"โรค RSV" โคราชพบเด็กติดเชื้อพุ่ง หมอชี้น่าห่วงรุนแรงในเด็กมีโรคประจำตัว

"โรค RSV" โคราชพบเด็กติดเชื้อพุ่ง หมอชี้น่าห่วงรุนแรงในเด็กมีโรคประจำตัว

โคราชพบเด็กติดเชื้อไวรัส "โรค RSV" สูงขึ้น หมอชี้น่าห่วงพบอาการรุนแรงในกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัว ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากโรงเรียน

ตามที่ นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กไปเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ถึงกรณี "โรค RSV" โดยระบุว่า

 

"สุดยื้อ RSV เสียชีวิตแล้ว 1 คน เป็นการเปิดเกมในฤดูระบาดในเมืองโคราชที่โหดมาก กลุ่มที่มีโรคประจำตัวอย่างเช่นเคสนี้ มีความเสี่ยงสูงที่จะอาการรุนแรงมาก ถ้าไม่หยุดการระบาดนี้ เคสที่ 2, 3, 4 ตามมาแน่นอน เพราะเรามีเด็กที่มีโรคประจำตัวหลายอย่าง รักษาอยู่เป็นจำนวนมาก และกลุ่มนี้ก็ได้รับผลกระทบโดยตรง"

 

 

ล่าสุดวันนี้(14 กันยายน 2565) นพ.จิรรุจน์ ชมเชย ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงกรณี "โรค RSV" ว่า ขณะนี้พบอัตราการป่วยของโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจในเด็กเพิ่มมากขึ้น และในกลุ่มนี้ ส่วนหนึ่งมีการตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัส RSV ซึ่งในส่วนของผู้ป่วยเด็กที่มีอาการหนักอยู่ไอซียูที่ตนดูแลอยู่ จะมีเด็กที่ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เฉลี่ยอย่างน้อยคืนละ 1 คน และบางคืนก็มี 2-3 คน

 

ซึ่งเริ่มพบการระบาดของโรคเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่มีอาการรุนแรงมากนัก จนในสัปดาห์นี้เริ่มมีอาการหนักมากขึ้น โดยเฉพาะในเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจอยู่เดิม โรคหัวใจชนิดรุนแรง โรคระบบประสาท หรือโรคทางพันธุกรรม ที่ทำให้ระบบทางเดินหายใจไม่ดี ซึ่งในกลุ่มนี้มีโอกาสที่ระบบทางเดินหายใจจะล้มเหลวได้

 

ส่วนเคสผู้ป่วยเด็กที่เสียชีวิตตามที่เคยโพสต์ในโซเชียลไปนั้น จะเป็นเด็กที่มีอาการดาวน์ซินโดรม แล้วไปติดเชื้อไวรัส RSV มา จนอาการรุนแรง ต่อมาจึงได้เสียชีวิตลง

 

 

นพ.จิรรุจน์ ระบุต่อว่า ปัจจัยที่ทำให้มีผู้ป่วยเด็กติดเชื้อ RSV ค่อนข้างมากในช่วงนี้ น่าจะมาจากหลายปัจจัยทั้งจากสภาพอากาศช่วงหน้าฝน และการเปิดเรียน เพราะมาตรการป้องกันโรคตอนนี้ จะเป็นการตรวจ ATK หรือ RT-PCR หาเชื้อโควิด-19 ซึ่งเด็กบางรายติดเชื้อ RSV มาโดยไม่รู้ตัว และเมื่อตรวจ ATK เป็นลบ เด็กก็ยังสามารถไปโรงเรียนได้ ก็นำเชื้อ RSVไปแพร่กระจายต่อให้กับเพื่อน ๆ ในโรงเรียน และเมื่อเพื่อนได้รับเชื้อแล้วกลับไปบ้านก็จะนำเชื้อไปแพร่ต่อในครอบครัวและชุมชน ซึ่งเป็นรูปแบบการระบาดจะเหมือนกับโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ที่มักจะพบผู้ป่วยเด็กจำนวนมากในช่วงเปิดภาคเรียน และเมื่อปิดภาคเรียนอัตราผู้ป่วยก็จะลดลง

 

แต่ทั้งนี้ โรค RSV ยังไม่ได้มีการจัดเก็บตัวเลขข้อมูลผู้ป่วยเอาไว้เหมือนโควิด-19 ฉะนั้นจำนวนผู้ป่วยที่ปรากฏจะมาจากการตรวจพบที่หน้างานมากกว่า โดยรายงานจาก OPD รพ.รัฐ และ รพ.เอกชน ในจ.นครราชสีมา จะพบผู้เด็กป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และติดเชื้อ RSV เพิ่มมากขึ้น และยังพบเคสผู้ป่วยหนักใน ICU ติดเชื้อ RSV เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ต้องใส่ท่อช่วยหายใจกันแทบทุกรายในแต่ละวัน จึงน่าจะสะท้อนให้เห็นภาพได้ว่าเริ่มมีการระบาดที่รุนแรงมากขึ้น

 

ทั้งนี้ เชื้อ RSV จะเป็นคนละตัวกับเชื้อไข้หวัดใหญ่ แต่วิธีการติดเชื้อเป็นรูปแบบเดียวกันคือ หายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อไวรัสเข้าไปในร่างกาย เหมือนกับโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้แหล่งที่ตรวจพบเชื้อก็มาจากที่แหล่งเดียวกัน ซึ่งไข้หวัดใหญ่จะมีวัคซีนและยารักษา แต่ RSV ยังไม่มีวัคซีนและยารักษา จึงต้องอาศัยการป้องกันดูแลตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ

 

สำหรับแนวทางการรับมือโรค RSV ในส่วนของไอซียูเด็ก รพ.มหาราชนครราชสีมา ซึ่งตนดูแลอยู่ ตอนนี้ได้มีการเคลียร์เตียงเอาไว้แล้วเพื่อรองรับผู้ป่วยหนักที่มีอาการวิกฤติให้เพียงพอรองรับผู้ป่วยหนักในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา เพราะจะมีการส่งตัวผู้ป่วยหนักจาก รพ.ประจำอำเภอ เข้ามาที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา ด้วยไม่ว่าจะมีการระบาดเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม

 

ในขณะที่ทีมระบาดและทีมควบคุมโรคได้รับทราบสถานการณ์ และลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบเพื่อดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ประชาชนยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัส RSV กันน้อย ดังนั้น อสม.ต้องเร่งลงไปให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้แก่ประชาชนในชุมชน เพื่อจะได้ดูแลป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ RSV หรือโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ

 

ส่วนครอบครัวที่มีเด็กเล็กต่ำกว่า 1 ขวบ แต่ต้องอยู่ร่วมกับเด็กโต ขอให้แบ่งพื้นที่ดูแลให้ชัดเจน และต้องแยกพื้นที่ให้ได้ในกรณีที่เด็กโตเริ่มมีอาการป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และให้สังเกตอาการป่วยของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากอาการรุนแรง มีหอบเหนื่อยร่วมด้วย ก็ให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อให้การรักษาโดยด่วน

 

และสำหรับทางโรงเรียนก็ต้องตระหนักด้วยว่าช่วงนี้มีการระบาดของเชื้อไวรัส RSV ดังนั้นจะต้องเร่งให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนด้วย และให้ป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ ให้สะอาด และฉีดพ่นฆ่าเชื้ออุปกรณ์และพื้นที่ให้ปลอดเชื้อ รวมถึงหากพบการระบาดรุนแรงในชั้นเรียนก็ให้จัดการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ ก็จะช่วยลดการระบาดลงได้

 

ข่าวโดย ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ จ.นครราชสีมา