สิทธิบัตรทอง "ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม" ฟรี  

สิทธิบัตรทอง "ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม" ฟรี  

ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมสิทธิบัตรทอง ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ฟรี!!  ไม่ต้องจ่ายค่าผ่าตัด 5-7 หมื่นบาทต่อข้อ ขณะที่คนไทยป่วยโรคนี้ราว 6 ล้านคน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคข้อเข่าเสื่อม พบผู้ป่วยจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มวัยกลางคนและผู้สูงอายุ ทั้งนี้ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นสิทธิประโยชน์ บัตรทอง 30 บาท เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเข้าถึงการรักษา และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และจากที่ผู้ป่วยและแพทย์ที่ทำการรักษา

ยืนยันว่าอุปกรณ์ข้อเข่าเทียมที่ สปสช.จัดหานั้นมีคุณภาพที่ดี เมื่อผ่าตัดแล้วสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ซึ่งผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าส่วนต่างหรือต้องจ่ายเงินเพิ่มแต่อย่างใด ทุกอย่างอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์

ไม่เพียง การสนับสนุนในส่วนค่าบริการผ่าตัดแล้ว สปสช.ได้มีการบริหารจัดการในรูปแบบการเบิกจ่ายอุปกรณ์ข้อเข่าเทียมที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงอุปกรณ์ข้อเข่าเทียมให้กับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่ามาอย่างต่อเนื่อง มีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ และสังกัดหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศร่วมให้บริการ 232 แห่ง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

จากข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2560 -2564 มี ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม ได้รับการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมทั้งกรณีผ่าตัด 1 ข้าง และ 2 ข้าง ภาพรวมเฉลี่ยผู้ป่วยรับบริการ 9,735 ครั้งต่อปี

  • ปี 2560 จำนวน 9,559 ครั้ง
  • ปี 2561 จำนวน 10,434 ครั้ง
  • ปี 2562 จำนวน 10,864 ครั้ง
  • ปี 2563 จำนวน 10,052 ครั้ง
  • ปี 2564 จำนวน 8,090 ครั้ง
  • ปี 2565 จำนวน 9,408 ครั้ง

 

ผู้ป่วยผ่าตัดข้อเข่าเทียม ฟรี

หนึ่งในผู้ที่ได้รับการผ่าตัดข้อเข่าเทียม ตามสิทธิบัตรทอง เกษม กันทะเนตร เกษตรกรทำนาตามฤดูกาล ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม วัย 59 ปี  อ.เชียงคำ จ.พะเยา ได้เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมผ่านสิทธิ บัตรทอง ที่โรงพยาบาลเชียงคำ ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในการเข้ารับการรักษา

เกษม เล่าว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาต้องประสบกับอาการปวดข้อเข่าทั้งสองข้างที่เป็นๆ หายๆ จากการเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และเมื่อปลายปี 2564 ความเจ็บปวดคุกคามอย่างหนักไปในทุกการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะนั่ง ลุก ยืน หรือเดิน ตลอดจนเข่ามีลักษณะโก่งผิดปกติ

เม.ย. 2565 อาการปวดรุนแรงจนไม่สามารถออกไปทำงานเต็มเวลาได้ดังเดิม จากที่เคยทำ 7 วัน ก็ลดลงเหลือเพียง 3-4 วัน ภายหลังไปรับการตรวจแพทย์ได้วินิจฉัยว่าสาเหตุที่ทำให้เข่าปวดมากขึ้น มาจากการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมร่วมด้วย จึงต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา โดยต้องผ่านทั้งหมด 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย

1. เข้ารับการตรวจ ประเมินโรค

2. การเอกซเรย์จุดที่ปวด

 3. ซักประวัติและโรคประจำตัว

4. ประเมินการรักษา หากรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การทานยา กายภาพบำบัด แต่อาการยังไม่ดีขึ้น จะได้รับการพิจารณาให้เข้าสู่กระบวนการผ่าตัด

หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเพียง 2 เดือนทำให้ สามารถกลับไปทำงานได้สะดวกดังเดิม คุณภาพชีวิตดีขึ้น เข่าข้างที่ผ่าตัดเวลาเดิน เวลาลุก เวลานั่งไม่รู้สึกปวด และวางแผนการผ่าตัดข้อเข่าอีกข้าง ในต้นปี 2566
 

ขั้นตอนผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม

นพ.ชวพล ชัยเมือง นายแพทย์ชำนาญการ และหัวหน้าหน่วยศัลยกรรมกระดูก โรงพยาบาลเชียงคำ ผู้ทำการผ่าตัดให้กับ เกษม อธิบายว่า ลุงเกษมได้รับการประเมินให้เข้ารับการผ่าตัด เพราะได้ใช้วิธีการรักษาด้วยการกินยา และการกายภาพแล้ว แต่ยังไม่ดีขึ้น รวมถึงผลเอกซเรย์ก็ชี้ชัดว่าข้อเข่าสึกค่อนข้างมาก

ระยะเวลาในการผ่าตัดรักษา รวมกระบวนการพักรักษาในโรงพยาบาลจะราวๆ 1 สัปดาห์ เพราะหลังการผ่าตัดจำเป็นต้องติดตาม และประเมินอาการอย่างใกล้ชิด เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์ กายภาพบำบัด ฯลฯ จากนั้นหลังจากผู้ป่วยสามารถกลับบ้านจะเป็นการติดตามอาการเป็นระยะตั้งแต่ 1-2 เดือน และ 3-6 เดือน

ความซับซ้อนในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าจะขึ้นอยู่พยาธิสภาพของข้อกระดูกว่ามีความตีบ และส่วนที่เป็นกระดูกเหลือมากน้อยขนาดไหน โดยสังเกตได้จากภายนอกหากผู้ป่วยรายใดเข่าโก่งจนไม่สามารถเหยียดเข่าได้สุดนั่นหมายความว่ารอยต่อของข้อเข่ามีความแคบมาก ซึ่งจะทำให้การผ่าตัดความยากมากขึ้น

“ช่วง 1 ปีจะมีผู้ป่วยเข้ามารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าค่อนข้างเยอะ ซึ่งที่โรงพยาบาลเชียงคำเองด้วยศักยภาพแพทย์ที่สามารถผ่าตัดได้ทั้งหมด 3 คน ได้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าไปกว่า 100 ข้อ จากจำนวนนี้กว่า 2 ใน 3 เป็นผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง” นพ.ชวพล กล่าว

 

ค่าเปลี่ยนข้อเข่าเทียม 5-7 หมื่นบาท         

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ในปี 2561 มีคนไทยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมสูงกว่า 6 ล้านคน และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะทุพพลภาพ

ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ซึ่งมีความเสี่ยงถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากเกิดความเสื่อมของร่างกาย เช่น กระดูกอ่อน น้ำไขข้อ ฯลฯ และจะยิ่งเสี่ยงมากขึ้นไปอีกในกรณีผู้ที่เป็นเกษตรกร หรือผู้ใช้แรงงานที่ต้องยกของหนัก

การผ่าตัดรักษาด้วยการเปลี่ยนข้อเข่าเทียมก็มีราคาที่ค่อนข้างสูง โดยอยู่ที่ 5-7 หมื่นบาทต่อหนึ่งข้อ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความกังวลที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจไม่รับการรักษา