รพ.ภูมิพลฯ ผ่าตัด "ข้อเข่าเทียม" ชูทีมสหวิชาชีพ ประเมิน แนะนำ ผ่าตัด ฟื้นฟู

รพ.ภูมิพลฯ ผ่าตัด "ข้อเข่าเทียม" ชูทีมสหวิชาชีพ ประเมิน แนะนำ ผ่าตัด ฟื้นฟู

สปสช. เยี่ยมชมการจัดบริการ "โรคข้อเข่าเสื่อม" และ การผ่าตัดเปลี่ยน "ข้อเข่าเทียม" ของ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ชี้จุดเด่นให้บริการด้วยทีมสหสาขาวิชาชีพ ครอบคลุมตั้งแต่การประเมินก่อนการผ่าตัด เตรียมความพร้อม และฟื้นฟูทำให้คนไข้กลับบ้านได้เร็วขึ้น

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ดร.ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 กรุงเทพมหานคร เดินทางไปที่ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา เพื่อเยี่ยมชมการให้บริการ โรคข้อเข่าเสื่อม การจัดอุปกรณ์และอวัยวะเทียม เพื่อใช้ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแก่ผู้ป่วย

 

ซึ่งบริการดังกล่าวเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพหรือ บัตรทอง โดยมี พล.อ.ต.หญิง อิศรญา สุขเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช และนาวาอากาศเอกธนา นรินทร์สรศักดิ์ ผู้อำนวยการกองออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช พร้อมคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ

 

พล.อ.ต.หญิง อิศรญา กล่าวถึงการจัดบริการโรคข้อเข่าเสื่อมของโรงพยาบาลภูมิพลฯ ว่า โรงพยาบาลไม่ได้แบ่งคนไข้ว่าเป็นสิทธิไหนแต่เน้นการประเมินทางคลินิกเป็นสำคัญ ถ้าเป็นผู้ที่มีอาการ ข้อเข่าเสื่อม ก็จะเข้ากระบวนการเดียวกัน โดยต้องมาประเมินความเสื่อมของข้อเข่าว่ามีอาการมากน้อยแค่ไหน ถ้าอาการรุนแรงเป็นปัญหาต่อการเดิน ก็จะเร่งกระบวนการผ่าตัดให้เร็วขึ้น แต่ถ้ายังพอรอได้ก็จะจัดการผ่าตัดตามคิวซึ่งจะใช้เวลารอประมาณ 3 เดือน

 

ทั้งนี้ ในกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยนั้น ไม่ได้มีแค่แพทย์ที่ทำการผ่าตัด แต่กระบวนการทั้งหมด จะร่วมทำงานกันเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ หลังผ่าตัดเสร็จแล้วจะมีวิสัญญีแพทย์คอยควบคุมความเจ็บปวดให้แก่คนไข้ด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่ประมาณ 1-2 วัน ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเดินได้ตั้งแต่วันแรกหลังผ่าตัด ทำให้สามารถกลับบ้านได้เร็ว 3-5 วัน

 

รพ.ภูมิพลฯ ผ่าตัด "ข้อเข่าเทียม" ชูทีมสหวิชาชีพ ประเมิน แนะนำ ผ่าตัด ฟื้นฟู

รวมทั้ง มีนักกายภาพบำบัดให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดว่าต้องทำอย่างไรบ้าง กระบวนการทั้งหมดนี้เพื่อทำให้คนไข้กลับบ้านเร็ว และโรงพยาบาลสามารถรับคนไข้รายใหม่ได้เร็วขึ้น

 

"การทำงานร่วมกับ สปสช. เป็นความร่วมมือระยะยาว สปสช. สนับสนุนเรื่องข้อเข่าเทียมต่างๆ โรงพยาบาลทำหน้าที่บริหารจัดการให้ผู้ป่วยได้สิ่งที่ดีที่สุด ถ้ามีข้อบ่งชี้ว่าจะต้องใช้ข้อเข่าเทียมชนิดใดก็จะใช้แบบนั้น" พล.อ.ต.หญิง อิศรญา กล่าว

 

ด้าน พญ.ลลิตยา กล่าวว่า การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นสิทธิประโยชน์ที่ สปสช. ดำเนินการมานานพอสมควร มีการให้สิทธิแก่ประชาชนที่มีปัญหา ข้อเข่าเสื่อม และจำเป็นต้องเปลี่ยนข้อเข่า ให้สามารถเข้าถึงการเปลี่ยนข้อเข่าได้ ซึ่งโดยปกติจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ถ้ามีอาการก่อนอายุ 55 ปี จะต้องมีกระบวนการประเมิน หากประเมินแล้วแพทย์เห็นว่าจำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนข้อเข่า ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์นี้เช่นกัน

 

รพ.ภูมิพลฯ ผ่าตัด "ข้อเข่าเทียม" ชูทีมสหวิชาชีพ ประเมิน แนะนำ ผ่าตัด ฟื้นฟู

เตรียมพร้อมตั้งแต่ก่อนผ่าตัด

 

พญ.ลลิตยา กล่าวอีกว่า แต่ละปี สปสช. เตรียม ข้อเข่าเทียม ประมาณ 1 แสนข้อ กระจายโควตาไปตามเขตต่างๆ โดยพื้นที่ที่มีการผ่าตัดมากคือใน กทม. และปริมณฑล ส่วนที่โรงพยาบาลภูมิพลฯ ก็ได้ให้บริการตามสิทธิประโยชน์ที่ สปสช. กำหนด และค่อนข้างครอบคลุมตั้งแต่การประเมินคนไข้ก่อนการผ่าตัด การให้คำแนะนำเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ป่วย และในการผ่าตัดก็มีทีมงานที่ไม่ได้มีเฉพาะหมอผ่าตัดข้อเข่า แต่มีทีมสนับสนุน เช่น วิสัญญีแพทย์ ทีมงานฟื้นฟู ฯลฯ เพื่อให้คนไข้เจ็บปวดน้อยที่สุด และฟื้นตัวได้เร็วที่สุดโดยคำนึงถึงประโยชน์ของคนไข้เป็นหลัก ทำให้มั่นใจว่าไม่ว่าคนไข้จะใช้สิทธิการรักษาอะไรก็จะเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม

 

ทั้งนี้ จากการเยี่ยมชมการจัดบริการในครั้งนี้ สปสช.ได้รับโจทย์จากแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เนื่องจากหลังจากผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแล้วจะมีระยะเวลาใช้งานประมาณ 10 ปี หลังจากนั้นอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนอีก แต่ตัวข้อเข่าเทียมที่ใช้ผ่าครั้งแรกกับครั้งที่ 2 จะไม่เหมือนกัน ดังนั้น สปสช. จะรับประเด็นนี้ไปพิจารณากำหนดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้โดยสะดวก และไม่เป็นภาระแก่โรงพยาบาล

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือ คลิก และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์