เช็กแหล่งทุน  “เงินดิจิทัล” โอกาสกระทบ “วายุภักษ์”  3 แสนล้านบาท

เช็กแหล่งทุน  “เงินดิจิทัล”  โอกาสกระทบ “วายุภักษ์”  3 แสนล้านบาท

นโยบายเงินดิจิทัลเป็นเรื่องถกเถียงตลาดหุ้นย่อมต้องมอง และวิเคราะห์ด้วยว่าหากเกิดขึ้นได้จริงหุ้นไหนได้ประโยชน์ ด้วยจำนวนเงิน 5.6 แสนล้านบาท การดำเนินการโครงสร้างเพื่อรองรับเป็นการตั้งต้นสำหรับนโยบายอื่นเหมือนเกิดขึ้นกับ แจ้งเกิดแอป “เป๋าตัง”  แล้ว

 

            นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” แถลงนโยบายต่อรัฐสภา 11-12 ก.ย.66 ประกอบไปด้วยนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญ 1.นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ระบุจะดำเนินการภายในไตรมาส 1 ปี 2567   2. นโยบายแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน 3.นโยบายการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที

       รวมทั้งปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ 4. นโยบายผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างงานให้กับประชาชน และ 5. นโยบายแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

        หากแต่ที่ถูกจี้ถาม และเป็นประเด็นมากที่สุด “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” นำเงินจากที่ไหนมาใช้จ่าย เพราะด้วยเม็ดดังกล่าวจะกลายเป็นการเพิ่มหนี้ - ภาระต้นทุนให้กับกระทรวงการคลังในอนาคต ทำให้มีการโยงไปยังโครงสร้างของนโยบายดังกล่าว

        โดยทางเลือกที่มีการเสนอมาคือ การใช้ “บล็อกเชน” เพื่อดำเนินการเสมือนเงินให้ใช้จ่ายระยะทางที่กำหนด  ซึ่งจำเป็นจะต้องมีสินทรัพย์หรือเงินเป็นแบ็คอัพเพื่อดำเนินการ  จนมีการเสนอหลากหลายแนวทางทั้ง "เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ " รวมไปถึงเงินจาก "กองทุนวายุภักษ์" 

        บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส  วิเคราะห์คาดการณ์ความเป็นไปได้แนวทางดังกล่าวกระทรวงการคลังอาจลดสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนในกองทุนวายุภักษ์ให้กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และสำนักงานประกันสังคม ซึ่งสามารถทำได้ และได้เงินระยะสั้นปริมาณมาก รวมถึงตลาดหุ้นได้รับผลกระทบจากความผันผวนจากประเด็นดังกล่าวจำกัด

       เนื่องจากกองทุนวายุภักษ์เป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่สุดในประเทศไทย โดยล่าสุดกองทุนวายุภักษ์มีมูลค่าพอร์ตอยู่ที่ 3.47 แสนล้านบาท รองรับเงินที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายได้พอสมควร

        ส่วนกองทุนประกันสังคม มีเงินในพอร์ตลงทุนสิ้นปี 2565 ที่ 2.27 ล้านล้านบาท เป็นสัดส่วนหุ้นไทย 11.05% หรือราว 2.51 แสนล้านบาท  และกบข.มีเงินในพอร์ตลงทุน ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2566 ที่ 4.65 ล้านล้านบาท เป็นสัดส่วนหุ้นไทย 4.28% หรือ 2 หมื่นล้านบาท (ในอดีตถือหุ้นไทยราว 7% ของพอร์ตรวม)

        บรรดาหุ้นที่อยู่ในกองทุนวายุภักษ์ต่างหนาวๆ ร้อนๆ  ไปตามๆ กันเพราะเมื่อยังไม่มีความชัดเจนอะไรก็เกิดขึ้นได้ !!

       เมื่อดูพอร์ตของกองทุนดังกล่าว ที่มีการกระจายลงทุนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นหุ้น - หน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน - หุ้นกู้ - เงินฝากธนาคาร - ตั๋วเงินคลัง และพันธบัตร แต่สัดส่วนใหญ่สุดคือ หุ้นสามัญในตลาดหุ้นไทย 90%

       ณ  ก.ค. 2566 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ตามหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในสัดส่วน 100% มีมูลค่า   330,163 ล้านบาท  อิงกับมูลค่าตามราคาตลาด หรือ มาร์เก็ตแคป จากจำนวนหุ้นถือทั้งหมด 69 หลักทรัพย์

       โดยหุ้นที่ถือตามมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบไปด้วย หุ้น PTT สัดส่วน 35.3%  ซึ่งมีมูลค่ามาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 999,704  ล้านบาท ตามมาด้วย  SCB  สัดส่วน 25.6%  มูลค่า 390,584  ล้านบาท    

     TTB  สัดส่วน   5% มูลค่า  167,577  ล้านบาท ,KTB   สัดส่วน 3.6% มูลค่า 269,737 ล้านบาท และ BCP สัดส่วน 3%  มูลค่า  52,323  ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีหุ้นในกลุ่ม SET 50 อีกจำนวนมากที่กองทุนฯ ถือลงทุน เช่น AOT – ADVANC – SCC – BDMS – ESSO – BBL – KBANK เป็นต้น

    หากนโยบายดังกล่าวจำเป็นต้องใช้สินทรัพย์จากกองทุนฯ  ย่อมมีอิทธิพล และสร้างความผันผวนต่อราคาหุ้น และตลาดหุ้นไทยทันที  ซึ่งแน่นอนว่านักลงทุนในตลาดหุ้นไทยย่อมมองเรื่องดังกล่าวจะมีผลกับการลงทุนเช่นเดียวกัน 

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์