‘บล.แซดคอม’ ติดกับดัก ‘มาร์จิน’ ยอดปล่อยกู้ทะลุ 1.5 หมื่นล้าน

‘บล.แซดคอม’ ติดกับดัก ‘มาร์จิน’ ยอดปล่อยกู้ทะลุ 1.5 หมื่นล้าน

ตลาดหุ้นไทยเผชิญความเสี่ยง แรงกดดัน หรือปัจจัยลบ ล้วนแต่มีผลต่อธุรกิจหลักอย่าง 'โบรกเกอร์' ตามไปด้วย จากรายได้หลักที่อ้างอิงกับมูลค่าซื้อขายในตลาดหุ้นทำให้กำไรหรือขาดทุนขึ้นอยู่กับสภาพตลาดในช่วงนั้น

ด้วยจำนวนโบรกเกอร์ปัจจุบันที่มี 38 รายยิ่งทำให้การชิงมูลค่าซื้อขายตามรายได้ ค่าธรรมเนียมสูงตาม ดังนั้นบริการ "บัญชีมาร์จิน หรือบัญชีเงินกู้" เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับลูกค้าจึงตอบโจทย์และจูงใจลูกค้ามาใช้บริการง่ายขึ้น

แทบทุกโบรกเกอร์ต่างมีบริการเหล่านี้ไว้ดึงดูดลูกค้ารายใหญ่ไว้อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับวงเงินปล่อยกู้จะสูงและใหญ่แค่ไหนในแต่ละโบรกเกอร์ หากภาวะตลาดปกติและอยู่ในช่วงภาวะกระทิงการดำเนินธุรกิจย่อมราบลื่น

กรณีตลาดหุ้นไทยเผชิญ วิกฤติความเชื่อมั่น มาตั้งแต่ปลายปี 2565 ลากยาวไปทั้งปี 2566 ทั้ง เคส MORE –STARK –OTO-JKN หรือล่าสุด EA และ NEX ที่มีแรงขายดิ่งฟลอร์จนกลายเป็นถูกบังคับขาย (Force Sell) จึงทำให้ 'ธุรกิจปล่อยมาร์จินกลายเป็นดาบ สองคมสำหรับธุรกิจโบรกเกอร์แทน'

รายที่ต้องปิดฉากธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย เวลท์ มาจากสาเหตุหุ้นในตำนาน MORE ที่กระทบฐานทุนที่เล็กทำให้เผชิญขาดทุน ไม่มีสภาพคล่องหรือเงินสดในมือ จนเกิด “ฉกเงิน” ลูกค้ามาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตและสุดท้ายเงินกองทุนสภาพคล่อง (NCR) ลดลงจนต่ำกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนดและไม่สามารถประกอบธุรกิจได้

และอีกรายที่ตกเป็นข่าวตอนนี้ บล. จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย)  ถือว่าเป็นผู้เสียหายจากเคส MORE ด้วยแต่ด้วยฐานทุนที่ใหญ่กว่าและวงเงินการปล่อยกู้ที่มากกว่าทำให้ยังประคองตัวเองไม่ให้ NCR ต่ำกว่าเกณฑ์ไปได้

ด้วยนโยบายการดำเนินธุรกิจพุ่งเป้าไปที่ กลยุทธ์ผู้นำบัญชีมาร์จินทำให้ บล.จีเอ็มโอ-แซด คอม ต้องต้านทานรับขาดทุนจากการปล่อยกู้มาร์จินจนมาเกือบสุดทาง จากตัวเลขยอดเงิน ปล่อยมาร์จินพุ่งสูงแตะระดับ 15,433 ล้านบาท ปี 2565 จากปี 2564 ที่ 13,189 ล้านบาท  ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่าสูงที่สุดในอุตสาหกรรมโบรกเกอร์ของไทยก็ว่าได้

      ‘บล.แซดคอม’ ติดกับดัก ‘มาร์จิน’ ยอดปล่อยกู้ทะลุ 1.5 หมื่นล้าน

จากข้อได้เปรียบต้นทุนต่ำด้วยผู้ถือหุ้นรายใหญ่  “จีเอ็มโอ ไฟแนนซ์เชียล โฮลดิ้งส์ อิ้งค์” จากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยจึงมีฐานทุนใหญ่ในการปล่อยมาร์จิน  ซึ่งการวางกลยุทธ์ดังกล่าวดูจะช่วยสร้างกำไรดีจากปี 2562 -2564 บริษัทมีกำไร 6 ล้านบาทอยู่ที่  44 ล้านบาท และ  261 ล้านบาท ตามลำดับ จนมีการใส่เงินเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นให้อีก 500 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายฐานวงเงินกู้ยืมแก่นักลงทุนที่มีมากถึง 600 หลักทรัพย์ ที่อัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ 5.95% ต่อปี

ปรากฏว่าในปี 2565 เริ่มเผชิญขาดทุน 519 ล้านบาท และปี 2566 ขาดทุนอีก 517 ล้านบาท แม้จะมีรายได้จากดอกเบี้ยปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 1,060  ล้านบาท แต่ต้องแบกรับผลขาดทุนทางเครดิต 766 ล้านบาท ปี 2565 -2566 เผชิญหลายเคสติดๆกัน

เคสแรก MORE ที่มีลูกค้าให้หุ้น MORE เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันมูลค่า 2,099 ล้านบาท  แต่หลังจากการ Force sell ทำให้รับรู้ผลขาดทุนด้านเครดิต  952 ล้านบาท ปี 2566 วงเงินปรับโครงสร้างลูกค้ากลายเป็นลูกหนี้  893 ล้านบาท  และลูกค้าที่ถูกดำเนินการตามกฎหมายผิดนัดชำระหนี้ 402 ล้านบาท ทำให้ต้องรับรู้ผลขาดทุนทางเครดิต 331 ล้านบาท

ปัจจุบัน 'แซด คอม ' ต้อง ประกาศพิจารณาให้บริการมาร์จิน และยังไม่ปิดกิจการตามที่มีข่าวว่าบริษัทเผชิญผลกระทบจากการถูก Force sell หุ้นหลายเคสที่ผ่านมา  แต่สะท้อนให้เห็นว่าภายในมีปัญหามากกว่าที่เห็น ยิ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ได้แก้ไขปัญหาด้วยการใส่เงินเพราะเห็นสถานการณ์แล้วว่ามีแต่ “ถมลงไม่เต็มและเข้าเนื้อตัวเองหนักขึ้น”

การเร่งทำธุรกิจบนกลยุทธ์เสี่ยงเพื่อชิงมาร์เก็ตแชร์ และเร่งทำผลประกอบการวางแผนเข้าตลาดหุ้นทำให้ต้องแลกกับการตกที่นั่งลำบากในวันนี้  ซึ่งผลกระทบลามไปยังโบรกกเกอร์อื่นถือว่ายากจากการกำหนดวงเงินปล่อยมาร์จินและหุ้นที่แตกต่างกัน  รวมทั้งสัดส่วนการเรียกวางหลักประกันที่พิจารณาความเสี่ยงไม่เหมือนกันอีกด้วย

ธุรกิจโบรกเกอร์หาก NCR ยังไม่ถึงจุดต่ำกว่าเกณฑ์ถือว่าปลอดภัยมีโอกาสเพิ่มฐานทุนทำธุรกิจต่อ กรณี “แซดคอม” ประกาศหยุดให้บริการมาร์จินไว้ก่อนเพื่อลดผลกระทบ  แต่โอกาสที่ทุนญี่ปุ่นจะถอนทุนออกจากตลาดจนถึงขั้นปิดกิจการแม้จะยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็ 'ไม่ได้ใส่ทุนใหม่' เข้ามาจึงเป็นการแค่ 'ต่อลมหายใจ' ไว้ก่อนเท่านั้น