เวที APEC University Leaders’ Forum 2022 เตรียมพร้อมรับมือโรคระบาด

เวที APEC University Leaders’ Forum 2022 เตรียมพร้อมรับมือโรคระบาด

นายกฯเปิดงาน APEC University Leaders’ Forum 2022 เวทีการประชุมอภิปรายระดับสูงของผู้นำด้านการศึกษา "การเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดครั้งต่อไป" ย้ำการทำวิจัยชีวการแพทย์ การบำบัดโรค พัฒนาเทคโนโลยี พร้อมต่อการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ เป็นความจำเป็นเร่งด่วนทั่วโลก

“APEC University Leaders Forum 2022” เกิดจากความร่วมมือระหว่างสมาคมมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิกกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งสอดรับกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้ APEC

โดยเป็นโอกาสให้เครือข่ายการศึกษาทั่วโลกได้พัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในระดับนานาชาติ และเป็นเวทีในการแบ่งปันประสบการณ์ในมิติต่าง ๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่และอาจต้องเผชิญอีกในอนาคต

เวที APEC University Leaders’ Forum 2022 เตรียมพร้อมรับมือโรคระบาด

ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนนั้น เป็นพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันจากความท้าทายดังกล่าว อีกทั้งเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการฟื้นฟูและเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมั่นคงและยั่งยืน

วันนี้ (16 พ.ย.2565)ผู้นำธุรกิจ ผู้กำหนดนโยบาย และอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ใน The Association of Pacific Rim Universities หรือ APRU ซึ่งเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิก 60 แห่งจาก 19 เขตเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคเอเปก มาร่วมประชุมกันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในงาน APEC University Leaders' Forum (AULF) 2022 ภายใต้หัวข้อ “การเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดครั้งต่อไป”

ในฐานะที่เป็นเวทีคู่ขนานกับงานประชุม APEC CEO Summit 2022 ที่ได้รับการคัดเลือกให้จัดขึ้นในปีนี้ ณ ประเทศไทย เวทีการประชุมนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้นำระดับโลกมาร่วมกันวางแผนผ่านความร่วมมือระหว่างสถาบัน ข้ามทวีป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เปิดฉาก APEC ไทยดัน Bangkok Goals หนุนผู้นำเคาะเปิดเจรจา FTA ร่วมกัน

เอเปคการศึกษา มุ่งเป้ายกระดับคุณภาพการศึกษาที่ยั่งยืน รองรับงานโลกผันผวน

"เครือข่ายเอเปคแรงงาน" เล็งสร้าง"Smart Labour" ก้าวข้าม4 ข้อท้าทายงานอนาคต

"APEC 2022" ขยายลงทะเบียนเข้าพื้นที่ประชุมถึง 19 พ.ย. 65

 

ฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานเปิดงานการประชุมทางวิชาการ พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษว่า การเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทยในปีนี้ มุ่งผลักดันการสร้างความร่วมมือ ภายใต้แนวคิด Open. Connect. Balance. เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในยุคหลังโควิด-19

โดยในส่วนของเรื่อง Open เน้นการผลักดันให้เอเปคนำเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก มาหารือใหม่ เพื่อให้เอเปคสามารถรับมือกับความท้าทายและใช้โอกาสจากบริบทโลกแบบใหม่ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล การค้ากับโรคระบาด และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ขณะที่ Connect ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูความเชื่อมโยงของภูมิภาคในทุกมิติ ทั้งการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างสะดวกปลอดภัย และความเชื่อมโยงทางดิจิทัล เพื่อให้เอเปคมีแนวทางการรับมือกับวิกฤตโรคระบาดในอนาคต โดยยังสามารถรักษาการเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากที่สุด

เวที APEC University Leaders’ Forum 2022 เตรียมพร้อมรับมือโรคระบาด

ส่วน Balance เน้นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม โดยส่งเสริมโมเดลธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่สร้างผลกำไรควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกันทั้งสังคม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“ผลลัพธ์สำคัญของการเป็นเจ้าภาพเอเปคในครั้งนี้ คือ ไทยจะเสนอให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปครับรองเอกสาร เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG เพื่อนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ของไทยมาเร่งกระบวนการทำงานในเอเปค และวางบรรทัดฐานใหม่ให้เอเปคมุ่งเน้นการสร้างเสริมการค้าการลงทุนควบคู่ไปกับการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน” นายกรัฐมนตรี กล่าว

 

จำเป็นต้องทำวิจัยชีวการแพทย์ การบำบัดโรคอุบัติใหม่

ทั้งนี้ สำหรับการประชุมในครั้งนี้ที่นอกจากจะให้ความสำคัญกับด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังขยายความสำคัญไปถึงการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยเพื่อยกระดับองค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนาสังคมและสร้างความปลอดภัยในชีวิตให้แก่ประชาชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่าเชื่อว่าขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ ผู้วางนโยบาย และผู้นำธุรกิจจะได้มาร่วมมือกันสร้างสรรค์นโยบาย ออกแบบทิศทางและแผนการบริหารประเทศที่สอดรับกับวิถีความปกติใหม่ของโลก โดยเฉพาะความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ที่แม้ว่าเราจะก้าวผ่านการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 มาแล้ว แต่องค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุขยังต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ความจำเป็นเร่งด่วนของทั่วโลกในขณะนี้คือการทำวิจัยที่เกี่ยวกับชีวการแพทย์ การบำบัดโรค และการพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ที่พร้อมต่อการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการนำงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดผลเป็นรูปธรรมสำหรับประชาชนอย่างทั่วถึง”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ความถูกต้องของข้อมูล แก้วิกฤตสาธารณสุข

จากวิกฤตสาธารณสุขที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า “ความถูกต้องของข้อมูลและการเผยแพร่/รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง” เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการบริหารสถานการณ์วิกฤตของรัฐบาล การเผยแพร่ข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน ต้องอาศัยความถูกต้องทางวิชาการ ทั้งจากการศึกษา ค้นคว้า

ภาคการศึกษา มหาวิทยาลัย นักวิชาการ เป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องแก่สังคม เพื่อขจัดข้อมูลเท็จ โฆษณาชวนเชื่อ และข่าวปลอมที่แพร่กระจายและเป็นภัยอยู่ในสังคม ยกตัวอย่างเช่นในช่วงต้นของการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ที่ประชาชนบางส่วนมีความกังวลใจเกี่ยวกับผลค้างเคียงของวัคซีนจากข้อมูลข่าวสารที่อาจไม่ถูกต้อง แต่ในภายหลัง ความหวาดกลัวได้คลายลงเมื่อข้อมูลทางวิชาการที่เชื่อถือได้เริ่มปรากฏออกมามากขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดได้อย่างน่าพอใจ

ไทยผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดจากความร่วมมือกัน

ในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนนี้ การสร้างความร่วมมือระหว่างกันเป็นหัวใจสำคัญในการนำพาประเทศให้ก้าวผ่านวิกฤตไปได้ โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลก และนานาประเทศถึงนโยบายและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการดูแลประชาชน ทั้งการป้องกัน การควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

ด้วยความสำเร็จนี้ องค์การอนามัยโลกได้เลือกให้ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบในโครงการนำร่อง การทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นความภาคภูมิใจที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา ทั้งสถาบันการศึกษาและศูนย์วิจัยต่าง ๆ ตลอดจนอาสาสมัครและประชาชนทุกคน

ทั้งนี้ รวมถึงความมุ่งมั่นในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี ยารักษาโรค วัคซีน และเครื่องมือทางการแพทย์กับประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องด้วย

“ผมขอชื่นชมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาคการศึกษาทั้งหมดที่ได้ร่วมมือกับ ศบค. ในการช่วยเหลือประเทศภายใต้รูปแบบนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยได้นำผลการศึกษาวิจัยมาพัฒนาให้สามารถใช้งานได้จริง และนำมาช่วยเหลือสังคมในช่วงวิกฤต  เช่น CU-RoboCOVID ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ให้การสนับสนุนด้านการแพทย์ภายในโรงพยาบาลสนาม และ Chula COVID-19 Strip Test  รวมถึงนวัตกรรมการรักษาวัคซีนใบยา ที่เป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ที่ทางมหาวิทยาลัยพัฒนาขึ้น” นายกรัฐมนตรี กล่าว

โดยนวัตกรรมต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกิดขึ้นจากการร่วมมือพัฒนาของนักวิชาการและนักวิจัยสหสาขา ในขณะเดียวกันเรายังมีผลงานยอดเยี่ยมของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หลายแห่ง ที่สามารถพัฒนาชุดตรวจ และการตรวจชนิดที่ทันเหตุการณ์ หรือการตรวจทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่กำลังระบาด อีกด้วย

เตรียมพร้อมนโยบายวางรากฐานระบบหลักประกันสุขภาพ

จากการทบทวนบทเรียนการรับมือสภาวะฉุกเฉินในการระบาดของโรคโควิด-19 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการรับมือกับโรค คือ นโยบายในการวางรากฐานระบบหลักประกันสุขภาพ และความพร้อมของเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสาธารณสุขกับนานาประเทศ รวมไปถึงองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยี การค้นคว้า วิจัย และการใช้นวัตกรรมดิจิทัลทางการแพทย์

 รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาและยกระดับศักยภาพของบุคลากรให้มีความสามารถสูงขึ้นและมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยใช้งาน

การประชุมเชิงวิชาการในวันนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อหารือแนวทางการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ โดยการศึกษาและการวิจัยร่วมกันจะช่วยให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติ โดยมีเทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นรากฐานสำคัญ นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของทุกประเทศในภูมิภาคอย่างสมดุลและยั่งยืน

ย้ำรับมือวิกฤตโรคอุบัติใหม่ต้องสร้างแลกเปลี่ยนร่วมกัน

ศ.ยีน ดี บล็อก ประธาน APRU  และอธิการบดี University of California, Los Angeles (UCLA) กล่าวว่า นับเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้นำด้านวิชาการ ธุรกิจ และการเมือง มาประชุมกันที่ AULF 2022 เพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีการสร้างโลกในอนาคตที่แข็งแกร่ง  มีไหวพริบในแก้ปัญหาและยืดหยุ่นมากขึ้น

โดยเวทีการประชุม APRU APEC University Leaders' Forum 2022 ครั้งนี้ จะเป็นการนำแนวคิดหลักเกี่ยวกับโลกซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาเกือบ 3 ปีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึงเป็นแบ่งปันมุมมอง กลยุทธ์ และเทคโนโลยีที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับโรคระบาดใหญ่

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรู้สึกยินดีที่ได้รวมผู้นำทางความคิดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมาเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพลเมืองทั่วโลก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชื่อในพลังความร่วมมือและมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับสถาบันอื่น เครือข่าย APRU และผู้นำ เพื่อที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายร่วมกัน

สร้างชุมชน แก้วิกฤตสุขภาพระดับโลก

ศ.ร็อกกี้ เอส ตวน รองประธาน APRU และอธิการบดี The Chinese University of Hong Kong กล่าวเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือด้านการวิจัย ชีวการแพทย์ในเอเชียแปซิฟิกและอื่น ๆ ว่าแม้ประเทศส่วนใหญ่ในโลกจะพ้นจากเงามืดของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แล้ว แต่ประสบการณ์ร่วมกันของพวกเราในช่วงสามปีที่ผ่านมาทำให้พวกเราเห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกันเป็นทีม ระหว่างภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาควิชาการ กลุ่ม NGO และชุมชนในยามที่ต้องหาทางจัดการกับวิกฤตสุขภาพระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการค้นคว้าวิจัย การผลิต การรวมตัวกัน และการแจกจ่ายทรัพยากรทางชีวการแพทย์และการรักษาโรค

ศ.เดโบราห์ เทอร์รี่ อธิการบดี The University of Queensland ประเทศออสเตรเลีย กล่าวถึงความสำคัญของการประเมินปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมไปพร้อม ๆ กับกำหนดกลยุทธ์สำหรับอนาคต ว่า เอเชียแปซิฟิกเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก การประเมินบทบาทของบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในชุมชนต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเผชิญกับภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ทั่วโลก เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างหลักประกันว่าพวกเราสามารถวางแผนสำหรับอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม ยุติธรรม และครอบคลุม

ศ.ดอห์น เฟรชวอเทอร์ รองอธิการบดี The University of Auckland ประเทศนิวซีแลนด์ กล่าวถึงประเด็นเรื่อง "Infodemic" ว่า  โลกของพวกเรานั้นเชื่อมต่อกันมากขึ้นกว่าเดิมในยุคดิจิทัลนี้ ข้อมูลจะถูกส่งต่อและแบ่งปันภายในเศษเสี้ยววินาทีข้ามพรมแดน ภาษา และความเชื่อ การต่อสู้กับข้อมูลที่ผิดและถูกบิดเบือนจะมีความสำคัญในการดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ ในบริบทนี้ ความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการบรรลุเป้าหมาย