เผยรูรั่วทางจริยธรรมปม"ซื้องานวิจัย" เร่งตรวจสอบอาจารย์ทุกมหาวิทยาลัย

เผยรูรั่วทางจริยธรรมปม"ซื้องานวิจัย" เร่งตรวจสอบอาจารย์ทุกมหาวิทยาลัย

นักวิชาการ ระบุพบ อธิการบดี 100 งานวิจัย 100 เปเปอร์ในปีเดียว พร้อมเผยรูรั่วทางจริยธรรม “ซื้อผลงานวิจัย” ขอตำแหน่งวิชาการ ขณะที่อว.ส่งหนังสือถึงทุกมหาวิทยาลัยให้ตรวจสอบอาจารย์ในสังกัด พร้อมถกอธิการบดีหาแนวทางกันเกิดเหตุซ้ำ

ยังคงเป็นประเด็นฮอตต่อเนื่อง สำหรับกรณีนักวิชาการไทยในต่างประเทศ ที่ได้ออกมาแฉ นักวิชาการไทยซื้องานวิจัยออนไลน์เพื่อให้ได้ใส่ชื่อตัวเองเป็นผู้แต่งงานวิจัยโดยไม่ต้องทำจริง และเลือกได้ว่าอยากให้มีชื่อตัวเองอยู่ในงานไหน ซึ่งปรากฏว่ามีชื่อนักวิจัยไทยอยู่ในงานวิจัยประเภทนี้หลายสิบชิ้น เช่น งานวิจัยเรื่องวัสดุนาโน ชื่อผู้แต่งลำดับที่ 1 อาจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังทางภาคเหนือ และชื่อที่ 3 อาจารย์จากวิทยาลัยพยาบาลแห่งหนึ่ง 

ล่าสุด รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ว่าจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่ามีนักวิชาการไทยอย่างน้อย 6 คน ที่เข้าข่ายซื้องานวิจัย รายหนึ่งอยู่ในมหาวิทยาลัยชื่อดังในจังหวัดเชียงใหม่ อีกรายอยู่ในสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และที่เหลือเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนในกรุงเทพฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

หลักฐาน!! ชี้ชัด 6 นักวิชาการไทยซื้อผลงานวิชาการ ระบุซื้อปีละ 90 งาน

ผิดจริง! โทษทั้งจำทั้งปรับ "นักวิจัยไทย" ซื้อผลงานทางวิชาการใส่ชื่อตัวเอง

อธิการ มข. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบงานวิจัยทั้งหมด

จี้ มช. ตรวจสอบ ซื้อผลงานวิจัย ชี้ ทำลายชื่อเสียง-ศักดิ์ศรีสถาบัน

 

รู้รั่วทางจริยธรรม "ซื้องานวิจัย" ขอตำแหน่งวิชาการ 

ต่อมาวันที่ 11 ม.ค.2566 ที่ผ่านมา รศ.ดร.วีรชัย ได้ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Weerachai Phutdhawong ระบุว่า “ยัง ยังไม่จบ อธิการบดี 100 งานวิจัย 100 เปเปอร์ในปีเดียว อาจารย์อ๊อดขอคารวะและขอเข้าไปเป็นลูกศิษย์ครับ” 

ด้าน ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์  ผู้อำนวยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Siwatt Pongpiachan ระบุว่า รูรั่วทางจริยธรรมในการขอตำแหน่งวิชาการ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนมีการระบาดโควิด -19  ตนถูกเชิญให้ประเมินตำแหน่งศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับประเทศแห่งหนึ่ง ผลงานที่ยื่นขอดีมาก เนื้อหาลงลึกครอบคลุมและตีพิมพ์ในวารสารชั้นแนวหน้าระดับโลก แต่ปัญหามันอยู่ตรงที่

1. ตัวผู้ขอเป็นชื่อลำดับที่ 5 จากทั้งหมด 7 คน

2. อีก 6 คนที่เหลือเป็นชาวต่างชาติหมด

3. ตัวผู้ขอ ไม่ได้เป็นทั้งชื่อแรกและเป็น corresponding author แต่เคลมสัดส่วนถึง 50%!!

แม้กฎการขอตำแหน่งเก่า จะไม่ได้ระบุรายละเอียดความเป็น first author หรือ corresponding author แต่มันก็ไม่สง่างาม ตนจึงค้านประธานไปว่า ไม่สมควรให้ตำแหน่ง ศ เพราะ

1. ไม่ได้เป็นทั้งชื่อแรกและ corresponding author แต่เคลมสัดส่วน 50% ไม่สมเหตุสมผล แม้ว่าเกณฑ์เก่าจะไม่ได้ระบุไว้ก็ตาม สามัญสำนึกของวิญญูชนควรตัดสินได้ว่าอะไรถูกผิด

2. หกคนที่เหลือเป็นชาวต่างชาติหมด สัดส่วน % การมีส่วนร่วม มันมีประโยชน์อะไรกับพวกเขาเหล่านั้น?

3. ที่สำคัญตัวผู้ขอเป็นถึง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยด้วย วันๆมีแต่งานบริหารเอาเวลาที่ไหนมาเขียนเปเปอร์? เอาละท่านอาจจะเป็นโคตรอัจฉริยะ บริหารจัดการเวลาได้อย่างดีเยี่ยมก็ได้เราไม่ว่ากัน แต่มีข้อสงสัยว่า นี้คือ gift authorship หรือเปล่า?

 

 

เปิดโปงกระบวนการขอตำแหน่งวิชาการจากผลงานวิจัย

สำหรับท่านที่ยังสังสัยว่าอะไรคือ gift authorship คืออะไร มีตัวอย่างสักสองสามเคสมาให้ดู

1. อาจารย์ ก ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง รับอาจารย์จบใหม่ ข ซึ่งมีศักยภาพในการตีพิมพ์เข้ามาทำงาน เมื่อมีผลงานเกิดขึ้น ด้วยความเกรงใจ หรือด้วยความเคารพนับถือเป็นการส่วนตัวก็ตามแต่ จึงเกิดมีการนำชื่อของผู้มีอำนาจในองค์กรใส่ไว้ในผลงานตัวเอง

2. การไปใช้เครื่องไม้เครื่องมือ ที่ใดที่หนึ่งโดยมารยาท เมื่อมีการตีพิมพ์ก็มักจะใส่ชื่อของ ผอ ศูนย์นั้นเป็นการตอบแทน

กรณีของผู้บริหารระดับสูงท่านนี้ ตนคาดการณ์ว่าน่าจะมีการเกื้อกูลอะไรบางอย่างให้กับนักวิจัยต่างชาติซึ่งก็สมเหตุสมผลเพราะการจะมาทำวิจัยในประเทศไทยก็ต้องการ พาร์ทเนอร์ เพื่อคอยอำนวยความสะดวกทั้งในแง่กำลังคนและอุปกรณ์วิเคราะห์อยู่แล้ว

ส่วนตัวมองว่าผู้บริหารที่จะขอตำแหน่งทางวิชาการไม่สมควรขอผลงานวิจัยที่เข้าข่าย gift authorship หรือผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติในการมีชื่อในผลงานแต่ปรากฎชื่อในผลงาน มาขอตำแหน่งเพราะมันเป็นการเอาเปรียบอาจารย์ท่านอื่นที่ไม่ได้ตำแหน่งบริหาร

ทั้งทรัพยากรบุคคล และ research facilities มันเป็นเงินภาษีไม่ใช่เงินส่วนตัวของผู้บริหารท่านนั้นแต่อย่างใด

สุดท้ายประเด็นเรื่องข้อกังขาตรงนี้มี ศ ที่เห็นด้วยกับตนท่านหนึ่ง ก็ ค้านว่าไม่สง่างาม ประธานเลยขอให้โหวตและเป็นไปตามคาด ตำแหน่ง ศ ก็ตกเป็นของ ผอ สำนักวิจัยท่านนี้ด้วยคะแนนเฉียดฉิว 3:2

อว.ส่งหนังสือทุกมหาวิทยาลัยตรวจสอบอาจารย์ปมซื้องานวิจัย

ขณะที่ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นกระทรวงที่ต้องกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษา ทั้งหมด ได้ออกมีหนังสือด่วนถึงทุกมหาวิทยาลัยขอให้เร่งรัดดำเนินการตรวจสอบข้อมูลของบุคลากรในสังกัดอย่างใกล้ชิดตามแนวทางในการกำกับจริยธรรมการวิจัย การตีพิมพ์ผลงานวิจัย รวมทั้งการนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ และรายงานผลการตรวจสอบให้ทราบ โดยหากตรวจสอบแล้วพบว่ามีบุคลากรเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ให้มหาวิทยาลัยดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งรายงานผลเป็นระยะจนการดำเนินการถึงที่สุด

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  กล่าวว่าเหตุการณ์ที่กำลังเป็นข่าวนี้ ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของระบบอุดมศึกษาไทยเป็นอย่างมาก ทั้งที่การเกิดเหตุการณ์ที่ต้องสงสัยทุจริตดังกล่าวจะเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับนักวิจัยทั้งหมดของประเทศก็ตาม ขอย้ำว่า อว. ยังมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้นักวิจัยทำผลงานวิจัยและเผยแพร่ผลงานวิจัย เพื่อสร้างความเข้มแข็งของประเทศอย่างต่อเนื่องเช่นเดิม แต่จะให้ความสำคัญต่อการกำกับดูแลจริยธรรมการวิจัยและเผยแพร่ผลงานวิจัยให้เข้มงวดมากขึ้น 

“ขณะนี้ ตนได้สั่งการให้สำนักงานปลัดกระทรวง อว.  หารือกับอธิการบดีทุกมหาวิทยาลัยเป็นการเร่งด่วน เพื่อหาแนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก เพื่อให้สังคมเชื่อมั่นในระบบของมหาวิทยาลัยและผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัย” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไม่ได้มีเพียงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพียงแห่งเดียวที่ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงบุคลาหกรของมหาวิทยาลัยที่เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยอาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ ที่ปรากฎชื่ออยู่ในงานวิจัยเดียวกับของอาจารย์มช.โดยมีข้อสังเกต คือ งานวิจัยที่ทั้งสองคนได้ร่วมกันทำงานวิจัยเกี่ยวกับ 'วัสดุนาโน' ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับสาขาที่เรียนมา

ว่ากันว่า อาจารย์คณะพยาบาลท่านดังกล่าวได้ทำบันทึกข้อความชี้แจงไปยังคณบดีวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา โดยยืนยันว่า ตนได้ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมทีมในงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ผลงานอย่างแท้จริงทุกเรื่อง และไม่เคยกระทำและไม่มีส่วนรู้เห็นในการซื้อขายตำแหน่งผู้ร่วมทีมวิจัยมาก่อน และไม่เคยได้รับผลประโยชน์ใดๆ

ส่วนประเด็นผลงานพิมพ์ที่จำนวนหลายเรื่องในแต่ละปี มีการชี้แจงว่า เนื่องจากได้รับเชิญให้ทำหน้าที่บรรณาธิการวิชาการ ทำให้ได้รับการติดต่อขอความร่วมมือในการให้ความเห็นในเรื่องระเบียบวิธีการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล เนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอ (Manuscript) เพื่อตีพิมพ์บ้าง โดยทุกเรื่องได้มีการร่วมพิจารณารายงานการวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร ทำให้มีโอกาสมีชื่อร่วมตีพิมพ์ด้วย

อ้างอิง: สำนักข่าวอิศรา