เปิด 3 ปัจจัยกดดันฉุดตลาดหุ้นโลกลงแรง 

เปิด 3 ปัจจัยกดดันฉุดตลาดหุ้นโลกลงแรง 

เปิด 3 ปัจจัยกดดันฉุดตลาดหุ้นโลกลงแรง หลังตลาดหุ้นสหรัฐ (Nasdaq) ปรับตัวลง -1.57% กังวลการชะลอตัวลงเศรษฐกิจสหรัฐ รายงานยอดขายบ้านใหม่ลดลง 8.7% ขณะที่สหรัฐมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยในภาวะที่เงินเฟ้อยังยืนระดับสูง และจับตา Government Shutdown 1 ต.ค. นี้

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASPS) ให้ข้อมูลว่า ตลาดหุ้นโลกค่อนข้างผันผวน โดย ตลาดหุ้นสหรัฐ (Nasdaq) ปรับตัวลง -1.57% จาก 3 ปัจจัย คือ ความกังวลการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยวานนี้มีการรายงานยอดขายบ้านใหม่ลดลง 8.7% สู่ระดับ 675,000 ยูนิตในเดือนส.ค. ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 700,000 ยูนิต จากระดับ 739,000 ยูนิตในเดือน ก.ค. นอกจากนี้ยังมีดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 103.0 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน และต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 105.5 จากระดับ 108.7 ในเดือนส.ค. ได้รับผลกระทบจากความกังวลเงินเฟ้อและดอกเบี้ยสหรัฐที่ยืนระดับสูง

รวมถึงความกังวลสหรัฐมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยในภาวะที่เงินเฟ้อยังยืนระดับสูง โดยตลาดคาดการณ์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ที่จะมีการรายงานในวันศุกร์นี้ (29 ก.ย.66) ปรับตัวขึ้น 3.5%YoY ในเดือนส.ค. จากระดับ 3.3%YoY ในเดือนก.ค. และดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าปรับตัวขึ้น 3.9%YoY ในเดือนส.ค. จากระดับ 4.2%YoY ในเดือนก.ค. รวมถึงผู้ว่าการ Fed ในสาขาต่างๆ ก็ให้ความเห็นสนับสนุนให้ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป หากเงินเฟ้อยังคงไม่ชะลอตัวลง 

และความวิตกเกี่ยวกับ Government Shutdown หรือ การปิดหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐ ในวันที่ 1 ต.ค. นี้ ซึ่งประเด็นนี้มักกดดันให้ตลาดหุ้นผันผวนช่วงสั้นๆ เสมอ

เปิด 3 ปัจจัยกดดันฉุดตลาดหุ้นโลกลงแรง 

ทั้งนี้ หากสังเกตจาก Valuation พบว่า ตลาดหุ้นสหรัฐมีผลต่างระหว่างผลตอบแทนในตลาดหุ้นกับตลาดตราสารหนี้ต่ำมาก คือ มี Market Earning Yield Gap (MEYG) เท่ากับ -0.42% ผิดกับตลาดหุ้นเอเชียรวมถึงไทยที่มี MEYG สูงกว่ามาก ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐมีโอกาสผันผวนกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ในช่วงนี้

เปิด 3 ปัจจัยกดดันฉุดตลาดหุ้นโลกลงแรง 

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นโลกเผชิญกับปัจจัยลบมาตลอดเดือน ก.ย. ปรับตัวลงมา จนเห็นสัญญาณทางเทคนิคอย่าง RSI ของแต่ละดัชนีเริ่มเข้าใกล้เขต Oversold หรือต่ำกว่า 30 จึงคาดว่าการย่อตัวลงของดัชนีมีโอกาสลดน้อยลงบ้าง

เปิด 3 ปัจจัยกดดันฉุดตลาดหุ้นโลกลงแรง 

ขณะที่ SET Index ปรับตัวลงมาแล้วกว่า 10.47%ytd จน RSI อยู่ที่ 32.9 เข้าใกล้เขต Oversold เช่นกัน และจากสถิติในอดีตย้อนหลัง 10 ปี เวลา RSI เข้าเขต Oversold ผลตอบแทนเฉลี่ยของ SET Index หลังจากนั้นในช่วง 1 – 5 วัน ดัชนีจะชะลอการปรับตัวลง และทยอยปรับตัวขึ้นได้ดีในระยะ 10 –20 วัน หลังจากนั้น

เปิด 3 ปัจจัยกดดันฉุดตลาดหุ้นโลกลงแรง 

ทั้งนี้ ภายใต้ SET Index ที่ผันผวนมากและถูกปัจจัยภายนอกกดดัน แต่ย่อตัวลงมาจนมี PBV ต่ำอยู่ที่ 1.46 เท่า (ต่ำกว่า -1SD) และ RSI ใกล้เขต Oversold น่าจะเหมาะกับการหาหุ้นสะสมเพื่อหวังผลในระยะกลางถึงยาว