สภาธุรกิจเอเปค เตรียมชง 5 ประเด็น เวทีผู้นำเอเปค

สภาธุรกิจเอเปค เตรียมชง  5 ประเด็น เวทีผู้นำเอเปค

สภาธุรกิจเอเปค เตรียมเสนอผู้นำเอเปค 5 ประเด็นดันข้อตกลงเอฟทีเอ เร่งโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล หนุนธุรกิจรายเล็ก เผยเวที ซีอีโอซัมมิท นำเสนอแนวคิดนักธุรกิจ 21 เขตเศรษฐกิจ ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) เปิดเผยว่า สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการประชุม APEC ในเดือน พ.ย.2565 โดยได้มีการหารือกับอย่างต่อเนื่อง เพื่อสรุปประเด็นที่ให้ภาคเอกชนได้มีโอกาสทางธุรกิจทุกด้าน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยหรือเอสเอ็มอี

นอกจากนี้ ทั้งนี้ สำหรับการประชุม ABAC ในปี 2565 จะเน้น 5 ประเด็นที่จะเสนอเวทีผู้นำ คือ 1.การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค 2.ด้านดิจิทัล 3.ด้าน MSMEs และการมีส่วนร่วม 4.ด้านความยั่งยืน 5.ด้านเศรษฐกิจและการเงิน

ทั้งนี้ ABAC ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำส่งรายงานประจำปี 2565 ที่รวบรวมข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน โดยมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการจัดการเงินเฟ้อ การขจัดความไม่มั่นคงทางอาหารและพลังงาน การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม การบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคของ APEC

รวมถึงการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการฟื้นตัวและการเจริญเติบโต ผ่านการสนับสนุน MSMEs โดยเฉพาะธุรกิจที่ผู้หญิงและคนท้องถิ่นเป็นเจ้าของ รวมถึงการพัฒนาและนำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมาใช้

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมเอเปค (APEC) มีแนวคิดหลัก คือ OPEN–CONNECT–BALANCE หรือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” สะท้อนให้เห็นถึงการรวมตัวของทุกภาคส่วนทางธุรกิจในทุกระดับเพื่อสร้างสรรค์เศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยผลักดันแนวคิด BCG Economy Model เป็นวาระแห่งชาติ ทั้งนี้ เอกชนไทยเสริมการจัดงานของภาครัฐ ด้วยการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม ‘APEC CEO Summit 2022’ ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 16-18 พ.ค. 2565 ภายใต้ 3 แนวคิดหลัก คือ “EMBRACE ENGAGE ENABLE” 

สภาธุรกิจเอเปค เตรียมชง  5 ประเด็น เวทีผู้นำเอเปค

การเป็นเจ้าภาพในปีนี้ นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญทางเศรษฐกิจไทย เป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้เชื่อมโยงเศรษฐกิจกับนานาชาติ จะช่วยให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ได้รับโอกาส ที่เชื่อมกับประเทศในกลุ่ม APEC ตรงนี้เพิ่ม เพราะเป็นการรวมตัวสุดยอด CEO ผู้นำเอเปค ผู้กำหนดนโยบาย และผู้นำทางความคิดระดับภูมิภาคและระดับโลกจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการค้าและเศรษฐกิจ ตลอดจนการแสวงหาแนวทางในการแก้ไขประเด็นที่สำคัญ และการจัดการกับความท้าทายที่ธุรกิจต่าง ๆ ที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั้งโลกกำลังเผชิญ

นอกจากนั้น ยังเป็นโอกาสในการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้ทั่วโลกได้เห็นศักยภาพในด้านต่าง ๆ ซึ่งช่วยส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพิ่มตัวเลขภาคการท่องเที่ยว รวมไปถึงกระตุ้นการค้าและการส่งออก แน่นอนว่า การเข้ามาร่วมประชุมของนักธุรกิจต่างชาติ จะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของบ้านเราเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงเหวี่ยงที่สำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

นอกจากจะหารือเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ยังมีการหารือกันในเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชนอีกด้วย เช่น สาธารณสุข BCG และการรับมือกับภาวะโลกร้อน เป็นต้น ก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาล ทั้งต่อภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

นายสนั่น กล่าวว่า การที่ไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม APEC CEO SUMMIT 2022 ในปีนี้ จะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยและคนไทยหลายประการ ทั้งในเรื่องของการต่อยอดทางการค้า (Trade) และกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยว (Travel) โดยภาคเอกชนเห็นว่า สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้ คือ การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน Competitiveness โดยเฉพาะการเข้าไปช่วยยกระดับ SME ให้มีความเข้มแข็งและแข่งขันได้ ด้วยการนำเอา Digital Transformation มาช่วยบริหารจัดการ เพิ่มโอกาสให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวก ส่วนนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วขึ้น

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เชื่อมโยงโลกได้ จะทำให้ความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของเรายกระดับขึ้น ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน นอกจากนั้น เรายังเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน เพราะคนรุ่นใหม่นี้ เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ ความสามารถ ที่จะช่วยยกระดับประเทศไทยให้แข่งขันกับนานาประเทศได้ในอนาคต

ดังนั้น การยกระดับความสามารถในการแข่งขันจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก โดยหอการค้าไทยมองว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์จะเป็นตัวดึงดูดนักลงทุน ตลอดจนกลุ่ม Talent ต่าง ๆ จากทั่วโลก มาทำงานและพักอาศัยระยะยาวในไทย ดังนั้น ต้องปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน มาตรการจูงใจทางด้านภาษี และปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาฯ ให้อำนวยความสะดวกให้นักลงทุนมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากเม็ดเงินในการลงทุนแล้ว ยังทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการจ้างงานในพื้นที่จำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลให้ไทยเป็น Reginal Hub ต่อไป

ทั้งนี้ เราสามารถใช้จุดแข็งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยเฉพาะ 5G ที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั่วประเทศ สร้างความได้เปรียบ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ นอกจากนั้น พื้นที่ EEC ก็เป็นต้นแบบที่ดีที่จะขยายไปยังระเบียงเศรษฐกิจแห่งใหม่ ๆ ทั้งระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (NEC) ภาคอีสาน (NeEC) ภาคกลาง-ตะวันตก (CWEC) และภาคใต้ (SEC) 

นายสนั่น กล่าวว่า ในส่วนของการประชุมภาคเอกชน จะจัดในนาม สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) โดยทำหน้าที่ร่วมหารือและแลกเปลี่ยนมุมมองด้านธุรกิจ และความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อพัฒนาบทสรุปคำแนะนำประจำปีที่จะยื่นเสนอต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค โดย ABAC Thailand ประกอบด้วยสมาชิกภาคเอกชนไทย จากผู้แทนของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดยข้อเสนอที่ ABAC เตรียมเสนอให้กับผู้นำ APEC ประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก ดังนี้

1. Regional Economic Integration: ส้นทางสู่เขตการค้าเสรีของเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการค้าภาคบริการ โดย FTAAP ควรตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจระดับโลกที่ค่อย ๆ พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป ในขณะเดียวกัน นวัตกรรมจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตในภูมิภาค โดยเฉพาะในภาคบริการ ซึ่งจะต้องผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมนวัตกรรม ในด้านบริการดิจิทัลที่สนับสนุนอีคอมเมิร์ซ บริการทางโลจิสติกส์ บริการด้านสุขภาพ และบริการด้านสิ่งแวดล้อม

2. การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์และดิจิทัล เพราะถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เป็นการปกป้องความก้าวหน้าและนวัตกรรมต่าง ๆ จึงขอเรียกร้องให้เอเปคสร้างแพลตฟอร์มในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับภูมิภาค ที่จะประสานการดำเนินการและการลงทุนด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ร่วมกัน

3. การเสริมสร้างแนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืนของ MSMEs สนับสนุนการเติบโตนี้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้กรอบการทำงานและการค้าระดับโลก ซึ่งหมายรวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง การบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่คุณค่า และการสนับสนุนมาตรการนี้ให้เป็นสากล

4. Sustainability ส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น เนื่องจากผู้ผลิตและผู้บริโภคในภูมิภาคกำลังได้รับผลกระทบอย่างมากจากราคาอาหารโลกที่พุ่งสูงขึ้น จึงต้องเร่งดำเนินการ “แผนงานความมั่นคงด้านอาหารของ APEC สู่ปี 2030” มีการการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต การจำหน่ายและการค้า ตลอดจนการนำ Bio-Circular-Green (BCG) มาปรับใช้

5. Finance and Economics การดำเนินการตามมาตรการเศรษฐกิจมหภาค การคลัง และการเงิน เพื่อเร่งการฟื้นตัว และการปฏิรูปโครงสร้างหลัก เพื่อเพิ่มผลผลิตและการเติบโต โดยจะต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ และนโยบายทางการเงินด้านอัตราค่าจ้างแรงงาน ทั้งนี้ ในระยะยาว รัฐบาลควรปฏิบัติตามสองเป้าหมาย คือการการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง และการใช้เครื่องมือทางการเงิน เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างในการพัฒนาสู่ระบบดิจิทัล และความยั่งยืนอย่างครอบคลุม

สำหรับเวทีซีอีโอซัมมิทในปีนี้ จะมีผู้นำทางความคิด บุคคลผู้มีชื่อเสียงทางเศรษฐกิจและธุรกิจ 21 ประเทศมาร่วมงาน จากภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งจะมีผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค มากกว่า 10 ประเทศ ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อต่าง ๆ ที่กำลังเป็นประเด็นที่น่าสนใจ โดยผู้นำท่านต่าง ๆ ได้ทยอยตอบรับเข้าร่วมงานแล้ว ทั้งนี้ ผู้นำและวิทยากรที่ได้รับการเรียนเชิญ ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางเศรษฐกิจของโลกทั้งสิ้น จึงเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยทุกคนจะได้รับรู้การเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก

โดยหัวข้อการสัมมนาจะมีหลากหลายประเด็น ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของทุกคน อาทิ เศรษฐกิจโลกและอนาคตของความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก, นวัตกรรมแนวหน้าในอนาคต, อนาคตของการค้าและการลงทุน, การสร้างเศรษฐกิจ ธุรกิจ และสังคม ที่ยั่งยืน, สุขภาพภายหลังการเกิดโรคระบาด, การสร้างความเท่าเทียมทางเพศเพื่อผลักดันการเติบโต, ยุทธศาสตร์ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ความท้าทายเรื่องความมั่นคงด้านอาหารของโลก, ความมั่นคงด้านพลังงาน, การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล เป็นต้น