ส่อง 4 โปรเจกต์ ‘ทางด่วน’ เรือธง ‘คมนาคม’ ดันเม็ดเงินลงทุนปีนี้

ส่อง 4 โปรเจกต์ ‘ทางด่วน’ เรือธง ‘คมนาคม’ ดันเม็ดเงินลงทุนปีนี้

การทางพิเศษฯ เปิดแผนลงทุนปีนี้ ดัน 4 โครงการทางด่วนเข้า ครม. ยกเป็นเรือธงกระตุ้นเม็ดเงินลงระบบเศรษฐกิจ ประเมินมูลค่ารวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ปีนี้ กทพ.มีแผนผลักดัน 4 โครงการลงทุนทางด่วนสายใหม่เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติเพื่อเริ่มเปิดประกวดราคางานก่อสร้าง โดยนับเป็น 4 โครงการที่มีความพร้อมในผลการศึกษา และพบว่ามีความคุ้มค่าด้านการลงทุน เชื่อว่าจะเป็นโครงการเรือธงของกระทรวงคมนาคม ที่จะสามารถเปิดประมูลกระตุ้นเศรษฐกิจงานลงทุนภาครัฐได้

สำหรับ 4 โครงการดังกล่าว พบว่ามีมูลค่ารวมประมาณ 127,263 ล้านบาท แบ่งออกเป็น

โครงการทางพิเศษฉลองรัช ส่วนต่อขยายช่วงจตุโชติ – ลำลูกกา

ระยะทาง 16.2 กิโลเมตร

วงเงินลงทุน 1.9 หมื่นล้านบาท

โครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double deck) ช่วงงามวงศ์วาน – พญาไท - พระราม 9

ระยะทาง 17 กิโลเมตร

วงเงินลงทุน 34,028 ล้านบาท

โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ

ระยะที่ 1 (ตอน N2 ถ.ประเสริฐมนูกิจ - ถ.วงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันตก) หรือปัจจุบันปรับชื่อโครงการเป็นโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก

ระยะทาง 11.3 กิโลเมตร

วงเงินลงทุน 16,960 ล้านบาท

โครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต แบ่งเป็น

ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้ - ป่าตอง

ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร

วงเงินลงทุน 14,670 ล้านบาท

ระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่ - เกาะแก้ว – กะทู้

ระยะทาง 30.62 กิโลเมตร

วงเงินลงทุน 42,633 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการทางพิเศษฉลองรัช ส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ - ถนนลำลูกกา จะเป็นโครงการนำร่องเปิดประมูลก่อน โดยสถานะปัจจุบัน กทพ.อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้ เพื่อประกาศขายซองเอกสาร TOR ภายในเดือน เม.ย.2567 หลังจากนั้นจะลงนามสัญญากับเอกชน และเริ่มก่อสร้างได้ปลายปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้าง 36 เดือน หรือ 3 ปีแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการประมาณปี 2570

โดยทางด่วนสายนี้ กทพ.จะใช้เงินลงทุนราว 1.9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนของงานโยธา 1.8 หมื่นล้านบาท โดยเป็นเงินลงทุนจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) 14,374 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกราว 4 พันล้านบาท จะจัดสรรจากเงินกู้ ซึ่งได้หารือร่วมกับกระทรวงการคลังในการจัดหาแล้ว เบื้องต้นพบว่าไม่มีปัญหาติดขัด เนื่องจาก กทพ.มีผลการดำเนินงานเป็นบวกต่อเนื่อง ขณะที่ส่วนของงานติดตั้งระบบทางด่วน คาดว่าจะใช้วงเงินราว 1 พันล้านบาท