นักวิจัยเผย แคะจมูก-ถอนขนจมูก อาจเกี่ยวข้องกับ "อัลไซเมอร์"

นักวิจัยเผย แคะจมูก-ถอนขนจมูก อาจเกี่ยวข้องกับ "อัลไซเมอร์"

ข้อค้นพบใหม่สาเหตุ "อัลไซเมอร์" นักวิจัยออสเตรเลียค้นพบ แคะจมูก-ถอนขนจมูกบ่อยๆ โพรงจมูกอาจเสียหายจนติดเชื้อจากแบคทีเรียและบุกรุกเข้าสมองได้โดยตรง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการเกิด "โรคอัลไซเมอร์"

โลกอาจค้นพบสาเหตุการเกิด “อัลไซเมอร์” เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ (Griffith University) ประเทศออสเตรเลีย ได้แสดงผลการศึกษาที่ค้นพบว่า แบคทีเรียสามารถเดินทางผ่านเส้นประสาทรับกลิ่นในจมูกและเข้าไปในสมองของ “หนูทดลอง” ได้ ซึ่งจะสร้างสารโปรตีนชนิดหนึ่งขึ้นมาในสมอง ที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเป็น “โรคอัลไซเมอร์

แต่ทั้งนี้ เรื่องนี้ยังเป็นเพียงการศึกษาในห้องทดลองกับหนูทดลองเท่านั้น ขณะที่แพทย์หลายคนออกมาแชร์ในโลกออนไลน์ว่า “โรคอัลไซเมอร์” ยังไม่มีการค้นพบสาเหตุการเกิดโรคที่แท้จริง และผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็มีปัจจัยร่วมหลายอย่างที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ เช่น พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-บุหรี่, พันธุกรรม, โรคหลอดเลือดสมอง, เนื้องอกสมอง, ความดันโลหิตสูง ฯลฯ  เป็นต้น

นักวิจัยเผย แคะจมูก-ถอนขนจมูก อาจเกี่ยวข้องกับ \"อัลไซเมอร์\"

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของงานวิจัยชิ้นนี้ที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจและมีข้อค้นพบว่า เชื้อแบคทีเรีย “Chlamydia pneumoniae” (แบคทีเรียก่อโรคปอดอักเสบ/ปอดบวมในมนุษย์) สามารถแพร่กระจายเข้าไปโพรงจมูกและบุกรุกเข้าสู่สมองและระบบประสาทส่วนกลางได้ หากโพรงจมูกเกิดการเสียหายจนทำให้ติดเชื้อและเดินทางเข้าสู่สมองได้ง่าย 

เมื่อแบคทีเรียชนิดนี้บุกไปถึงเซลล์สมองได้ เซลล์สมองก็จะตอบโต้ (ต่อสู้กับแบคทีเรีย) ด้วยการสร้างโปรตีนเบต้าอะไมลอยด์ (amyloid-beta plaque) ขึ้นมา มีลักษณะเป็นคราบโปรตีนสะสมในสมอง ซึ่งโปรตีนดังกล่าวเป็นจุดเด่นที่บ่งชี้ถึงการเกิดโรค “อัลไซเมอร์”

นักวิจัยรายงานด้วยว่า ผู้ป่วยสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ระยะท้าย ๆ มักจะมีร่องรอยของเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวอยู่ในสมอง ทั้งยังปรากฏคราบโปรตีนเบตาอะไมลอยด์ (amyloid-beta plaque) สะสมตัวอยู่อย่างหนาแน่น

นักวิจัยเผย แคะจมูก-ถอนขนจมูก อาจเกี่ยวข้องกับ \"อัลไซเมอร์\"

ศาสตราจารย์เจมส์ เซนต์ จอห์น หัวหน้าศูนย์ Clem Jones Center for Neurobiology and Stem Cell Research ซึ่งเป็นผู้ร่วมวิจัยชิ้นนี้ เปิดเผยว่า

“ทีมวิจัยของเราเป็นทีมแรกที่พบว่า Chlamydia pneumoniae สามารถแพร่ขึ้นไปทางโพรงจมูกและเข้าไปในสมองได้โดยตรง ซึ่งมันสามารถทำให้เกิดโรคที่ดูเหมือนโรคอัลไซเมอร์ได้ และเราเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นในตัวอย่างจากหนูทดลอง และอาจน่ากลัวสำหรับมนุษย์เช่นกัน”

ทั้งนี้ หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อนว่า เส้นประสาทรับกลิ่นในจมูกของคนเรานั้น สามารถสัมผัสกับอากาศโดยตรง หากโพรงจมูกเกิดการเสียหาย และพอเราสูดเอาเชื้อโรคเข้าไป เชื้อโรคก็จะแพร่ขยายและเดินทางสู่สมองได้ง่าย ล่าสุด..ทีมวิจัยตั้งเป้าว่าจะศึกษาวิจัยเรื่องนี้ต่อเนื่องเพื่อพิสูจน์สมมติฐานเดียวกันนี้ในมนุษย์ด้วย

“เราจำเป็นต้องทำการศึกษาในมนุษย์และยืนยันว่าเส้นทางเดียวกันทำงานในลักษณะเดียวกันหรือไม่ เป็นงานวิจัยที่หลายคนเสนอ ซึ่งอยู่ในขั้นการศึกษาและยังไม่เสร็จสิ้น สิ่งที่เราตอนนี้รู้ก็คือแบคทีเรียชนิดเดียวกันนี้มีอยู่ในมนุษย์”

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เซนต์ จอห์น แนะนำว่า หากพวกเขาต้องการลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ที่เริ่มมีอาการในระยะหลัง ก็ไม่ควรแคะจมูกหรือถอนขนจมูก

นักวิจัยเผย แคะจมูก-ถอนขนจมูก อาจเกี่ยวข้องกับ \"อัลไซเมอร์\"

“การแคะจมูกและถอนขนออกจากจมูกไม่ใช่ความคิดที่ดี เพราะมีส่วนทำให้เยื่อบุจมูกเสียหาย เราไม่ต้องการให้จมูกของเราเสียหาย เพราะอาจทำให้ติดเชื้อจากแบคทีเรีย และเชื้อนั้นแพร่กระจายเข้าไปในสมองของคุณได้” เขากล่าว

ศาสตราจารย์เซนต์จอห์น กล่าวด้วยว่า การทดสอบกลิ่นอาจมีศักยภาพในการเป็นเครื่องตรวจจับอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมได้ เนื่องจากการสูญเสียความรู้สึกของกลิ่นเป็นตัวบ่งชี้เบื้องต้นของโรคอัลไซเมอร์

*หมายเหตุ : งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Goda Foundation และ Menzies Health Institute Queensland (ข้อมูล ณ 28 ต.ค. 65)

---------------------------------------

อ้างอิง : griffith.edu.au