หลักฐาน!! ชี้ชัด 6 นักวิชาการไทยซื้อผลงานวิชาการ ระบุซื้อปีละ 90 งาน

หลักฐาน!! ชี้ชัด 6 นักวิชาการไทยซื้อผลงานวิชาการ ระบุซื้อปีละ 90 งาน

อ.อ๊อด เผยตรวจสอบเบื้องต้น พบหลักฐาน นักวิชาการไทย 6 ราย ซื้อผลงานวิจัยจากต่างประเทศ มาสร้างเป็นผลงานของตัวเอง มีทั้งนักวิชาการจากม.ดังในเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ระบุมีการซื้อผลงานวิจัย ปีละ 90 ชิ้นงาน ส่วนใหญ่เป็นสายสาธารณสุข สายวิทยาศาสตร์

จากกรณีที่นักวิชาการเปิดเผย ข้อมูลว่า มีนักวิชาการ นักวิจัยไทย ได้จ่ายเงินเพื่อแลกกับการนำชื่อไปใส่อยู่ในงานวิจัยต่างประเทศ โดยราคาจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของชื่อในงานวิจัย  

ขณะนี้ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้มีการตั้งทีมขึ้นมาตรวจสอบเรื่องราวที่เกิดขึ้น และตาม พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562 มาตรา 70 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใด จ้าง วาน ใช้ให้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการเพื่อไปใช้ในการเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเพื่อใช้ในการทำผลงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขอตำแหน่งทางวิชาการ หรือเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินอื่นในระดับที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตาม  ห้ามมิให้ผู้ใดรับจ้างหรือรับดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เพื่อให้ผู้อื่นนำผลงานนั้นไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือโดยสุจริตตามสมควร โดยหากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนั้น ยังมีประกาศเรื่อง มาตรฐานการวิจัย โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระบุถึงมาตรฐานการเผยแพร่ผลงานวิจัยและผลงานวิชาการ รวมทั้งจริยธรรมนักวิจัยด้วย ดังนั้น การที่มีนักวิจัยได้ตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ ผ่านการซื้อผลงานเพื่อให้ตัวเองได้มีชื่ออยู่ในบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ จึงเป็นการผิดจริยธรรมทางวิชาการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ผิดจริง! โทษทั้งจำทั้งปรับ "นักวิจัยไทย" ซื้อผลงานทางวิชาการใส่ชื่อตัวเอง

กระทรวงอุดมศึกษาจะแก้วิกฤติระบบการศึกษาได้หรือ

นักวิชาการแนะตั้งทีมไทยแลนด์ดันซอฟต์เพาเวอร์

 

นักวิชาการไทย ซื้อผลงานวิจัยปีละ 90 งาน

วันนี้ (10  มกราคม 2566)  รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรืออ.อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐหรือ CHES  กล่าวว่าจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่ามีรายชื่อนักวิชาการไทยทั้งหมด 6 ท่าน ที่เข้าข่ายการซื้อผลงานวิจัยจากต่างประเทศ โดยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดังในจ.เชียงใหม่ 1 ท่าน อาจารย์อยู่สถาบันวิจัยแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ 1 ท่าน และอีก 4 ท่าน เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนในกรุงเทพฯ ซึ่งคาดว่าหากมีการตรวจสอบเพิ่มขึ้น ก็จะพบรายชื่อนักวิชาการไทยมากขึ้น 

"ความผิดปกติที่เข้าข่ายการซื้อผลงานวิจัย ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักวิชาการทางด้านสาธารณสุข โดยพิจารณาได้จากจำนวนงานวิจัยสูงอย่างผิดปกติ เช่น อดีตทำงานวิจัยได้ปีละ ไม่กี่งาน แต่ปัจจุบันกลับว่าทำงานวิจัยได้ปีละ 90 งาน มากกว่า นักวิจัยรางวัลที่มีสูงสุดในไทยถึง 9 เท่า ขณะเดียวกันหัวข้องานวิจัยที่มีการซื้อจะแตกต่างจากความเชี่ยวชาญของตัวเอง อาทิ เคมี เกษตร วิศวกรรม ผลิตภัณฑ์นานาโน จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจารย์ทั้ง 6 ท่านนี้ ซื้องานวิจัยจากต่างประเทศ โดยไม่ได้เป็นผู้ทำเอง" รศ.ดร.วีรชัย กล่าว

ที่ผ่านมา ได้มีการตรวจสอบกรณีการซื้อขายปริญญาเอก ซึ่งมีการระบุว่านักวิชาการไทย อาจารย์ไทยได้มีการซื้อขายงานวิจัยจากชาวต่างชาติอยู่แล้ว  โดยมีการซื้อขายผ่านเว็บไซต์ในราคาหลักหมื่นบาท เพื่อนำมาสร้างผลงานให้แก่ตนเอง หรือบางคนนำมาขอเงินสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย แต่ตอนนั้นยังไม่พบการตรวจสอบ


เปิดสาเหตุ ทำไม? นักวิชาการไทยต้องซื้อผลงาน

ส่วนสาเหตุที่ทำให้อาจารย์กลุ่มดังกล่าว มีการซื้อผลงานวิชาการ ผลงานวิจัย เพื่อมาสร้างผลงานตนเองนั้น รศ.ดร.วีรชัย กล่าวต่อว่า อาจารย์ทุกคนในมหาวิทยาลัยต้องมีการทำงานวิจัยอยู่แล้ว ซึ่งการทำงานวิจัยนอกจากสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ แล้ว ยังทำให้อาจารย์ดูมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น รวมถึงการทำงานวิจัย สามารถไปขอทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย ภาควิชา หรือหน่วยงานภายนอกได้ ดังนั้น อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้อาจารย์เหล่านี้ไปซื้อผลงานวิจัยจากต่างประเทศ

"จากการตรวจสอบ พบว่า  หนึ่งในอาจารย์ ได้มีการลงทุนซื้องานวิจัยชาวต่างชาติ โดยให้นำชื่อตัวเองเข้าไปในผลงานว่าเป็นผู้ร่วมทำงานวิจัย 30,000 บาท แต่สามารถนำมาขอรับเงินสนับสนุนได้ถึง 120,000 บาท ก็ถือว่าได้กำไรมากกว่าเท่าตัว แถมยังได้ผลงานเป็นโปรไฟล์ที่จะนำไปใช้ต่อยอด สร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองได้อีก" รศ.ดร.วีรชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม  ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยจะข้อกำหนดที่บังคับให้อาจารย์ทุกคนต้องทำงานวิจัย อาจจะเป็นต้นเหตุหลักที่เกิดการซื้องานวิจัยเพื่อสร้างผลงานให้ตัวเอง และมั่นใจว่าจะไม่ถูกตรวจสอบ เพราะกรณีที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้เกิดจากนักวิชาการไทยมาเปิดเผยข้อมูล แต่เป็นนักรีวิวงานวิจัยชาวต่างชาติ ที่ไปพบความผิดปกติของงานวิจัยหลายชิ้น ซึ่งมีนักวิชาการ หรืออาจารย์ที่มีรายชื่อร่วมวิจัยมาจากผู้เชี่ยวชาญคนละด้านกันและมาจากหลายประเทศ แบบไม่สมเหตุสมผล และหนึ่งในนั้นคือชื่อของนักวิชาการชาวไทย แต่อมาก็พบว่ามีแหล่งซื้อขายงานวิจัยกัน โดยคิดราคาเป็นเรต มีรายชื่ออยู่ในลำดับต้นๆก็ราคาสูง ถัดลงมาก็ถูกลง

"หากมีการตรวจสอบจริงๆ เชื่อว่า นักวิชาการที่ซื้อผลงานวิจัยจากต่างประเทศ คงได้รับบทลงโทษจากทั้งทางมหาวิทยาลัย และกระทรวง อว. เพราะเรื่องนี้ทำการตรวจสอบไม่ยาก หากไม่ได้เดินทางไปร่วมวิจัยจริงๆ จะเกิดงานวิจัยได้อย่างไร ขณะเดียวกัน หากไม่รู้จักกับเจ้าของผลงานก็สามารถตรวจสอบได้ว่า ไม่ได้ทำงานวิจัยเอง" รศ.ดร.วีรชัย กล่าว