เปิดโผ 10 ‘รัฐวิสาหกิจ’ ลงทุนในตลาดหุ้นไทย มูลค่า 9.61 แสนล้าน

เปิดโผ 10 ‘รัฐวิสาหกิจ’ ลงทุนในตลาดหุ้นไทย มูลค่า 9.61 แสนล้าน

สำรวจ 10 รัฐวิสาหกิจ ลงทุนในตลาดหุ้นไทยมูลค่ารวมกันกว่า 960,955.54 ล้านบาท หลังมีกระแสข่าวรัฐบาลอาจกู้ รัฐวิสาหกิจ มาทำนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท "โบรก" เผยอาจต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อขยับกรอบวินัยการคลังเพิ่ม 45 - 50% จากกรอบกฎหมายสามารถให้ยืมได้แค่ 32%

จากกรณีข่าวฝ่ายค้าน ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลจะยืมเงิน รัฐวิสาหกิจ 5 แสนล้านบาท มาทำเงินดิจิทัลแจก ประชาชนนั้น จะทำได้จริงหรือไม่ คงต้องพิจารณากรอบวินัยการเงินการคลังอย่างรอบคอบ เนื่องจากตามกรอบกฎหมายสามารถให้ยืมได้แค่ 32% ของงบประมาณ หรือ 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้เกือบเต็มแล้ว ต้องขยายเพดานเป็น 45% ของงบประมาณ

ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่า ยังไม่ควรด่วนสรุปว่าประเด็นดังกล่าวจะไปกู้รัฐวิสาหกิจจริงหรือไม่ เนื่องจากแหล่งที่มาของเงินมาจากหลายส่วน ซึ่งมองว่า พรรคเพื่อไทยมีแนวทางในการหาเงิน ไม่ต้องไปกู้ยืมรัฐวิสาหกิจหรือว่าเป็นการขายวายุภักษ์ เพราะว่า เป็นการถือแทนกระทรวงการคลัง 

“เชื่อว่า เงินมีพอ และให้นำหนักของการออกพันธบัตรมากกว่า ที่เป็นพันธบัตรออมทรัพย์ที่จะเข้ามาช่วยลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อได้ และปริมาณเงินในระบบของเราสภาพคล่องค่อนข้างสูง” 

อย่างไรก็ตาม มองว่า รัฐวิสาหกิจเองก็ไม่น่าที่จะมีให้กู้ยืม ก่อนหน้านี้รัฐวิสาหกิจบางแห่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการเข้าไปช่วงรัฐบาลค่อนข้างมาก อย่าง AOT PTT ได้เข้ามาช่วยประเทศชาติมาก ถ้าจะให้เข้ามาช่วยอีกน่าจะไม่มีสภาพคล่องทางการเงินเพียงพอ 

ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ข้อดีของการจะเข้าไปกู้รัฐวิสาหกิจคือ สามารถคืนช้าได้ แต่จะทำให้รัฐวิสาหกิจขาดกระแสสภาพคล่อง แทนที่จะนำเงินไปเติบโต ซึ่งถือเป็นการกระทบรายได้ของรัฐอีกทีหนึ่ง หรืออัตราดอกเบี้ยแทนที่จะนำไปปล่อยกู้อย่างอื่นอาจจะทำให้ได้น้อยจากการปล่อยกู้ให้รัฐ 

โดย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มีการกำหนดกรอบไว้ว่า การที่จะสามารถเป็นหนี้ได้ต้องไม่เกิน 32% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี หากจะต้องกู้กับรัฐวิสาหกิจ 500,000 ล้านบาท ต้องมีการขยายกรอบ แม้ว่า ปัจจุบันใน 32% อาจจะยังไม่เต็ม แต่กำลังจะเต็ม ฉะนั้นอาจจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายและขยับกรอบขึ้นมากกว่า 10% เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท และถ้าจะต้องใช้ 500,000 ล้านบาท  จึงต้องมีการขยายกรอบออกไปที่ 45 - 50% และก่อนหน้านี้รัฐบาลมีการกู้ออกพันธบัตรรัฐบาล หากมีการขยายกรอบดังกล่าวจริง อาจจะต้องไปเพิ่มหนี้อีกในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันมีการขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะขยับขึ้นไปกว่า 70% จึงมีความเป็นห่วงเช่นกัน

“จริง ๆ อาจจะไม่จำเป็นต้องกู้ถึง 500,000 ล้านบาทก็ได้ เพราะว่า ทางรัฐบาลต้องการที่จะทำเป็นดิจิตอลวอเลตก่อน อาจจะต้องเซตเป็นกรอบงบประมาณ ถึงเวลาอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้เงินถึง 500,000 ล้านบาท”

ทั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สำรวจ “รัฐวิสาหกิจ” ที่เข้ามาลงทุนหารายได้ในตลาดหุ้นไทยมีด้วยกัน 10 รัฐวิสาหกิจ มีมูลค่ารวมกันกว่า 960,955.54 ล้านบาท 

เปิดโผ 10 ‘รัฐวิสาหกิจ’ ลงทุนในตลาดหุ้นไทย มูลค่า 9.61 แสนล้าน

1.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงทุน 7 หุ้น รวมมูลค่า 819,050.76 ล้านบาท

  • หุ้น GPSC ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 1,332,955,135 หุ้น หรือ 47.27% มูลค่า 68,313.95 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 51.25 บาท)
  • หุ้น IRPC ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 9,206,674,600 หุ้น หรือ 45.05% มูลค่า 20,991.21 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 2.28 บาท)
  • หุ้น OR ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 9,000,000,000 หุ้น หรือ 75.00% มูลค่า 180,000.00 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 20.00 บาท)
  • หุ้น PTTEP ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 2,532,340,489 หุ้น หรือ 63.79% มูลค่า 424,167.03 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 167.50 บาท)
  • หุ้น PTTGC ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 2,037,220,915 หุ้น หรือ 45.18% มูลค่า 73,339.95 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 36.00 บาท)
  • หุ้น TIPH ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 80,000,000 หุ้น หรือ 13.46% มูลค่า 3,200.00 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 40.00 บาท)
  • หุ้น TOP ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 1,005,920,239 หุ้น หรือ 45.03% มูลค่า 49,038.61 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 48.75 บาท)

2.ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ลงทุน 5 หุ้น รวมมูลค่า 69,870.90 ล้านบาท

  • หุ้น BEM ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 4 จำนวน 815,356,075 หุ้น หรือ 5.33% มูลค่า 7,012.06 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 8.60 บาท)
  • หุ้น KTC ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 1,270,908,500 หุ้น หรือ 49.29% มูลค่า 60,368.15 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 47.50 บาท)
  • หุ้น TIPH ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 4 จำนวน 59,429,000 หุ้น หรือ 10.00% มูลค่า 2,377.16 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 40.00 บาท)
  • หุ้น TWP ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 9 จำนวน 8,234,570 หุ้น หรือ 3.05% มูลค่า 21.57 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 2.62 บาท)
  • หุ้น WP ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 7 จำนวน 24,325,570 หุ้น หรือ 4.69% มูลค่า 91.95 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 3.78 บาท)

3.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ลงทุน 2 หุ้น รวมมูลค่า 50,868.73 ล้านบาท

  • หุ้น EGCO ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 133,773,662 หุ้น หรือ 25.41% มีมูลค่า 17,591.23 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 131.50 บาท)  
  • หุ้น RATCH ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 978,750,000 หุ้น หรือ 45.00% มูลค่า 33,277.50 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 34.00 บาท)

4.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เข้ามาลงทุนในหุ้น BEM ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 2 จำนวน 1,256,259,584 หุ้น หรือ 8.22% มีมูลค่า 10,803.83 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 8.60 บาท)

5.ธนาคารออมสิน ลงทุน 4 หุ้น รวมมูลค่า 5,114.03 ล้านบาท 

  • หุ้น KTB ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 8 จำนวน 111,299,422 หุ้น หรือ 0.80% มูลค่า 2,148.07 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 19.30 บาท)  
  • หุ้น MCOT ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 2 จำนวน 78,865,978 หุ้น หรือ 11.48% มูลค่า 260.25 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 3.30 บาท)  
  • หุ้น THAI ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 3 จำนวน 46,409,885 หุ้น หรือ 2.13% (ติดเครื่องหมาย SP NC NP)
  • หุ้น TIPH ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 2 จำนวน 67,642,500 หุ้น หรือ 11.38% มูลค่า 2,705.70 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 40.00 บาท)

6.การประปาส่วนภูมิภาค เข้ามาลงทุนในหุ้น EASTW ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 668,800,000 หุ้น หรือ 40.20% มีมูลค่า 3,129.98 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 4.68 บาท)  

7.ธนาคาร อิสลามแห่งประเทศไทย เข้ามาลงทุนในหุ้น AMANAH ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 500,080,000 หุ้น หรือ 48.27% มีมูลค่า 1,300.20 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 2.60 บาท)  

8.บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลงทุน 2 หุ้น รวมมูลค่า 390.00 ล้านบาท

  • หุ้น BAFS ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 9 จำนวน 13,000,000 หุ้น หรือ 2.04% มูลค่า 390.00 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 30.00 บาท)
  • หุ้น NOK ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 4 จำนวน 495,390,721 หุ้น หรือ 13.28% (ติดเครื่องหมาย SP NC NP)

9.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ลงทุน 2 หุ้น รวมมูลค่า 365.28 ล้านบาท

  • หุ้น EASTW ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 3 จำนวน 76,000,000 หุ้น หรือ 4.57% มูลค่า 355.68 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 4.68 บาท)  
  • หุ้น GENCO ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 7 จำนวน 15,000,000 หุ้น หรือ 1.34% มูลค่า 9.60 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 0.64 บาท)  

10.การเคหะแห่งชาติ เข้ามาลงทุนในหุ้น NNCL ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 10 จำนวน 30,000,000 หุ้น หรือ 1.46% มีมูลค่า 61.80 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 2.06 บาท)