เปิด 13 ประเด็นแก้กฎหมาย หลักทรัพย์ เพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. เอาผิดคดีปั่นหุ้น

เปิด 13 ประเด็นแก้กฎหมายหลักทรัพย์ เพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. เอาผิดคดีปั่นหุ้น "คลัง" ชี้การออก พ.ร.ก. จะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนมากขึ้น
KEY
POINTS
- ก.ล.ต. ชี้ ร่าง พ.ร.บ. ที่เสนอครอบคลุมหลายประเด็น หนุนการเพิ่มอำนาจสอบสวนให้ ก.ล.ต.และการแก้ไขเพื่อรองรับการทำงานอื่น
- เปิด 13 ประเด็นแก้กฎหมายหลักทรัพย์ เพิ่มอำนาจ ก.ล.ต.เอาผิดคดีปั่นหุ้น
- กระทรวงการคลังได้รับร่างแก้ไขกฎหมายจาก ก.ล.ต.แล้ว การเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต.รวดเร็วขึ้น ช่วยลดความเสียหายให้นักลงทุน
- ก.ล.ต. มั่นใจเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นของตลาดทุนให้กลับมาได้
เพื่อเป็นการกู้คืน “ศรัทธานักลงทุน” ในตลาดหุ้นไทย ที่สถานการณ์ปัจจุบันตลาดหุ้นดำดิ่ง ทั้งจากผลกระทบภายนอก และภายใน ดังนั้น กระทรวงการคลังหนึ่งในผู้ดูแลหน่วยงานที่กำกับ “ตลาดเงิน-ตลาดทุน” จึงไม่นิ่งนอนใจ
สะท้อนผ่าน “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เร่งดำเนินการแก้ไข โดยจะออกเป็น พ.ร.ก.เพื่อให้อำนาจคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดำเนินการสอบสวนคดีอาญา และลงโทษผู้กระทำผิดในการปั่นหุ้นหรือกระทำการไม่เป็นธรรมในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และลดความเสียหายของประชาชน
“พิชัย” กล่าวว่า การออก พ.ร.ก.ดังกล่าวจะทำให้ ก.ล.ต.วินิจฉัยคดีได้ดีขึ้นเพราะเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิด จากนั้นจะรวบรวมส่งให้อัยการพิจารณาส่งฟ้อง ทั้งนี้ จะมีการดูแลรายย่อยด้วย ซึ่งจะเร่งผลักดันให้ออกมาอย่างช้าภายใน 2 สัปดาห์
“การลงทุนในหุ้นนั้นต้องการทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่าหากเกิดกรณีที่ไม่ถูกต้องก็ต้องมีการจัดการ และลงโทษตามกฎหมายในเรื่องนี้พร้อมทำให้กฎหมายชัดเจน การออก พ.ร.ก.จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น จะดูแลกรณีเคสใหญ่ๆ ที่คนพูดถึง และยังจัดการไม่ได้ โดยคนที่ทำก็จะโดนบทลงโทษแรง”
สำหรับการออก พ.ร.ก.ดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 ที่บัญญัติว่า ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัย สาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตรา พ.ร.ก.ให้ใช้บังคับดังเช่น พ.ร.บ.ก็ได้
การตรา พ.ร.ก.ให้กระทําได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้ยกร่างแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับ “ตลาดทุน” จำนวน 4 ฉบับ โดยเมื่อวันที่ 28 พ.ย.2567 คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่าง ได้แก่
1.ร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ...
2.ร่าง พ.ร.บ.สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ...
3.ร่าง พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ...
4.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 พ.ศ....
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้รับร่างแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จาก ก.ล.ต.แล้ว โดยการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เสนอให้พิจารณาออกเป็น พ.ร.ก.ให้อำนาจ ก.ล.ต.ในการสอบสวนคดีเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้นักลงทุน ซึ่งจะมีการพิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 ว่านำประเด็นของ ก.ล.ต.มาออก พ.ร.ก.ได้ทั้งหมดหรือไม่
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ที่ ก.ล.ต.เสนอมาครอบคลุมหลายประเด็น ทั้งการเพิ่มอำนาจสอบสวนให้ ก.ล.ต.และการแก้ไขเพื่อรองรับการทำงานอื่นของ ก.ล.ต.รวม 13 ประเด็น ดังนี้
1.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำการให้รวมถึงทรัสต์ด้วย
2.แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ และกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนหรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษในความผิดอาญาบางประเภท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย
3.ปรับปรุงบทกำหนดโทษ โดยเปลี่ยนแปลงความผิดบางประการที่มิใช่ ความผิดร้ายแรงให้เป็นความผิดทางพินัย
4.เพิ่มบทบัญญัติรองรับการดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดทุน
5.แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการ ก.ล.ต. รวมถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน และสำนักงาน ก.ล.ต.
6.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการออก และเสนอขายหลักทรัพย์และหุ้นกู้ เช่น แก้ไขเพิ่มเติมการบังคับชำระหนี้จากหลักทรัพย์ให้สามารถดำเนินการโดยวิธีการที่มีใช่การขายทอดตลาดได้ และกำหนดให้สามารถออกหุ้นกู้เพื่อหักกลับลบหนี้ได้ในบางกรณี รวมถึงอนุญาตให้มีผู้แทนผู้ถือหลักทรัพย์สำหรับหลักทรัพย์ประเภทอื่นที่มีใช้หุ้นกู้มีประกันได้
7.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์ เช่น กำหนดข้อจำกัด เกี่ยวกับการถือหุ้นหรือรับประโยชน์จากหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์ และการยกเลิกบทบัญญัติที่บังคับให้บริษัทหลักทรัพย์ต้องเลิกบริษัทเมื่อเลิกประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
8.เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับผู้ให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุน เพื่อกำกับดูแลผู้สอบบัญชี สำนักงานสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และบุคลากรในธุรกิจหลักทรัพย์ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
9.แก้ไขเพิ่มเติมการประกอบธุรกิจของตลาดหลักทรัพย์ และยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับการชี้ขาดข้อพิพาทเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์
10.ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่ออนุญาตให้มีการจัดตั้งศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ได้ง่ายขึ้น รวมถึงเพื่อรับรองกรณีที่อาจกำหนดให้นำโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนมากำกับดูแลในฐานะเป็นหลักทรัพย์
11.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับ สำนักหักบัญชี ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ และนายทะเบียนหลักทรัพย์ เพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
12.แก้ไขเพิ่มเติมให้สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์สามารถลงทุนในตราสารหนี้หรือหลักทรัพย์อื่นบางประเภทได้
13.เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับผู้ให้บริการระบบที่มีนัยสำคัญต่อตลาดทุนเพื่อรองรับ และกำกับดูแลการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลหรือโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่เชื่อมโยงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ในตลาดทุนเข้าด้วยกัน
“พรอนงค์ บุษราตระกูล” เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า ก.ล.ต.เสนอแก้กฎหมายในส่วนร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ทั้งหมดไปแล้ว ซึ่งเริ่มเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปลายปี 2567 ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา
ส่วนกรณีจะออกเป็น พ.ร.ก.เพื่อให้อำนาจ ก.ล.ต.สามารถดำเนินการสอบสวนคดีอาญา และลงโทษผู้ที่กระทำผิดในการปั่นหุ้นหรือกระทำการไม่เป็นธรรมในตลาดหลักทรัพย์ หรือจะเสนอ ครม.ขึ้นกับกระทรวงการคลังจะเป็นผู้พิจารณาดำเนินการต่อ
ทั้งนี้ การเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต.รวดเร็วขึ้นช่วยลดความเสียหายให้นักลงทุน และเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นของตลาดทุนให้กลับมาได้
“ก.ล.ต.เป็นเจ้าของเรื่องในการแก้ไขกฎหมายเพิ่มอำนาจเป็นพนักงานสอบสวน ยอมรับว่า หน้าที่นี้โดยปกติทำอยู่แล้ว เช่น คดีปั่นหุ้น อินไซด์หุ้นกระบวนการดำเนินการตรวจสอบภายในสำนักงาน ก.ล.ต.แล้ว จึงส่งเรื่องไปยังตำรวจดำเนินการสอบสวนต่อไป แต่หลังกฎหมายบังคับใช้จะบูรณาการดำเนินการสอบสวนที่สำนักงาน ก.ล.ต.แล้ว จึงส่งให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ต่อไป”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์