ครั้งแรกรอบ 20 ปี! คลังเล็งออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศ 3.6 หมื่นล้านบาท

ครั้งแรกรอบ 20 ปี! คลังเล็งออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศ 3.6 หมื่นล้านบาท

สื่อนอกรายงาน รัฐบาลไทยกำลังพิจารณาแผนระดมทุน 1 พันล้านดอลลาร์ (3.6 หมื่นล้านบาท) จากตลาดเงินโลก ผ่านการออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศครั้งแรกในรอบสองทศวรรษ

Key Points:

  • สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เตรียมสรุปผลการศึกษาการออกพันธบัตรในตลาดโลกภายในเดือน พ.ค.
  • เพื่อใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงให้กับภาคธุรกิจที่ไปออกหุ้นกู้หรือระดมทุนในต่างประเทศ

 

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวเมื่อวันพุธ (14 ก.พ.) ว่า “กระทรวงการคลังกำลังเตรียมสรุปผลการวิเคราะห์ต้นทุน-ผลประโยชน์ รวมถึงขั้นตอนอื่น ๆ เพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาภายในเดือนพ.ค. นี้ โดยวัตถุประสงค์ในการออกพันธบัตรครั้งนี้ เพื่อเป็นเกณฑ์อ้างอิงให้กับภาคธุรกิจที่ไปออกหุ้นกู้หรือระดมทุนในต่างประเทศ"

รายงานข่าวระบุว่า แต่ละปีทางการไทยซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยมระดมทุนจากต่างประเทศหลายพันล้านดอลลาร์ มาอุดช่องว่างงบประมาณและใช้สำหรับการลงทุนในประเทศเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ ในปี 2565 สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะหั่นการออกพันธบัตรสกุลเงินดอลลาร์ออกครึ่งหนึ่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดพันธบัตรผันผวน

แต่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ผู้รับตำแหน่งเมื่อหกเดือนก่อนพยายามผลักดันแผนดังกล่าว เพื่อระดมเงินผ่านกองทุนทั่วโลก มาใช้ในโครงการด้านความยั่งยืน

“ตัวเลือกที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด น่าจะเป็นพันธบัตรสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย” นายพชรกล่าว

เดือนก่อน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทางการกำลังพิจารณาอย่างรอบคอบเรื่องการขายพันธบัตรสกุลเงินดอลลาร์ เยน หรือหยวน ที่ตั้งใจจะออกในหนึ่งหรือสองปีข้างหน้า ขณะที่ดอกเบี้ยพันธบัตรสกุลเงินดอลลาร์สูงกว่าไทย แต่ดอกเบี้ยหยวนหรือเยนถูกกว่าหรือใกล้เคียงกัน

นายพชรกล่าวด้วยว่า พันธบัตร 10 ปีสหรัฐ ผลตอบแทนอยู่ที่ราว 4.24% เทียบกับพันธบัตรสกุลเงินบาท ผลตอบแทน 2.55% ส่วนพันธบัตรหยวนของรัฐบาลจีนอยู่ที่ 2.3%ต้นทุนรวมในการออกพันธบัตรของไทย ในสกุลเงินอื่น ๆ รวมถึงสกุลเงินเยนจะสูงกว่าต้นทุนการออกเป็นสกุลเงินอื่น ๆ เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ” นายพชร กล่าว

“เป็นความท้าทายอย่างมากเมื่อต้นทุนเงินในท้องถิ่นถูกกว่าและสะดวกกว่า ดังนั้นเราจึงต้องโน้มน้าวผู้คนว่าทำไมเราจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการนี้ เราควรเดินหน้าตามแผนเพื่อสร้างมาตรฐานให้กับประเทศ”

ทั้งนี้ กระบวนขายพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศ น่าจะนำไปใช้ทำโครงการด้านความยั่งยืนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจไทย ปีก่อน นายเศรษฐา ได้พบกับนายลาร์รี ฟิงค์ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ BlackRock เพื่อศึกษาแนวทางในการลงทุนในประเทศไทย รวมถึงเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในพันธบัตร Sustainability Linked Bond ที่จะออกโดยรัฐบาลไทย

ปัจจุบัน ตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศ ที่ออกโดยรัฐบาลไทย มีสัดส่วนเพียง 1.8% ของทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเงินกู้จากหน่วยงานระดับพหุภาคี ขณะที่กรอบวงเงินกู้ยืมของรัฐบาลไทย อยู่ที่ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท (6.64 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปีงบประมาณ 2567