565 - บ้าเปลี่ยน-เพิ่มเกณฑ์ทุก 3-4 ปี ไม่มีที่ไหนในโลกจะปัญญาอ่อนเช่นนี้

เปิดตลาดช็อปปิ้ง ซื้อขายงานวิจัย

ด้าน รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี  ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Pinkaew Laungaramsr  ระบุว่าตลาดช็อปปิ้ง ซื้อขาย "ที่" ผู้เขียนบทความสายวิทย์ที่ใหญ่ที่สุดนั้นอยู่ในจีน ซึ่งโด่งดังมาตั้งแต่สิบปีที่แล้ว ที่รู้จักกันดีในนามของ  China's Publication Bazaar การซื้อขาย authorship ที่แพร่ระบาดอย่างหนักในวงการวิทยาศาสตร์จีน เป็นผลพวงโดยตรงมาจากนโยบายการไต่แรงกิ้งของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่สร้างแรงกดดันให้กับทั้งอาจารย์และนักศึกษาอย่างหนักหน่วงมานาน

ในปี 2013  Peggy Mason อาจารย์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก และ Maria Sol Bernardez Sarria จากมหาวิทยาลัยเยล ซึ่งเคยนั่งอยู่ในคณะกรรมการจริยธรรมของสมาคมประสาทวิทยาศาสตร์ (the Society for Neuroscience) มีความห่วงใยในแนวโน้มที่ดิ่งเหวนี้ในวงการวิชาการ และเกรงว่าตลาดมืดซื้อขายชื่อคนเขียนดังกล่าว จะระบาดเข้ามาในวงการประสาทวิทยาศาสตร์ จึงได้ร่วมกันทำโครงการศึกษา

ทำไม?อาจารย์ไทยต้อง \"ซื้องานวิจัย\" พร้อมเปิดตลาดช็อปปิ้งผลงานวิชาการ ทำไม?อาจารย์ไทยต้อง \"ซื้องานวิจัย\" พร้อมเปิดตลาดช็อปปิ้งผลงานวิชาการ

โดยสำรวจเว็ปและบทความที่มีการประกาศซื้อขายต่างๆจำนวนมาก และได้ข้อสรุปสำคัญเกี่ยวกับคุณลักษณะสำคัญๆของบทความที่อาจสามารถนำมาระบุได้ว่า บทความนั้นๆ มีการขายตำแหน่งผู้เขียน 

คุณลักษณะ 7 ประการนี้ได้แก่

1. จดหมายปะหน้า (cover letter) มักมีไวยากรณ์การเขียน การสะกดคำ และคุณภาพของการเขียน แย่กว่าตัวบทความ

2.บรรดาผู้เขียนร่วมที่ปรากฎชื่อในบทความดังกล่าว หากเช็คบทความอื่นๆ มักจะมี paper อื่นที่เขียนร่วมกันให้เห็นน้อยมากๆ

3. paper ที่เขียนเดี่ยว มีน้อยมาก

4. แทบจะไม่มีการอ้างอิงบทความที่เขียนโดยผู้เขียนนั้นๆในบรรณานุกรม/เอกสารอ้างอิงท้ายบทความ

5. ไม่ปรากฎว่ามีบทความก่อนหน้าในเรื่องเดียวกันของผู้เขียนเคยถูกตีพิมพ์มาก่อน

6. มักใช้อีเมล์เดียวในบรรดาผู้เขียนหลายคน

7. เนื้อหามีการซ้ำกับบทความอื่นๆ (plagiarized text)

การจับโกหกการซื้อขายบทความวิชาการ น่าจะมีการศึกษามาแล้วไม่น้อย และน่าจะไม่เกินความสามารถของเหล่าผู้บริหารมหาวิทยาลัย และคณะ  รวมทั้งอว. ในการค้นคว้าดูว่า ในต่างประเทศ เขาตรวจสอบ และจัดการกับเรื่องแบบนี้อย่างไร โดยเฉพาะท่านผู้บริหารที่รีบกระโจนออกมาปกป้องราวกับกลัวคนไม่รู้ว่าทำกันเป็นสถาบัน  งานศึกษานี้ทำมาตั้งแต่ปี 2013  ปัจจุบันน่าจะมีงานที่ดีกว่านี้ออกมาแล้ว ใครว่างๆ ก็แวะเข้าไปดูในเว็ป retractionwatch ดู เพราะเขาจับตาเรื่องนี้มานาน เวลาจะแก้ตัว จะได้ไม่เขียนอะไรตลกๆ ดูถูกสติปัญญาเพื่อนร่วมวิชาชีพเดียวกัน (https://retractionwatch.com/.../seven-signs-a-paper-was.../)

"ซื้องานวิจัย" เป็นผลประโยชน์ทางธุรกิจ

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า การซื้องานวิจัย ไม่ใช่มีแต่กรณีที่นำมาขอตำแหน่งวิชาการ หรือเพิ่มชื่อเสียงให้กับตัวเอง แต่ยังมีประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจ เช่น กรณีบริษัทบุหรี่ ที่มีประวัติการสนับสนุนและแทรกแซงงานวิจัย รวมทั้งซื้อวารสารการแพทย์ชั้นนำ ให้ตีพิมพ์งานวิจัยที่ตนเองสนับสนุน เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า เมื่อไม่นานมานี้ มีนักวิชาการไทยอย่างน้อย 2 คน ออกมาให้ข่าวสนับสนุนให้มีการจัดเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า และอ้างถึงหลักการลดอันตราย เพื่อเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า ในอัตราที่ต่ำกว่าบุหรี่มวน โดยอ้างผลการศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งรายงานที่ถูกนำมาอ้าง จัดทำโดยองค์กรที่เคยได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่ และมีความเกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ที่เคลื่อนไหวให้รัฐบาลไทย ยกเลิกการห้ามบุหรี่ไฟฟ้า

 เช่น รายงานเรื่อง “optimal taxation of cigarettes and e-cigarettes” สนับสนุนโดย the Reason Foundation เป็นองค์กรที่มีประวัติการรับเงินจากบริษัทบุหรี่มายาวนาน และมักจะเขียนบทความ รายงานที่เป็นประโยชน์กับบริษัทบุหรี่ หรือรายงาน “vapor products, harm reduction, and taxation” จัดทำโดย International Center for Law & Economics ที่มีผู้บริหารเคยทำงานให้องค์กร ที่มีประวัติรับเงินจากบริษัทบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า เช่น TechFreedom และ R Street Institute  

“อยากฝากไปถึงรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมสรรพสามิตที่มีข่าวว่า จะกำหนดพิกัดภาษีบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อประโยชน์ในการจับกุม/ปราบปรามผู้ที่ลักลอบในการขายบุหรี่ไฟฟ้า ให้พิจารณารายงาน งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าอย่างรอบคอบ และไม่นำงานวิจัยที่สนับสนุนโดยบริษัทบุหรี่ หรือมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับบริษัทบุหรี่มาใช้อ้างอิง เพื่อการกำหนดนโยบายของไทย ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่ตัวอย่างประเทศที่มีการกำหนดพิกัดภาษีบุหรี่ไฟฟ้า และเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมตามหลักวิชาการ ที่ไม่ถูกแทรกแซงโดยบริษัทบุหรี่” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว

พฤติกรรมการซื้องานวิจัยของบริษัทบุหรี่

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวอีกว่า พฤติกรรมการซื้องานวิจัยของบริษัทบุหรี่มีมาตั้งแต่อดีต โดยการดำเนินการเป็นขั้นตอน ดังนี้

  • สนับสนุนทุนให้นักวิจัยทำการวิจัย โดยมีการแทรกแซงให้ผลการวิจัยออกมาในลักษณะที่เป็นประโยชน์กับธุรกิจ 
  • ซื้อพื้นที่วารสารวิชาการเพื่อนำงานวิจัยที่บริษัทสนับสนุนลงตีพิมพ์และเผยแพร่สู่สาธารณะ
  • จ้างนักวิชาการ นักการเมือง หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงให้พูดถึงงานวิจัยในเวทีต่าง ๆ รวมทั้งออกข่าวเพื่อชี้นำนโยบาย
  • จ้างกลุ่มองค์กรบังหน้าให้ออกมาโจมตี ดิสเครดิตนักวิชาการอื่น ๆ ที่แสดงความเห็นวิจารณ์งานวิจัยที่บริษัทบุหรี่สนับสนุน และดิสเครดิตงานวิจัยที่จะสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจ

ทั้งนี้ ขอให้นักวิชาการไทย ได้รับทราบถึงมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ที่ห้ามบริษัทบุหรี่ หรือองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้การอุปถัมภ์ รวมทั้งทุนวิจัยแก่บุคคล หรือกลุ่มบุคคลอันจะนำไปสู่การแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบ