60 ปี Silent Spring รำลึก"ราเชล คาร์สัน"กระบอกเสียงที่พูดถึงพิษภัย"สารเคมี"

60 ปี Silent Spring รำลึก"ราเชล คาร์สัน"กระบอกเสียงที่พูดถึงพิษภัย"สารเคมี"

"Silent Spring" หนังสือที่ราเชล คาร์สัน นักธรรมชาติวิทยา ชาวอเมริกัน เขียนขึ้น สะท้อนถึงภัยคุกคามของ"สารเคมี"ที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพ แม้จะผ่านมากว่า 60 ปี นักสิ่งแวดล้อมในโลกใบนี้ก็ยังพูดถึง

แม้ว่า Silent Spring หนังสือที่เขียนโดย ราเชล คาร์สัน นักธรรมชาติวิทยาชาวอเมริกัน จะถูกตีพิมพ์มานานกว่า 60 ปี แต่ยังเป็นหนังสือที่ทรงอิทธิพลและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักสิ่งแวดล้อมทั่วโลก โดยเฉพาะปัญหาสารเคมีในโลกใบนี้

 ล่าสุดเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) และเครือข่ายภาคี นำเรื่องราวผลงานหนังสือมาพูดคุย เพื่อรำลึกถึง ราเชล คาร์สัน เพื่อสะท้อนถึงภัยคุกคามจากสารเคมีในประเทศไทย ณ สวนชีววิถี จ.นนทบุรี

ห้ามใช้ดีดีทีตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001

ราเชล คาร์สัน นักธรรมชาติวิทยาชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เติบโตในครอบครัวยากจนย่านอุตสาหกรรมเมือง ในยุคนั้นรัฐบาลเชื่อว่า การใช้สารเคมีในธรรมชาติจะให้ได้ผลผลิตดี

สารเคมีตัวสำคัญในขณะนั้น ก็คือ DDT ไดคลอโรไดฟีนิลไตรคลอโรอีเทน (dichlorodiphenyltrichloroethane) ยาฆ่าแมลงประเภทสารสังเคราะห์ออร์กาโนคลอรีน ที่ตอนนั้นเชื่อว่าไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ และถูกใช้อย่างกว้างขวางหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ในปี 1962

จนมีการประกาศใช้กฎหมาย ห้ามใช้ดีดีทีในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972 และเกิดอนุสัญญาสต็อกโฮล์ม ห้ามการใช้ดีดีทีทั่วโลกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001

ในหนังสือ Silent Spring ราเชลสะท้อนถึงผลกระทบของดีดีทีต่อสิ่งแวดล้อม, การก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ และทำให้สัตว์ป่าหลายชนิด โดยเฉพาะนก เช่น อินทรีหัวขาวมีจำนวนลดลงจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทำให้เกิดการศึกษาวิจัยสืบเนื่องต่อมา และรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้ดีดีทีอย่างขนานใหญ่ในสหรัฐอเมริกา 

หลังจากราเชล คาร์สัน ถูกโจมตีอย่างหนักจากรัฐบาลและบริษัทสารเคมี กระทั่งถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือพวกคลั่งธรรมชาติ จนไม่สนใจปากท้องประชาชน

แต่เธอก็ยังยืนหยัดที่จะเป็นกระบอกเสียงในการพูดเรื่องสารเคมี จวบจนกระทั่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 1964 ด้วยวัยเพียง 57 ปี

ผลกระทบการใช้สารเคมี

ราเชล ตีพิมพ์หนังสือ Silent Spring (ฤดูใบไม้ผลิที่เงียบงัน) เพื่อเปิดโปงอันตรายจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะ DDT ที่เป็นที่นิยมอยู่ในขณะนั้น

ดิสทัต โรจนาลักษ์ ผู้แปลหนังสือ Silence Spring กล่าวว่า เนื้อหาหนังสือยังร่วมสมัย โดยเฉพาะภาพรวมผลกระทบจากการใช้สารเคมี มีลีลาการเขียนที่สะท้อนให้เห็นวงจรของสิ่งมีชีวิตและธรรมชาติที่สวยงาม สะท้อนความล่มสลายจากการใช้สารเคมีอย่างน่าสลดใจ

โดยราเชลเชื่อว่า หากเรารักสิ่งใด เราจะพร้อมปกป้องสิ่งที่เรารัก นั่น คือสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมของเรานั่นเอง

ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกว่า นอกจากราเชลแล้ว ยังมีนักวิชาการอีกท่าน คือดร.สเตฟานี ซีเนฟ (Stephanie Seneff) ตีพิมพ์หนังสือ มรดกสารพิษ (Toxic Legacy) ชี้ถึงอันตรายของไกลโฟเซตที่ส่งผลต่อสุขภาพ สร้างความตื่นตัวต่อสังคมอเมริกันในวงกว้าง

ปัจจุบันมีสารเคมีที่ถูกใช้ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นชนิดทั่วโลก ส่วนหนึ่งเป็นสารกลุ่ม EDCs ที่รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ (ฮอร์โมน) มีผลต่อสมอง พัฒนาการและการเติบโตของเด็ก

นักวิจัยพบความสัมพันธ์ของไกลโฟเซตกับการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆกว่า 22 โรค รวมทั้งมะเร็งด้วย

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชวลิต วิทยานนท์  นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยกันเสริมว่า สารเคมียังสร้างผลกระทบต่อสัตว์ที่เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของธรรมชาติ เช่น ปลา ค้างคาว และแมลงต่างๆ

"เมื่อแมลงหายไป สัตว์อื่นๆจะสูญพันธุ์ไปด้วย ส่งผลต่อจุลชีพในดิน ทำให้ได้ผลผลิตน้อยลง ความหลากหลายของพืชที่เพาะปลูกเปลี่ยนไป สร้างผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์"

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ เป็นอีกคนที่ทำงานรณรงค์เรื่องการใช้สารเคมี กล่าวว่า สังคมไทยเคยตื่นตัวเรื่องสารเคมีมากในเหตุการณ์คลังสารเคมีระเบิดท่าเรือคลองเตย ในปี 2534 มีเหยื่อหลายพันคน แต่น่าเสียดายที่กลับไม่สามารถหานักวิชาการมาพูดคุยเรื่องมาตรการการจัดการ กฎหมาย หรือการรักษาโรคจากสารเคมีได้เลย 

“เราควรมีฐานข้อมูลกลางของสารเคมีในไทย รวมถึงการจำกัดบรรจุภัณฑ์อย่างถูกวิธี”

ดิสทัต เสริมว่า การรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมจะใช้ข้อมูลอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ต้องถ่ายทอดให้สังคมมีอารณ์ร่วม และต้องการนักวิชาการและคนรุ่นใหม่ที่กล้าหาญด้วย 

ในขณะที่ ปัตพงษ์ เสนอว่า รัฐและประชาชนควรช่วยกันสร้างระบบอาหารปลอดภัย ลดการใช้สารพิษ และทำให้นโยบายด้านสารเคมีของไทยโปร่งใสและตรวจสอบได้