ผิดจริง! โทษทั้งจำทั้งปรับ "นักวิจัยไทย" ซื้อผลงานทางวิชาการใส่ชื่อตัวเอง

ผิดจริง! โทษทั้งจำทั้งปรับ "นักวิจัยไทย" ซื้อผลงานทางวิชาการใส่ชื่อตัวเอง

สั่นสะเทือน “แวดวงอุดมศึกษา” และความน่าเชื่อถือของเหล่านักวิจัย นักวิชาการไทยสุดๆ เมื่อมี นักวิชาการไทยในต่างประเทศได้ออกมาแฉว่านักวิชาการไทยได้ซื้อผลงานวิจัย ผลงานทางวิชาการ เพื่อให้ได้ใส่ชื่อของตัวเองเป็นผู้แต่งโดยไม่ได้เป็นผู้ทำเองจริงๆ

โดยงานวิจัยที่มีผู้แต่งหลายคนจะเรียงชื่อตามลำดับความสำคัญและการมีส่วนร่วม ถ้าอยู่ลำดับแรกก็แพงหน่อย ลำดับถัดมาก็ราคาลดหลั่นลงไป เลือกได้แล้วก็กด “ซื้อ” และชำระเงิน ซึ่งเมื่อได้ผู้แต่งครบแล้ว งานวิจัยเล่มนี้ก็จะถูกส่งไปตีพิมพ์ แล้วคนที่จ่ายเงินจะได้นำมาประกาศว่าเป็นผลงานวิจัยของตนเอง โดยที่ไม่ต้องไปทำเอง เพียงจ่ายเงินเท่านั้น  

ว่ากันว่า มีชื่อนักวิจัยไทย นักวิชาการไทย ไปปรากฏอยู่ในงานวิจัยที่ไม่ต้องทำเอง เพียงจ่ายเงิน หลายต่อหลายชิ้น อาทิ  กรณีผลงานอาจารย์ชื่อดังทางภาคเหนือ ซึ่งมีชื่อในผลงานวิจัยที่ไม่ได้ทำเองเพียงจ่ายเงิน   โดยในปี 2019 อาจารย์ท่านดังกล่าวมีงานวิจัยแค่ชิ้นเดียว ต่อมาปี 2020 มีเพิ่มเป็น 40 ชิ้น และปี 2021 มีเพิ่มถึง 90 ชิ้น ซึ่งมีคนในแวดวงวิชาการออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อาจารย์ท่านดังกล่าวจ่ายเงินซื้อชื่อผู้แต่งลำดับที่ 1 ในราคา 900 ดอลลาร์ หรือประมาณ 30,000 บาท แล้วนำงานวิจัยไปเบิกเงินกับมหาวิทยาลัย 1.2 แสนบาท ได้เงินส่วนต่าง 90,000 บาท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดวิพากษ์วิจารณ์ในวงการวิชาการ โดยมีเหล่าคณาจารย์ชื่อดังหลายๆ ท่าน ออกมาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ และจัดการลงโทษขั้นเด็ดขาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

วช. ชู 8 ผลงานวิจัยจาก RUN ยกระดับสู่อาเซียน

ม.จุฬาฯ ติดอันดับผลงานวิชาการดีที่สุดในโลก

นักวิชาการแนะตั้งทีมไทยแลนด์ดันซอฟต์เพาเวอร์

กระทรวงอุดมศึกษาจะแก้วิกฤติระบบการศึกษาได้หรือไม่

 

เร่งตรวจสอบ ผิดจริงโทษทั้งจำและปรับ

ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวว่าทางกระทรวง อว. จะเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นการผิดจริยธรรมทางวิชาการอย่างชัดเจน  ซึ่งหากพบว่าดำเนินการจริงต้องถือเป็นความผิดและลงโทษอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562 มาตรา 70 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใด จ้าง วาน ใช้ให้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการเพื่อไปใช้ในการเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเพื่อใช้ในการทำผลงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขอตำแหน่งทางวิชาการ หรือเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินอื่นในระดับที่สูงขึ้น

ผิดจริง! โทษทั้งจำทั้งปรับ \"นักวิจัยไทย\" ซื้อผลงานทางวิชาการใส่ชื่อตัวเอง

 ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตาม  ห้ามมิให้ผู้ใดรับจ้างหรือรับดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เพื่อให้ผู้อื่นนำผลงานนั้นไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือโดยสุจริตตามสมควร โดยหากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนั้น ยังมีประกาศเรื่อง มาตรฐานการวิจัย โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระบุถึงมาตรฐานการเผยแพร่ผลงานวิจัยและผลงานทางวิชาการ รวมทั้งจริยธรรมนักวิจัยด้วย ดังนั้น การที่มีนักวิจัยได้ตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ ผ่านการซื้อผลงานเพื่อให้ตัวเองได้มีชื่ออยู่ในบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ จึงเป็นการผิดจริยธรรมทางวิชาการ

 

เปิดกระบวนการซื้อผลงานวิจัยของอาจารย์ไทย

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยมีหน้าที่ในการเคร่งครัดดูแลให้บุคลากรดำเนินการให้ถูกต้องไม่ผิดหลักจริยธรรม และสำนักงานปลัดกระทรวง อว. โดยคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (กพอ) และคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) จะต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด 

“กระทรวง อว. ได้แจ้งย้ำไปยังที่ประชุมอธิการบดีของมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน และหน่วยงานวิจัยต่างๆ ให้ตรวจสอบข้อมูลของบุคลากรอย่างใกล้ชิด ตามแนวทางในการกำกับจริยธรรมการตีพิมพ์ผลงานวิจัย รวมทั้งการนำผลงานที่ผิดจริยธรรมมาขอตำแหน่งวิชาการ หากตรวจพบประเด็นใดให้ดำเนินการทันทีและป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำในลักษณะนี้อีก  ขณะเดียวกัน ทางอว.จะจัดให้มีทีมงานส่วนกลางเข้าไปตรวจสอบข้อมูลในเชิงลึกแล้ว " ปลัดกระทรวง อว. กล่าว

ดร.อนันต์  จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก  “Anan Jongkaewwattana” ระบุว่า ธุรกิจที่น่ากลัวที่สุดของสังคมวิจัยคือการที่นักวิจัยไป shopping งานวิจัยที่ตัวเองไม่ได้ทำ เช่น ไปอ่านงานที่คิดว่าอยากมีชื่อตัวเองใน paper นั้นๆ แล้วใช้เงินไปซื้อตำแหน่งของการเป็นผู้แต่ง หรือ ผู้นิพนธ์ ในงานวิจัย ชื่อแรกก็จะแพงหน่อย ชื่อกลางๆก็จะถูกหน่อย

 เมื่อได้จำนวนผู้แต่งครบแล้ว งานวิจัยผีๆนี้ก็ส่งไปตีพิมพ์โดยคนที่จ่ายเงินเป็นผู้แต่งก็จะไปสามารถ claim ผลงานทางวิชาการ หรือ ไปใช้ขอทุนจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อถอนทุนคืนได้ งานวิจัยที่ออกมาจะมีผู้แต่งแบบหลากหลายสถาบัน หลายประเทศที่ไม่เคยเห็นหน้า หรือรู้จักกันเลย พฤติกรรมแบบนี้ไม่แตกต่างจากการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในวงการราชการเลย ที่เสียใจคือ เห็นชื่อนักวิจัยของไทยในงานแบบนี้ด้วย

ผิดจริง! โทษทั้งจำทั้งปรับ \"นักวิจัยไทย\" ซื้อผลงานทางวิชาการใส่ชื่อตัวเอง

ดร.อนันต์  กล่าวต่อว่าวารสารวิชาการที่สามารถพบงานวิจัยผีๆ ที่วางขายสิทธิ์การเป็นผู้แต่งไม่ได้จำกัดอยู่ในวารสารที่อยู่ในระดับล่างๆเท่านั้น วารสาร Vacuum ของสำนักพิมพ์ Elsevier มีค่า Impact factor สูงถึง 4.11 ก็พบว่าสามารถมีงานวิจัยนำไปลงตีพิมพ์ได้ นอกจากนี้งานวิจัยที่ลงตีพิมพ์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ Review article แต่เป็น Research article ซึ่งต้องลงข้อมูลทางเทคนิค การวิเคราะห์ผล ตลอดจนการสังเคราะห์งานวิจัยออกมา ซึ่งถ้าผ่านมาให้ลงวารสารระดับนี้ได้ แสดงว่าต้องมีข้อมูลดิบไว้ยืนยันได้ มี lab notebook มายืนยันว่าทำ experiment ไหนใน paper นี้

เมื่อดูรายละเอียดการมีส่วนร่วมของผู้แต่งแต่ละคน โดยเฉพาะผู้แต่งที่มาจากประเทศไทย จะเป็นอะไรที่น่าทึ่งมากๆที่บุคลากรใน Faculty of Nursing จะสามารถเขียนวารสารวิชาการในหัวข้อเชิงเทคนิคได้ขนาดนี้ และ ยากที่จะเชื่อว่าจะมีเทคนิคส่วนไหนในงานนี้เกี่ยวข้องกับงานด้านพยาบาล หรือ Occupational therapy เลย...แถมหนึ่งในนั้นมีหน้าที่ Funding acquisition หาทุนมาให้คณะผู้วิจัยด้วย!

จุดที่พีคที่สุดคือ corresponding author หรือ ผู้นิพนธ์หลักสำคัญที่สุด เป็นนักวิจัยจากอินโดนีเซีย มาจาก Faculty of Law ซึ่งไม่มีหน้าที่อะไรใน paper นี้เลยจากข้อมูลที่ระบุใน paper เพียงจ่าย $1000 ตามที่ระบุใน website ก็สามารถได้เป็น 1st Author และ Corresponding author ได้ตามต้องการ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดนี้ตนไม่ได้เป็นคนหาเอง แต่เป็นนักวิจัยต่างชาติเอามา post ใน website ที่รวบรวมงานวิจัยต่างๆที่มีปัญหา

ผิดจริง! โทษทั้งจำทั้งปรับ \"นักวิจัยไทย\" ซื้อผลงานทางวิชาการใส่ชื่อตัวเอง

เรียกร้องผู้บริหารจัดการ หยุดเรื่องฉายในวงการวิจัย

ด้านศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้ออกมาทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ “manopsi ระบุว่า เรื่องฉาวของวงการวิจัยและมหา’ลัยตอนนี้ คือการขุดพบว่า อาจารย์บางคนมีผลงานตีพิมพ์ มี citation และ H-index สูงเพราะไปซื้อ authorship ถือเป็นเรื่องร้ายแรงมากระดับเดียวกับ data fabrication และ plagiarism ซึ่ง ผบห. ต้องจัดการ สิ่งนี้ถือเป็น unforgivable sin ในวงการวิจัย

ด้าน รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Weerachai Phutdhawong ระบุว่า มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนหนึ่ง ไปตีพิมพ์ในเรื่องของวัสดุนาโนเป็นชื่อที่หนึ่งโดยจ่ายค่าตีพิมพ์ไป 30,000 บาท โดยที่สายงานอยู่เทคนิคการแพทย์ ไม่ใช่วัสดุศาสตร์ แล้วนำบทความที่ตีพิมพ์นั้นมาเบิกกับมหาวิทยาลัยจำนวน 120,000 บาท เรื่องนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต้องสืบสวนสอบสวนครับ เพราะตอนนี้มีเว็บไซต์ที่ขายการเอาชื่อไปแปะในวารสารวิชาการ กำลังเป็นประเด็นอยู่ #CHES ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ อ.อ๊อด ในฐานะ เลขาธิการ

ถามผู้บริหารมช.สนใจ ranking? ไม่สนใจอาจารย์ที่ไร้ยางอาย

รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Pinkaew Laungaramsri ระบุว่า ถ้าเข้าไปเสิร์ชชื่ออาจารย์ มช. ที่กำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ในขณะนี้ ดูประวัติการตีพิมพ์บทความภาษาอังกฤษใน academia edu และ loop.frontiersin.org เราจะพบเรื่องที่น่าประหลาดใจยิ่งขึ้นไปอีก เพราะชื่อของเขาที่ปรากฏร่วมกับคนอื่นในวารสารต่างๆนั้น ไม่ได้มีแค่บทความข้ามศาสตร์เกี่ยวกับวิศวกรรม ที่ไม่ใช่ field ของเขาเท่านั้น แต่ยังมีบทความเกี่ยวกับเกษตร cryptocurrency เศรษฐศาสตร์การเงิน บางบทความก็เป็นการวิจัยในรัสเซีย ในอินโดนีเซีย ในโลกมุสลิม ฯลฯ นี่แสดงว่าทำมานานแล้ว และน่าแปลกใจว่าไม่มีอับอาย แต่มีการโหลดบทความมาโชว์กันใน academia edu เลยทีเดียว

ที่สำคัญคือ เราจะไม่พบบทความภาษาไทยเกี่ยวกับเกษตร วิศวกรรม การเงิน คริปโตเคอเรนซี รัสเซีย อินโดนีเซีย ที่อาจารย์ท่านนี้มีชื่อเขียนร่วมกับคนอื่นๆ ปรากฏในวารสารใดๆ ในภาษาไทย แม้แต่ชิ้นเดียว

อยากรู้จริงๆว่าผู้บริหาร มช. จะจัดการอย่างไรกับเรื่องแบบนี้ หรือว่าไม่สนใจ สักแต่จะเอา ranking โดยไม่สนใจว่า ทุกวันนี้ มีอาจารย์ที่ไร้ยางอายประเภทนี้ ที่หากินด้วยการเอาเงินมหาวิทยาลัย ไปจ่ายซื้อ “ที่” ในบทความที่ตัวเองไม่ได้เขียน เมื่อได้ตีพิมพ์ก็มาขอเงินรางวัลที่สูงกว่า จนมีผลงานตีพิมพ์เกินครึ่งร้อยภายในไม่กี่ปี ลองคูณด้วยแสนต่อชิ้น ก็จะรู้ว่าร่ำรวยกันขนาดไหน และก็มีวารสารประเภทนี้ในต่างประเทศที่รู้จักความด้อยพัฒนาแบบมหา’ลัยในไทย (และที่อื่น) เป็นอย่างดี ถึงได้หากินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยทั้งหลาย ไม่ทราบว่าว่าอย่างไร?”

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit ระบุว่าจริงๆ ตนทราบดีว่า ตนไม่ควรให้ความเห็นเรื่องนี้มากนัก เพราะ ไม่กี่ปีจะเกษียณแล้ว ตำแหน่งวิชาการก็ยังเป็น เพียง อาจารย์ (น่าอาย) เพียงอยากเห็น มหาวิทยาลัย ให้ความสำคัญ เห็นคุณค่ากับ การทุ่มเทการสอนที่มีคุณภาพ การให้เวลากับนักเรียนนักศึกษา ไม่น้อยไปกว่า งานวิจัย

มช.ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง เอาผิดอาจารย์ซื้อผลงาน

ในส่วนของ “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในขณะนี้ ที่ได้ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า "ตามที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ มีการลงข่าว เรื่อง การกระทำผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัย โดยมีบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนั้น

ผิดจริง! โทษทั้งจำทั้งปรับ \"นักวิจัยไทย\" ซื้อผลงานทางวิชาการใส่ชื่อตัวเอง

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างสูงสุด โดยถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง เพื่อดำเนินการทางวินัยกับบุคคลดังกล่าวตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยต่อไปแล้ว

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอยืนยันที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ตามหลักธรรมาภิบาลและคุณธรรมทางวิชาการต่อไป