'เฟทโก้' เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือนมิ.ย. ลดลง 21% สู่เกณฑ์ทรงตัว

'เฟทโก้' เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือนมิ.ย. ลดลง 21% สู่เกณฑ์ทรงตัว

'เฟทโก้' เผย “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้า (มิ.ย.) ลดลง 21% อยู่ที่ 95.65 ปรับสู่เกณฑ์ทรงตัว   ชี้ 'การเลือกตั้ง-เฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย'หนุนความเชื่อมั่น ส่วน ปัจจัยฉุด " เงินไหลออก-นโยบายสกัดเงินเฟ้อของเฟด”

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้)เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนมี.ค. 2566 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.65 ปรับตัวลดลง 21.0% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” 

โดยในเดือนที่ผ่านมาดัชนีมีความผันผวนจากวิกฤติธนาคารจากการปิดตัวธนาคารสหรัฐและยุโรป นักลงทุนมองว่าการเลือกตั้งในประเทศจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือ การชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว

สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความกังวลต่อการไหลออกของเงินทุน รองลงมาคือแนวทางนโยบายการเงินของ FED เพื่อสกัดเงินเฟ้อ และสถานการณ์ส่งออกที่ชะลอตัว

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนมีนาคม 2566 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

 

                                            

  • ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มิ.ย. 2566) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (ช่วงค่าดัชนี 80-119) ลดลง 21% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 95.65
  • ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล และกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” กลุ่มนักลงทุนสถาบันอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา”
  • หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)
  • หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK)
  • ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การเลือกตั้งในประเทศ
  • ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ความกังวลต่อการไหลออกของเงินทุน

“ผลสำรวจ ณ เดือนมี.ค. 2566 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า มีเพียงความเชื่อมั่นนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่มขึ้น 21.9% อยู่ที่ระดับ 131.25 ในขณะที่กลุ่มอื่นปรับลดลง โดยนักลงทุนบุคคลปรับลด 7.9% อยู่ที่ระดับ 112.07 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลด  20.0% อยู่ที่ระดับ 100.00 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับลด 38.6% อยู่ที่ระดับ 75.00

 ดัชนีหุ้นไทยในช่วงครึ่งแรกของเดือนมี.ค. 2566 มีความผันผวน โดยเฉพาะในช่วงกลางเดือนหลังเกิดวิกฤติธนาคาร จากข่าวการปิดตัวของธนาคารสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ธนาคาร Silicon Valley (SVB) ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการระดมทุนของสตาร์ตอัปในสหรัฐ และธนาคาร Credit Suisse  (CS) ซึ่งประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก จนทางการสวิตเซอร์แลนด์ด้องเจรจาให้ขายกิจการ CS ให้แก่ธนาคาร UBS ส่งผลให้กลุ่มธนาคารทั่วโลกปรับตัวลดลง

 รวมถึงความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ FED เพื่อสกัดเงินเฟ้อ  อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของเดือนดัชนีหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังแนวโน้มวิกฤติธนาคารเริ่มคลี่คลาย การที่ FED ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายโดยปรับขึ้นเพียง 0.25%  และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไทย 0.25%

อีกทั้งสถานการณ์ทางการเมืองไทยมีความชัดเจนหลังจากที่กกต.ประกาศวันเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นทางการ  ทั้งนี้ SET Index ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2566  ปิดที่ 1,609.17 จุด  ปรับตัวลดลง 0.8% จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในเดือนมี.ค. 2566 กว่า 31,494 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 56,059 ล้านบาท

 ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ ผลกระทบของวิกฤติธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรปหากลุกลาม แนวโน้มทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยและนโยบายการเงินของธนาคารกลางในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป และอังกฤษเพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อ โดยเฉพาะความขัดแย้งในรัสเซีย—ยูเครน ที่ยังไม่คลี่คลาย ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศก่อนการเลือกตั้ง และสถานการณ์การส่งออกที่หดตัวลงจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า