"ฝีดาษลิง" ติดจากคนสู่คน จริงหรือไม่ ?

"ฝีดาษลิง" ติดจากคนสู่คน จริงหรือไม่ ?

กระแส "โรคฝีดาษลิง" ขณะนี้อยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วโลก โดยที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า โรคฝีดาษลิงยังถือว่ามีความเสี่ยงระดับปานกลางต่อสาธารณสุขของโลก

ฝีดาษลิง หรือ ฝีดาษวานร เกิดจากไวรัสตระกูลเดียวกับโรคฝีดาษคน เชื้อไวรัสนี้สามารถทำให้เกิดโรคได้กับสัตว์หลายชนิด เช่น ตระกูลหนู ตระกูลกระรอก เป็นต้น ซึ่งน่าจะเป็นพาหะหลักของการนำเชื้อไวรัสเข้าสู่คน

 

ศ. พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า โรคฝีดาษคน (โรคไข้ทรพิษ) ได้มีการถูกกำจัดจากโลกนานแล้ว แต่อาการของ โรคฝีดาษลิง จะคล้ายคลึงกับอาการของโรคฝีดาษคน

 

ระยะฟักตัว และอาการ ฝีดาษลิง

 

  • โรคฝีดาษลิง มีระยะฟักตัวประมาณ 5-13 วัน หลังจากที่ได้รับเชื้อแล้ว
  • มักจะมีอาการมีไข้
  • อ่อนเพลียต่อมน้ำเหลืองโต
  • และหลังจากนั้นจะมีตุ่มขึ้นตามร่างกาย โดยตุ่มในระยะแรกเป็นตุ่มคล้ายยุงกัด
  • หลังจากนั้นจะพัฒนาเป็นตุ่มใสคล้ายอีสุกอีใส แต่ผนังจะหนากว่า ตุ่มจะใหญ่กว่า และมีจำนวนมากกว่า
  • หลังจากนั้น ตุ่มน้ำจะกลายเป็นตุ่มหนอง ประมาณ 1 สัปดาห์ ตุ่มเหล่านั้นก็จะเป็นแผลตกสะเก็ด แล้วหาย
  • ส่วนใหญ่จะมีอาการอยู่ประมาณ 2-3 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็จะหายเอง

 

โรคฝีดาษลิง จะมีอาการเบากว่า และอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่า 5 % ของผู้ป่วยโรคฝีดาษคน โดยผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต คือ ผู้ที่มีร่างกายไม่แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เหล่านี้ เป็นต้น ผู้ที่เสี่ยงจะติดเชื้อมักจะเป็นผู้ที่สัมผัสกับสัตว์โดยตรง

การระบาดของ ฝีดาษลิง

 

การระบาดในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า มีการติดเชื้อจาก “คนสู่คน” นอกจากนี้ ยังมีการติดเชื้อเป็นกลุ่มชายรักชาย เกิดได้จากการสัมผัสโดยตรงที่ผิวหนังบริเวณที่มีตุ่ม ผื่น หรือจากการ ไอ จาม จากละอองฝอยของทางเดินหายใจ ก็สามารถแพร่เชื้อได้ จึงทำให้ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็น ซึ่งมีอาการเพียงเล็กน้อย จำนวนตุ่มไม่มาก ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นฝีดาษลิง แล้วไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่นต่อ ทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้

 

การปฏิบัติตัว 

 

สำหรับในประเทศไทย ยังไม่มีโรคนี้เกิดขึ้น แต่เนื่องจากในประเทศมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องมีมาตรการตรวจจับ หากเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน เพื่อป้องกันการระบาด โดยปกติแล้ว ฝีดาษลิงจะมีการแพร่เชื้อได้ไม่เร็วมากนัก หากปฏิบัติตน ดังนี้

  • ไม่สัมผัสกับสัตว์ตระกูลฟันแทะ โดยเฉพาะสัตว์ที่นำเข้าจากทวีปแอฟริกา
  • ระมัดระวังการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่คาดว่าจะติดเชื้อ
  • หากมีอาการและสงสัยว่าตนเองติดเชื้อฝีดาษลิง ให้รีบพบแพทย์ทันที

ปลูกฝีดาษคน ป้องกันฝีดาษลิงได้

 

ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกันฝีดาษลิงโดยตรง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกิดก่อนปี พศ. 2523 จะได้รับการปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคฝีดาษคน สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ มาตรการจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำหรับการป้องกันโรคฝีดาษลิง

 

1. กรณีที่เดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบพบแพทย์ทันที

2. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง หรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรอง และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ

3. หลีกเลี่ยงสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัวต์ป่า

4. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ

5. หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือผู้ที่ติดเชื้อ