ขายของออนไลน์ รีบวางแผนภาษี หลังแพลตฟอร์มถูกสั่งให้ส่งข้อมูลผู้ประกอบการ

ขายของออนไลน์ รีบวางแผนภาษี หลังแพลตฟอร์มถูกสั่งให้ส่งข้อมูลผู้ประกอบการ

ขายของออนไลน์ หลบภาษีไม่ได้อีกต่อไป! ใครค้าขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ต้องวางแผนภาษีด่วน เมื่อกฎหมายใหม่สั่งให้แพลตฟอร์มออนไลน์ส่งข้อมูลผู้ประกอบการให้กรมสรรพากรด้วย

เปิดศักราชใหม่พร้อมกับข่าวอัปเดตเรื่องภาษี โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งเชื่อว่ามีทั้งกลุ่มที่ยื่นภาษีไม่ถูกต้อง หรือหลายๆ กลุ่มก็ไม่ได้ยื่นภาษีเลย เนื่องจากไม่มีความรู้เรื่องภาษีเพียงพอ หรือไม่ทราบว่าตนเองเข้าข่ายต้องยื่นและเสียภาษีด้วย จึงทำให้การขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Shopee, Lazada, Line Man, Grab เป็นต้น มีจำนวนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

แต่เมื่อรายได้จากแพลตฟอร์มต่างๆ ยิ่งมากขึ้น ก็ทำให้การยื่นภาษีผิดพลาดสูง และล่าสุด "กรมสรรพากร" ได้ออกประกาศกำหนดเงื่อนไขให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่เป็นศูนย์กลางการค้าขายและให้บริการที่จดทะเบียนในประเทศไทย และมีรายได้ในรอบบัญชีเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องทำบัญชีพิเศษ พร้อมส่งข้อมูลผู้ประกอบการให้กรมสรรพากรด้วย

​ผลก็คือทำให้โอกาสที่ผู้ประกอบการค้าขายออนไลน์จะถูกตรวจสอบนั้นมีค่อนข้างสูง หากยื่นภาษีไม่ตรงกับข้อมูลที่กรมสรรพากรได้รับ รวมถึงผู้ประกอบการที่ไม่ได้ยื่นภาษีด้วยแล้ว มีสิทธิ์ถูกตรวจสอบสูงมาก

ดังนั้น ถึงเวลาที่ผู้ประกอบการค้าขายออนไลน์จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องภาษีและวางแผนให้ดีก่อนยื่นภาษี ดังนี้

  • กำหนดเงื่อนไข ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ต้องส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรอย่างไร ​​

จากข้อกำหนดที่กรมสรรพากรได้ประกาศ ว่าด้วยเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสือด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยได้กำหนดให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีบัญชีพิเศษ โดยจัดทำและนำส่งข้อมูลบัญชีพิเศษผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร พร้อมกับต้องนำส่งไปให้กรมสรรพากรภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1.ให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย และมีรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลางบัญชีเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องมีบัญชีพิเศษ และถ้าหากอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่มีรอบระยะเวลาบัญชีเกิน 1,000 ล้านบาท ต่อมามีรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชี 1 รอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีพิเศษส่งกรมสรรพากรเช่นเดิม​ 

2.ให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มต้องมีการเชื่อมต่อระบบอิเล็กทรอนิกส์ของตนเองกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร และนำส่งข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร โดยต้องเชื่อมต่อกับระบบอิเล็กทรอกนิกส์ของกรมสรรพากรเสมอ ห้ามยกเลิกการเชื่อมต่อกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรราพากร ยกเว้นอธิบดีอนุญาตเท่านั้น

3.อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มจะมอบหมายให้ผู้ให้บริการจัดทำและนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เป็นผู้จัดทำและนำส่งข้อมูลบัญชีพิเศษแทนก็ได้ โดยอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มต้องแจ้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร

  • รายได้จากการขายของผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ อะไรบ้างถูกส่งให้สรรพากร​

และเนื่องจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ต้องทำบัญชีพิเศษ เพื่อส่งข้อมูลผู้ประกอบการค้าขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์นั้นๆ ให้กับกรมสรรพากร โดยข้อมูลที่ต้องนำส่งกรมสรรพากรมีรายละเอียดดังนี้

​1.เลขประจำตัวประชาชน หรือเลขทะเบียนนิติบุคคลของผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการบนอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม

2.เลขหนังสือเดินทางบุคคลธรรมดาต่างประเทศ หรือเลขทะเบียนนิติบุคคลต่างประเทศ ของผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการบนอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม​

3.คำนำหน้าชื่อผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการบนอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม

4.ชื่อผู้ประกอบการ ชื่อนิติบุคคลของผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการบนอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม

5.ชื่อกลางของผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการบนอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม

6.นามสกุลผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการบนอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม

7.จำนวนเงินที่เป็นฐานในการคำนวณค่านายหน้า (รวมทุกบัญชีของผู้ประกอบการขายสินค้าหรือบริการบนแพลตฟอร์มออนไลน์)

8.จำนวนรายรับค่านายหน้า (รวมทุกบัญชีของผู้ประกอบการขายสินค้าหรือบริการบนแพลตฟอร์มออนไลน์)

9.จำนวนเงินที่เป็นฐานในการคำนวณค่าธรรมเนียมการชำระเงิน (รวมทุกบัญชีของผู้ประกอบการขายสินค้าหรือบริการบนแพลตฟอร์มออนไลน์)

10.จำนวนรายรับค่าธรรมเนียมการชำระเงิน (รวมทุกบัญชีของผู้ประกอบการขายสินค้าหรือบริการบนแพลตฟอร์มออนไลน์)

11.จำนวนรายรับอื่นๆ (รวมทุกบัญชีของผู้ประกอบการขายสินค้าหรือบริการบนแพลตฟอร์มออนไลน์)

12.รายละเอียดข้อมูลที่แสดงสถานะข้อมูลของแถวนั้น

13.เลขที่บัญชีธนาคารของผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการบนอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม

14.ชื่อบัญชีของผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการบนอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม

15.รหัสธนาคารหรือสถาบันการเงินของบัญชีของผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการบนอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม

  • วางแผนภาษี! เมื่อผู้ประกอบการขายสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ถูกส่งข้อมูลให้สรรพากร

เมื่อทราบแล้วว่าข้อมูลใดบ้างของผู้ประกอบการค้าขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ จะถูกส่งให้กรมสรรพากร นั่นหมายความว่า กรมสรรพากรรู้ข้อมูลของผู้ประกอบการทั้งหมด หากไม่ยื่นภาษีหรือยื่นไม่ถูกต้อง ไม่ตรงกับข้อมูลที่กรมสรรพากรมี โอกาสถูกเรียกตรวจสอบมีอย่างแน่นอน

ดังนั้น ผู้ประกอบการค้าขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต้องศึกษาเรื่องภาษีให้ถี่ถ้วน และวางแผนให้ดี จะช่วยให้ยื่นภาษีได้ถูกต้อง และอาจช่วยประหยัดภาษีได้อีกด้วยดังนี้

1.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ก่อนอื่นผู้ประกอบการต้องประเมินเบื้องต้นก่อนว่ารายได้ที่ได้รับสำหรับผู้ประกอบการค้าขายออนไลน์ในนามบุคคลธรรมดาตลอดทั้งปี หากเกิน 60,000 บาท ต้องยื่นภาษี และถ้ามีเงินได้สุทธิ 150,000 บาทขึ้นไป จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจัดอยู่เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 หรือมาตรา 40 (8) โดยจะต้องยื่นภาษี 2 ช่วงคือ

- ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ให้นำรายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน ของปีภาษีนั้น มายื่นภาษีช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน ของปีที่มีเงินได้ หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตได้ภายในวันที่ 8 ตุลาคมของทุกปี

- ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) ให้นำรายได้ช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม ของปีภาษี ยื่นภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม ของปีภาษีถัดไป หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตภายในวันที่ 8 เมษายนของปีถัดไป

หลังจากทราบรายได้ตลอดทั้งปีแล้ว ให้นำรายได้หักลบด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน แล้วนำมาคูณด้วยอัตราภาษีก้าวหน้า เพื่อให้ได้เป็นภาษีที่ต้องเสีย

2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

เมื่อผู้ประกอบการขายสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ต้องดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ผู้มีรายได้จากการประกอบธุรกิจเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกๆ เดือน นับตั้งแต่วันที่ยื่นจดทะเบียนเป็นต้นไป แม้ว่าเดือนนั้นจะไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องส่งก็ตาม

สรุป

เมื่อมาถึงตรงนี้ บรรดาผู้ประกอบการขายสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ อย่าเพิ่งกังวลไปว่าตนเองจะถูกกรมสรรพากรเรียกตรวจสอบภาษี เพราะมีข้อมูลรายได้ของตนเอง ซึ่งความจริงแล้วกรมสรรพากรจะต้องประมวลผลร่วมกับข้อมูลหลายๆ ช่องทาง หากผู้ประกอบการยื่นภาษีเป็นประจำทุกปี ทำทุกอย่างถูกต้อง ก็ไม่ต้องกลัวจะมีปัญหาตามมา  

 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting