เบื้องลึก 'บิ๊กล็อต' หุ้น MORE ที่ 'บล.แซดคอม' รับเผือกร้อน !

เบื้องลึก 'บิ๊กล็อต' หุ้น MORE ที่ 'บล.แซดคอม' รับเผือกร้อน !

เปิดเบื้องลึกบิ๊กล็อต 'หุ้น MORE' หลังบล.จีเอ็มโอ-แซดคอม (ประเทศไทย) โดดรับเผือกร้อนต่อจาก 4 นักลงทุนรายใหญ่ วงการโบรกเกอร์สุดสงสัย ? ผู้บริหารมีเหตุผลใดซื้อ ! ธงคำตอบสุดท้ายคงไม่พ้น 'ปล่อยกู้' และ 'กินดอกเบี้ย' จับตาผู้เกี่ยวข้องเบื้องหลังใครจะเป็นรายต่อไป...

กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ! หลังจากเมื่อวันศุกร์ 27 ม.ค.2566 พบมีการทำรายการซื้อขายหุ้นผ่านระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์บนกระดานรายใหญ่ (Big Lot Board) หุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE จำนวน 948.10 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 13.21% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว คิดเป็นมูลค่ากว่า 360 ล้านบาท วันนั้น...ก็เกิดอาการงงงวยกันแล้วว่า “ใคร? นะ” กล้าซื้อหุ้นดังกล่าว ทั้งที่รู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นหุ้นต้องห้ามคนที่มีเอี้ยวไม่ควรซื้อไม่ควรขาย เพราะอยู่ในกระบวนการตรวจสอบ หลังหุ้น MORE ถูกนำไปเป็นเครื่องมือ “ปล้นเงินโบรก”

ก่อนจะเฉลยในวันจันทร์ 30 ม.ค.66 ว่า คนที่รับซื้อหุ้นร้อน (MORE) คือ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)จีเอ็มโอ-แซดคอม (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โบรกเกอร์สัญชาติญี่ปุ่น รับซื้อจากผู้ถือหุ้น 4 ราย คือ นายอภิมุข บำรุงวงศ์ หรือ ปิงปอง , นายศิริศักดิ์ ปิยทัสสีกุล , นายสามารถ ฉั่วศิริพัฒนา และ นายวสันต์ จาวลา ทำให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ MORE อันดับ 3 ทันที

พลันที !! “ตัวละครเฉลย” คำถามที่สงสัยและต้องการคำตอบคือ ผู้บริหารบล.จีเอ็มโอ-แซดคอม มีเหตุผลอันใดถึงกล้าซื้อหุ้น MORE !! ทั้งๆ ที่ธุรกิจ MORE ขาดทุนสุทธิต่อเนื่อง และยังถูกนำหุ้นไปใช้เป็นเครื่องมือปล้นเงินโบรกเกอร์ ดูยังไงธุรกิจก็ยังไม่น่าจะกลับมา “เทิร์นอะราวด์” หรือแม้แต่ เรียกศรัทธาจากนักลงทุนกลับมาได้โดยไว... สะท้อนผ่านหลายโบรกเกอร์ยังไม่ปล่อยมาร์จินในการซื้อหุ้น MORE

และที่สำคัญ ! บล.จีเอ็มโอ-แซดคอม กำลังยื่นไฟลิ่ง เพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งการตัดสินใจทำเช่นนี้ไม่น่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจหรือไม่ หรือ บล.จีเอ็มโอ-แซดคอม เห็นสตอรี่อะไรดีที่ซ้อนอยู่ใน MORE ถึงกล้าควักเงินระดับ 360 ล้านบาทซื้อหุ้น

จะนั่งคิดนอนคิดยังไงก็ยังไม่เห็นประโยชน์จากการซื้อ ! ดังนั้น ธงคำตอบเดียวที่น่าจะเป็นไปได้มากสุดคือ นักลงทุนอาจจะนำหุ้น MORE มาวางไว้เป็นหลักประกันกับทางบล.จีเอ็มโอ-แซดคอม เพื่อ “ขอกู้เงินและรับเงินสดไป” โดยคาดจะปล่อยกู้ในระดับ 50-60% ของราคาหุ้น MORE และจ่ายกลับมาเป็นแค่ “ดอกเบี้ย” เมื่อถึงกำหนดก็มาไถ่ถอนคืน แต่เมื่อถึงเวลาอาจจะไม่สามารถนำเงินมาคืนได้ก็ต้องถูก “ยึดหลักประกัน” ตามระเบียบ

การนำหุ้นมาเป็นหลักประกันเพื่อขอมาร์จินไปลงทุนในหุ้นตัวอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ถ้าหุ้นตัวนั้นมีคุณภาพเช่นเดียวกัน

หากลองดูให้ลึก บล.จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อดำเนินธุรกิจเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ออนไลน์ เป็นหนึ่งใน กลุ่มบริษัท จีเอ็มโอ อินเตอร์เนท กรุ๊ป มี 9 บริษัทในเครือเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ขณะที่รายงานงบการเงินของ บล.จีเอ็มโอ-แซดคอม พบว่า 6 เดือนแรก ปี 2565 มีรายได้ค่านายหน้า 14.49 ล้านบาท มีรายได้ดอกเบี้ย 226.74 ล้านบาท เติบโตก้าวกระโดด เทียบจาก 6 เดือนแรกปี 2564 ที่มีรายได้ค่านายหน้า 17.70 ล้านบาท และมีรายได้ดอกเบี้ย 149.20 ล้านบาท หากดูจากตัวเลขงบการเงินอาจจะแปลออกมาได้ว่ารายได้หลักของ บล.จีเอ็มโอ-แซดคอม มาจากดอกเบี้ยเงินกู้ !!

คงต้องคิดตามกันต่อไปว่า ยังจะมีหุ้น MORE โผล่ออกมาอีกไหม เพราะจากบิ๊กล็อกรอบนี้มีหุ้นที่ไม่ถูกอายัดสร้างความปั่นป่วนเกือบ 1,000 ล้านหุ้น และล่าสุด นายศิริศักดิ์ ปิยทัสสีกุล ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ของ MORE ได้ขายหุ้น MOREเมื่อวันที่ 3 ม.ค.2566

โดยเป็นการซื้อขายกันโดยตรง เนื่องจาก "ถูกบังคับขายหลักทรัพย์" โดย บล. จีเอ็มโอ-แซดคอม จำนวนหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่คือ 742.86 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 10.35% ทำให้ภายหลังการขายครั้งนี้ นายศิริศักดิ์ จะไม่เหลือถือหุ้น MORE อีก 

คงต้องจับตาและติดตามคนที่เกี่ยวข้องหุ้น MORE ใครจะเป็นรายต่อไป ที่จะ (ไม่) รอด ?