ขายของออนไลน์ต้องรู้! 5 แนวทางรับมือ ภาษีขายของออนไลน์

ขายของออนไลน์ต้องรู้! 5 แนวทางรับมือ ภาษีขายของออนไลน์

เปิด​ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับภาษีออนไลน์ ที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์จำเป็นต้องรู้ เพื่อวางแผนรับมือกับภาษีจากการขายของออนไลน์ ให้ถูกต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

หน้าที่สำคัญของผู้ประกอบอาชีพค้าขายออนไลน์ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นคือ ภาษีที่เกิดจากรายได้ทางออนไลน์ เพราะถ้าหากมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ผู้มีรายได้ ร้านค้า หรือบริษัทต่างๆ จะต้องยื่นแบบฯ ภาษี และเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายนั่นเอง

​ดังนั้น วันนี้เรามาวางแผนรับมือกับภาษีจากการขายของออนไลน์ เพื่อให้การขายของออนไลน์ของคุณถูกต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดกันค่ะ    

ศึกษาข้อมูลภาษีออนไลน์ให้ครบถ้วน

​ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับภาษีออนไลน์ ถือว่ามีความจำเป็นต่อพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เป็นอย่างมาก ซึ่งสิ่งที่ควรรู้เบื้องต้นประกอบไปด้วย

1.จ่ายภาษีแบบบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล เมื่อมีการค้าขายสินค้าออนไลน์เกิดขึ้น ภาษีจะมีการแบ่งการคำนวณเป็นสองประเภทตามรูปแบบธุรกิจ คือ

1.1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีวิธีการคำนวณ 2 แบบ คือ

- (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย วิธีนี้สำหรับรายได้ที่ไม่ถึง 1 ล้านบาทต่อปี

- รายได้ x 0.5% วิธีนี้จะใช้สำหรับรายได้ที่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี 

แล้วนำทั้ง 2 แบบมาเปรียบเทียบ แบบไหนได้ตัวเลขมากกว่าให้ใช้แบบนั้นยื่นภาษี

1.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีที่ร้านค้ามีการจดทะเบียนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล วิธีการคำนวณภาษีคือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ แล้วนำกำไรสุทธิที่ได้มาคิดภาษีตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้มีรายได้ ไม่ว่าจะในรูปแบบร้านค้า หรือบริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยผู้ประการต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายในไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท 

และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกๆ เดือน นับตั้งแต่วันที่ยื่นจดทะเบียนเป็นต้นไป

3. ภาษี E-PAYMENT เป็นการส่งข้อมูลยอดเงินของเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารที่เปิดทั้งในรูปแบบบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ให้แก่สรรพากร โดยมีเงื่อนไขในการส่งข้อมูลให้สรรพากรคือ 

​- มีเงินเข้าบัญชี 3,000 ครั้งต่อปี ไม่ดูจำนวนเงิน

​- มีเงินเข้าบัญชี 400 ครั้งต่อปี และ จำนวนเงิน (นับเฉพาะฝั่งเงินรับฝากเข้า) รวมเกิน 2 ล้านบาท

ดังนั้น ธนาคารจำเป็นต้องส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร ถ้าหากบัญชีของเรามีเงินเข้าบัญชีตามเงื่อนไขดังที่กล่าวไปแล้วข้อใดข้อหนึ่ง ในทางกฎหมาย ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องเตรียมรับมือกับข้อมูลรายได้ที่อาจถูกธนาคารส่งให้กับสรรพากรด้วย  

4. การยื่นภาษี เมื่อถึงกำหนดยื่นภาษี ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา ร้านค้า หรือบริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างๆ ที่ค้าขายออนไลน์ จะต้องยื่นภาษี ซึ่งกำหนดยื่นภาษีแตกต่างกันดังนี้

​4.1 ภาษีบุคคลธรรมดา รายได้จากการขายของออนไลน์นี้จะถูกจัดอยู่ในเงินได้ประเภทที่ 8 (40(8)) คือเงินจากการค้าขาย โดยจะต้องยื่นภาษี 2 ช่วงด้วยกันคือ

​- ยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายนเป็นการยื่นภาษีกลางปีเพื่อสรุปรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีภาษีแรกที่ผ่านมา โดยค่าลดหย่อนบางรายการจะถูกหักเหลือครึ่งหนึ่งด้วย เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว

- ยื่นภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) ช่วงเดือนมกราคม – มีนาคมของปีถัดไป เป็นการสรุปรายได้ทั้งหมดตลอดทั้งปีที่ผ่านมา

4.2 ภาษีนิติบุคคล เป็นภาษีจากกำไรสุทธิที่บริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องจ่ายหากเข้าเกณฑ์กำหนด โดยจะต้องยื่นภาษี 2 ช่วง คือ

- ยื่นรอบครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) โดยต้องยื่นและชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี

- ยื่นรอบสิ้นปี (ภ.ง.ด.50) โดยต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

อย่าลืม! จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นการจดทะเบียนสำหรับบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลที่ทำธุรกิจออนไลน์และมีเงื่อนไขเข้าตามที่กฎหมายกำหนด

กลุ่มกิจการที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

• การซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการผ่านอินเทอร์เน็ตหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ (ร้านค้าออนไลน์)

• การให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP)

• ธุรกิจให้บริการ Web Hosting

• ธุรกิจแหล่งตัวกลางขายสินค้าและบริการ (E-Marketplace)  

แยกบัญชีธุรกิจออกจากบัญชีส่วนตัว

​โดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นการค้าขายประเภทไหน ต้องมีการทำบัญชีแทบทั้งสิ้น ซึ่งตามหลักการแล้วเมื่อมีรายได้จากการขายของออนไลน์เกิดขึ้น ควรแยกบัญชีธุรกิจออกจากบัญชีส่วนตัว เพื่อให้ง่าย สะดวก และรวดเร็วต่อการยื่นภาษี 

​สำหรับบุคคลธรรมดา รายรับรายจ่ายส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจ ควรแยกบัญชีออกมาต่างหาก 

ส่วนนิติบุคคล นอกจากจะแยกบัญชีส่วนตัวออกจากบัญชีธุรกิจแล้ว เจ้าของกิจการต้องไปเปิดบัญชีธนาคารในชื่อบริษัท เพื่อใช้เป็นบัญชีหลักในการนำเงินที่เกิดจากการขายของออนไลน์ฝากเข้า-ถอนออก 

ไม่ควรใช้บัญชีส่วนตัวเนื่องจากจะไม่เห็นผลประกอบการที่แท้จริงหรือสรรพากรตรวจเอกสารจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือได้

ซื้อมาขายไป...ขอใบกำกับภาษีทุกครั้ง

​ในการค้าขายออนไลน์ เมื่อมีการซื้อมาขายไป ต้องขอใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีทุกครั้ง และเก็บเอกสารให้ครบถ้วนเพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นสรรพากร หรือเมื่อถูกสรรพากรเรียกตรวจสอบ ก็สามารถแสดงหลักฐานต่างๆ ได้ครบตามที่ยื่นภาษีไป

ดังนั้น พ่อค้าแม่ค้า ร้านค้าต่างๆ จะต้องรวบรวมเอกสารทั้งรายรับและรายจ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้ครบ เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษีใบรับรองหัก ณ ที่จ่าย เก็บไว้เป็นการป้องกันตัวเองจากการถูกตรวจสอบย้อนหลัง

ทำบัญชีรายรับรายจ่ายไว้ตลอด

​นอกจากธุรกิจค้าขายออนไลน์จะต้องเก็บเอกสารต่างๆ ให้ครบถ้วนแล้ว ยังต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างสม่ำเสมอดังนี้

1.บุคคลธรรมดา ควรทำบัญชีรายรับรายจ่ายไว้โดยตลอด เพื่อให้ทราบรายละเอียดในแต่ละธุรกรรมที่เกิดขึ้น สามารถทำบันทึกรายรับรายจ่ายและยื่นภาษีบุคคลธรรมดาด้วยตนเองได้อย่างถูกต้องครบถ้วน

2.นิติบุคคล ตามข้อกำหนดกฎหมาย สำหรับนิติบุคคลจะต้องมีการทำบัญชีและสรุปภาษี เพื่อบันทึกรายการค้าขายต่างๆ ที่เกิดขึ้นของกิจการ จำแนกและสรุปผลเพื่อให้ได้ข้อมูลทางการบัญชีรวมถึงจัดทำงบการเงินประจำปี เพื่อนำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและสรรพากรด้วย

สรุป

​แม้ยากจะปฏิเสธได้ว่า การขายของออนไลน์เป็นอาชีพที่ฮิตมากในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เข้าสู่วงการนี้ต้องเตรียมตัววางแผนเพื่อรับมือกับภาษีจากรายได้จากช่องทางออนไลน์ ที่จะต้องเกิดขึ้นเมื่อรายได้ถึงเกณฑ์ เพื่อป้องกันภาระภาษีทั้งค่าปรับ และเงินเพิ่มกรณียื่นภาษีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง รวมถึงสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพขายของออนไลน์ของคุณในระยะยาวด้วย

-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่